Premium-Content-----

Q: บริษัท THRE คือใคร? ทำธุรกิจอะไร?

A: บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ทำธุรกิจประกันภัยต่อด้านการประกันวินาศภัยทุกประเภท และได้ก่อตั้งบริษัท ไทยรีประกันชีวิต (THREL) เป็นบริษัทลูกเพื่อทำธุรกิจประกันภัยต่อด้านการประกันชีวิตขึ้นมา แต่ปัจจุบันได้ทำการขายหุ้นออกมาจนเหลือเป็นแค่บริษัทร่วม

Q: ธุรกิจรับประกันภัยต่อ ต่างจากธุรกิจประกันภัยยังไง

A: ลักษณะการทำธุรกิจเหมือนกับธุรกิจประกัน แต่ลูกค้าของธุรกิจประกัยภัยต่อจะเป็นพวกบริษัทประกันต่างๆแทน อย่างในรูปที่ 1

อธิบายจากในรูปนะครับ เมื่อลูกค้าตกลงทำสัญญาพร้อมกับจ่ายค่าเบี้ยให้กับบริษัทประกันภัย บริษัทประกันภัยก็ทำการออกกรมธรรม์ให้กับลูกค้าและต้องรับผิดชอบตามความเสี่ยงที่ได้ระบุไว้ในสัญญา ในกรณีที่เงินกองทุนของบริษัทประกันภัยมีไม่สูงพอหรือทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดูแล้วมีความเสี่ยงสูง บริษัทประกันภัยสามารถขายเบี้ยประกันส่วนหนึ่งพร้อมกับโอนความเสี่ยงส่วนเกินให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อได้ ข้อดีคือเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องจ่ายค่าสินไหมเกิดที่ตกลงกัน (x%) บริษัทรับประกันภัยต่อจะเป็นผู้รับผิดชอบค่า

THRE

รูปที่ 1 : ลักษณะการทำธุรกิจของ THRE

สินไหมส่วนเกินนี้เองแลกกับเบี้ยประกันรับที่แบ่งจ่ายไป
กลับกันหากกรณีค่าสินไหมที่เกิดขึ้นจริงนั้นมีไม่เกินที่ตกลงกันไว้ บริษัทรับประกันภัยต่อก็ไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมใดๆเพิ่มเติม

Q: แล้วที่ผ่านมาทำไมถึงมีผลประกอบการณ์ขาดทุนจนเกือบล้มละลาย

A: เนื่องจาก THRE ทำสัญญา Market Agreement กับบริษัทประกันภัยต่างๆ ให้ส่งเบี้ยให้ตามเงี่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ ที่ผ่านมาบริษัทเล็งเห็นความเสี่ยงแล้วว่าเบี้ยส่วนใหญ่เป็นแบบประกันภัยทรัพย์สิน (ประกันภัยไฟไหม้, น้ำท่วม) และมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดียวกันจำนวนมาก บริษัทพยายามลดความเสี่ยงพอร์ตประกันส่วนนี้ลงมาเรื่อยๆ แต่มาเจอเหตุการณ์ภัยน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพช่วงปลายปี2010 เสียก่อน

