10 ข้อดีของการลงทุนและการวางแผนทางการเงิน

หลายๆ คนที่ลงทุนอาจจะคิดว่าการลงทุนมีข้อดีหลักๆ คือเพิ่มโอกาสให้เงินงอกเงย แต่จริงๆ แล้วการลงทุนมีข้อดีแอบแฝงมากกว่านั้น ลองมาดูกันเลยว่า 10 อย่างที่คุณจะได้จากการลงทุนและวางแผนการเงินมีอะไรบ้าง

1. ทำให้รู้จักวางแผนการใช้จ่ายและอดออม

พื้นฐานของการลงทุนคือการออมและการการบริหารรายรับรายจ่าย คนที่รู้จักออมและรู้จักการลงทุนด้วยน่าจะก้าวไปสู่อิสระภาพทางการเงิน (Financial Freedom) ได้ไม่ยาก

2. ทำให้รู้จักวางแผนและบริหารความเสี่ยง

เมื่อเริ่มออมและคิดจะลงทุนทำให้เรารู้จักวางแผนเป็นองค์รวม ทั้งการใช้ การออม การแบ่งเงินเพื่อเป้าหมายต่างๆ การป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การลงทุน รู้จักจัดสรรเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างถูกต้อง นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยเตรียมความพร้อมในแต่ละช่วงชีวิต ทั้งช่วงเริ่มทำงาน สร้างครอบครัว และการเกษียณ

แม้ว่าเงินจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดแต่เงินก็เป็นปัจจัยสำคัญในโลกทุกวันนี้ การที่เรารู้จักวางแผนและบริหารเงินน่าจะช่วยทำให้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตน้อยลง และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นไม่มากก็น้อย

3. ทำให้ได้รู้จักธุรกิจต่างๆ และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

การศึกษาการลงทุนทำให้เราต้องทำความรู้จักผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะหุ้น ตราสารหนี้ กองทุน อนุพันธ์ และประกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละตัวนั้นเหมาะสมกับแต่ละเป้าหมายในการลงทุน การที่เรารู้จักจะทำให้เลือกใช้ได้เหมาะสม เราจะเข้าใจธรรมชาติและข้อจำกัดของแต่ละผลิตภัณฑ์ ส่วนการลงทุนในหุ้นรายตัวแนวปัจจัยพื้นฐานทำให้เราศึกษาธุรกิจของบริษัทต่างๆ ได้ศึกษาเรื่องกลยุทธ์ โมเดลธุรกิจ ภาวะอุตสาหกรรม รู้จักผู้บริหาร ลักษณะของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เรามีความรู้ที่กว้างขึ้น

4. ทำให้ได้เพื่อนกลุ่มใหม่ที่เป็นนักลงทุนเหมือนกัน

ทั้งจากการเข้าร่วม Opportunity Day การประชุมผู้ถือหุ้น การเยี่ยมชมกิจการ (Company Visit) การเข้าร่วมอบรมสัมนา หรือแม้แต่การรู้จักกันผ่านโลกออนไลน์ เช่น Website หรือ Social Media ที่เป็นแหล่งรวมรวมนักลงทุนแนวเดียวกับเรา ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน ซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าการศึกษาแค่คนเดียว

5. ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งที่คนอื่นไม่ค่อยรู้

คนทั่วไปอาจจะรู้จักสินค้าที่เป็นที่นิยม แต่ถ้าเราเป็นนักลงทุนเราอาจจะรู้ด้วยว่าสินค้านั้นเป็นของบริษัทอะไร และบริษัทนั้นยังทำธุรกิจอะไรอีก รายได้หลักของบริษัทมาจากไหนและส่งผ่านไปที่กำไรเท่าไหร่ หรือว่าถ้าหุ้นขึ้นหรือหุ้นลง คนทั่วไปอาจจะบอกไม่ได้ว่าเพราะอะไร แต่สำหรับนักลงทุนอาจจะมองภาพออกว่าอาจเกิดจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มขายหุ้นออก จากการที่อเมริกาและยุโรปเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินและขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินไหลกลับไปประเทศเหล่านี้ เป็นต้น การศึกษาทั้งธุรกิจ เศรษฐกิจและตลาดการเงินทำให้เรามองเห็นภาพที่คนอื่นที่ไม่ได้ศึกษาอาจจะไม่รู้