THRE02

รูปที่ 2 : ผลประกอบการของ THRE ตั้งแต่ปี 2010-2015

Q: แล้วหลังจากเจอภัยน้ำท่วม THRE ดำเนินการแก้ไขจนผ่านมาได้อย่างไร

A: หลังจากเผชิญปัญหาการขาดทุนจากค่าสินไหมภัยน้ำท่วมมาตลอด 4-5 ปี บริษัทต้องทำการเพิ่มทุนหลายครั้ง ในช่วงนั้นกลุ่มผู้บริหารชุดเดิมได้ติดต่อให้กลุ่ม Fairfax มาช่วยเพิ่มทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยถือหุ้นในนาม HWIC Asia Fund (กลุ่ม Fairfax Financial Holdings Limited บริษัทประกันภัยที่มีขนาดใหญ่อันดับ 1 ของแคนาดา) รวมไปถึงต้องทำการขายหุ้นของ THREL ที่ทำธุรกิจกิจรับประกันชีวิตต่อ ซึ่งเป็นบริษัทลูกออกไปด้วยบางส่วน ที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มปรับสัดส่วนพอร์ตประกันใหม่โดยลดน้ำหนักในส่วนประกันภัยทรัพย์สินและสัญญาแบบ Market Agreement ลดลง แล้วเน้นเพิ่มในส่วนประกันภัยรูปแบบใหม่ที่อยู่ในกลุ่มประกันภัยด้านสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคลมากขึ้นแทน (แสดงอยู่ในส่วนประกันภัยเบ็ดเตล็ด) รวมไปถึงการซื้อประกันภัยต่อแบบ Excess of Loss Protection เพื่อควบคุมและจำกัดจำนวนค่าเสียหายส่วนที่ THRE ต้องรับผิดชอบสูงสุดไว้ด้วย

THRE03
รูปที่ 3 : สัดส่วนพอร์ตประกันของ THRE ที่แสดงในงบปี 2558

และในปี2016 ที่บริษัทฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ มีอัตราส่วน CAR Ratio มากกว่า 290%, Fitch ปรับ Rating มาอยู่ที่ A- ทำให้สามารถรับงานจากบริษัทประกันภัยต่างชาติได้ตามเดิม และในปี2016 นี้ได้มีการแต่งตั้งคุณโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ เข้ามารับตำแหน่ง CEO คนใหม่ (เป็นผู้ก่อตั้งและบริหารบริษัท ฟอลคอนประกันภัย ที่เป็นบริษัทในเครือของ Fairfax Group มาก่อน)

Q: ลักษณะประกันรูปแบบใหม่แตกต่างจากรูปแบบเก่าอย่างไร

A: จากลักษณะรูปแบบของสัญญา Market Agreement ที่บริษัทรับมานั้นทำให้บริษัทไม่สามารถเลือกพิจารณารับงานได้ (บริษัทประกันแต่ละเจ้าที่ทำสัญญาไว้ส่งมาก็ต้องรับไว้หมด) ซึ่งมีลักษณะความเสี่ยงที่กระจุกมากเกินไป ส่วนสัญญาแบบใหม่ที่บริษัทเริ่มทำนั้นเป็นประเภทร่วมพัฒนา (Non-conventional class) ที่มีลักษณะเชิงรุกมากขึ้นโดยบริษัทจะทำการพัฒนาสินค้าใหม่ๆขึ้นมาแล้วนำเสนอให้กับบริษัทประกันภัยแต่ละรายนำไปขายแล้วแบ่งผลตอบแทนร่วมกัน โดยเน้นขยายไปยังกลุ่มประกันภัยรายย่อย (Personal Lines) ซึ่งมีลักษณะวงเงินต่อรายไม่สูงและมีการกระจายตัวของความเสี่ยงที่มากกว่าแบบแรก

THRE04

รูปที่ 4 : มูลค่าเบี้ยประกันต่อรับสุทธิของ THRE แยกตามประเภท

Q: เป้าหมายและก้าวต่อไปในอนาคตของ THRE จะเป็นอย่างไร

A: จากงานประชุม AGM ที่ผ่านมา คุณโอฬาร ผู้บริหารคนใหม่ได้ตั้งเป้าเพิ่มเบี้ยรับภายใน 3 ปีนี้ได้โตเฉลี่ยปีละ 15%, บริหารควบคุมอัตราค่าสินไหมจ่ายและค่าใช้จ่ายรวมให้อยู่ที่ 90-95% (ง่ายๆเก็บเบี้ยมา 100 บาท หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วเหลือ 5-10 บาท) รวมไปถึงพัฒนาช่องทางการขายและสินค้าใหม่ๆเพิ่มขึ้น, เพิ่มสัดส่วนเบี้ยประกันภัยมาจากต่างประเทศเป็น 5-10% ของเบี้ยรับรวม