6. ฝึกทักษะในการคิดวิเคราะห์

เพราะนักลงทุนต้องทำการศึกษาข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลแต่ละส่วนเข้าด้วยกันเพื่อวิเคราะห์ว่าจากปัจจัยที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อบริษัทที่เราลงทุนอยู่ เช่น หากเห็นว่าบริษัทเริ่มมีกำไรขั้นต้นลดลงต่อเนื่องอาจจะแปลว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรมหรือเปล่า หรือว่ามีสินค้าใหม่มาทดแทนทำให้บริษัทขายของได้ยากขึ้นจึงต้องลดราคาเพื่อเพิ่มยอดขาย หรือถ้าเรารู้จักหุ้น 6 ประเภทของ ปีเตอร์ ลินซ์ ก็อาจจะทำให้เรารู้วิธีการลงทุนในหุ้นเติบโตที่โดยธรรมชาติถ้าการเติบโตชะลอตัวจะทำให้ราคาลดลงอย่างมาก และจะเริ่มมีคำถามว่าข่าวลือต่างๆ ของบริษัทที่ออกมานั้นเป็นเรื่องจริงไหม ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ก็อาจจะหลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นยอดนิยมเหล่านี้เมื่อราคาเริ่มแพงในระดับ PE สูงลิบ และหาหุ้นอื่นๆ ลงทุนแทน หรือถ้าจะลงทุนจริงๆ อาจจะเลือกลงทุนตอนที่ราคายังไม่แพง คือช่วงก่อนที่คนอื่นจะรู้ว่าหุ้นตัวนี้มีศักยภาพจะเป็นหุ้นเติบโต แล้วค่อยมาขายในตอนที่เราประเมินว่าราคาเริ่มเกินพื้นฐานไปมากแล้ว หรือในช่วงที่เริ่มมีการเก็งกำไรมากเกินไป

สำหรับเรื่องเศรษฐกิจอาจจะทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์หรือ correlation ระหว่างทรัพย์สิน เช่น ธรรมชาติของทองคำที่แปรผกผันกับเงินดอลล่าร์ เป็นต้น ก็ช่วยให้เราจัดพอร์ตการลงทุนได้ดีขึ้น

7. ทำให้เข้าใจกลไกทางเศรษฐกิจและการเงิน

การศึกษาการลงทุนจะทำให้คุณสนใจเรื่องเศรษฐกิจและการเงินไปโดยอัตโนมัติ โดยอาจจะเริ่มสนใจจากภาวะตลาด ข่าวบริษัท ราคาหุ้น งบการเงิน กลยุทธ์ของบริษัท รูปแบบการทำธุรกิจ ลักษณะและการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สนใจ จนไปถึงภาวะเศรษฐกิจและเรื่องอื่นๆ เช่น ประวัติศาสตร์ หรือความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งการเข้าใจสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาสู่การลงทุนที่ดีขึ้น

8. ทำให้มองภาพใหญ่กว่าที่เคยและรู้จักการมองภาพและวางแผนระยะยาว

การลงทุนเหมือนการวิ่งมารธอนที่ต้องการความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มากกว่าการเร่งเข้าสู่เส้นชัยเหมือนการวิ่งระยะสั้น ดังนั้นนักลงทุนจะมองภาพระยะยาวเป็น 5-10 ปีมากกว่าจะสนใจแค่ราคาที่เปลี่ยนแปลงวันต่อวัน และวิเคราะห์ปัจจัยที่มากระทบว่าส่งผลกับบริษัทในลักษณะเป็นผลกระทบชั่วคราวที่จะผ่านไป หรือว่ากระทบกับพื้นฐานในระยะยาว การมองภาพใหญ่ทำให้นักลงทุนมุ่งความสนใจศึกษาในตัวธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของผลประกอบการมากกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นด้วย

9. ทำให้มองแนวโน้มในอนาคตออกก่อนคนอื่น

และสามารถเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นมาในอดีต เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การศึกษาเมกะเทรนด์ของการลงทุนทำให้นักลงทุนมุ่งศึกษาสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ว่ามีสิ่งไหนกำลังจะเปลี่ยนแปลงในลักษณะไหนและส่งผลกระทบกับหุ้นที่เราลงทุนอย่างไร หรือแม้แต่ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร หรือการศึกษาภาวะเศรษฐกิจและประวัติของการเปลี่ยนแปลงสำคัญในอดีตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลอย่างไร หากเหตุการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นเราก็พอจะเข้าใจได้ว่าจะส่งผลกระทบกับเราอย่างไร และเราควรปรับตัวในลักษณะไหน เช่น Invert Yield Curve เป็นสัญญาณที่เกิดก่อนวิกฤติหลายๆ ครั้ง ตอนนี้เราเห็นว่ามี Invert Yield Curve เกิดขึ้นเช่นกัน ก็อาจจะใช้เป็นปัจจัยหนึ่งสำหรับการพิจารณาลดพอร์ต เป็นต้น

10. ทำให้มีอิสระภาพทางการเงิน

สุดท้าย การศึกษาการลงทุนจะนำไปสู่การลงทุนจริง และท้ายที่สุดนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าอิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom) ซึ่งทำให้เรามีอิสระในการใช้ชีวิตตามอย่างที่เราต้องการมากขึ้น การมีอิสรภาพทางการเงินอาจจะไม่ได้หมายถึงการที่เราต้องเป็นเศรษฐีมีเงินมากมาย แต่หมายความว่าเรามีรายได้จากสินทรัพย์ (หรือจากสิ่งอื่นๆ เช่น ค่าลิขสิทธ์ในสินทรัพย์ทางปัญญา เป็นต้น) ที่เรียกว่า Passive Income มากกว่าค่าใช้จ่ายประจำของเรา ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนที่ลงทุนอย่างถูกต้องสามารถมาถึงจุดนี้ได้กันทุกคนไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว

** คำอธิบายในบทความเป็นการยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพรวมเท่านั้น ไม่ใช่การแนะนำการซื้อหรือขายแต่อย่างใด

10 ข้อดีของการลงทุนและการวางแผนทางการเงิน