Q: โอเค เริ่มเข้าใจธุรกิจบ้างละ แล้วตัวเลขการเงินเป็นยังไงและสำหรับนักลงทุนควรดูตัวเลขอะไรเป็นพิเศษบ้าง

A: หลักๆเลยก็ต้องคอยดูคอยตรวจสอบดูว่า เป้าหมายที่ CEO ได้ว่าแผนไว้จะทำได้จริงมากน้อยขนาดไหน ตรวจสอบดูประสิทธิภาพในการทำกำไรของบริษัทและสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของบริษัทเป็นอย่างไร โดยปกติธุรกิจประกันภัยและประกันภัยต่อ จะมีรายได้ 2 ทางหลักๆคือ ธุรกิจประกันดูว่าอัตรากำไรจะเริ่มดีขึ้นไหม กับรายได้จากการนำสินทรัพย์ไปลงทุนว่าทำได้ดีขนาดไหน (THRE มีรายได้หลักอีกทางในส่วนธุรกิจให้บริการผ่านทางบริษัทลูก แต่ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก) จากในรายงานประจำปีบริษัทได้มีทำสรุปตัวเลขของบริษัทไว้คร่าวๆดังนี้

THRE05

รูปที่ 5 : ผลประกอบการและอัตราส่วนทางการเงินของ THRE 10 ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากในปี2015 บริษัทมีรายการกำไรพิเศษจากการขายหุ้นและการบันทึกมูลค่าหุ้น THREL ทำให้ตัวเลขกำไรสูงขึ้นมา (รายได้จากการลงทุนหากตัดรายการพิเศษออกไป จะเหลือกำไรจากการลงทุนจริงประมาณ 260 ลบ.)

ส่วนประสิทธิภาพในการทำกำไรของธุรกิจประกัน เนื่องจากในปี 2015 ไม่มีเหตุการณ์ภัยรุนแรงอะไรมากนัก ทำให้อัตรากำไรจากธุรกิจเดิมออกมาค่อนข้างดีมาก เทียบกับสินค้าใหม่ของบริษัทที่เป็นประเภทร่วมกันพัฒนาที่ผลตอบแทนยังไม่ดีนัก ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มสัญญาประกันภัยอุบัตเหตุสำหรับบุคลากรครูที่มีค่าสินไหมสูงกว่าที่คาดไว้ ปัจจุบันได้ทำการลดสัดส่วนกลุ่มนี้ลงแล้ว และเนื่องจากเป็นสินค้าใหม่ที่เริ่มทำตลาดและยังมีขนาดที่ใหญ่ไม่มากพอ ผู้บริหารเชื่อว่าพอขยายฐานเบี้ยให้มากถึงระดับหนึ่งความผันผวนจะลดลงและผลตอบแทนจะอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้

ส่วนด้านผลตอบแทนการลงทุน เนื่องจากธุรกิจประกันภัยในไทย คปภ. มีกฏเกณฑ์ควบคุมสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทไว้ ทำให้บริษัทไม่มีทางเลือกมากนักในสภาวะที่อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลต่ำมากๆอย่างในปัจจุบัน ในปี2016 ผู้บริหารจึงตั้งเป้าผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 3-4% และได้มีการโยกไปลงทุนในส่วน Property fund มากขึ้น (ปี2015 ถ้าคิดรายได้จากการลงทุนปกติที่ประมาณ 260 ลบ. เทียบกับจำนวนสินทรัพย์ที่ใช้ลงทุน ผลตอบแทนอยู่ราวๆ 3%)

THRE06 THRE07

รูปที่ 6-8 : สัดส่วนรายได้ และสินทรัพย์ที่ THRE ใช้ลงทุน ตั้งแต่ปี 2012-2015

หลังจากที่ประสบปัญหาไป 3-4 ปีที่ผ่านมา บริษัทก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นใหม่ได้ในปีนี้ ก้าวต่อไปของบริษัทจะเป็นอย่างไร จะเป็นไปได้ตามที่ CEO คนใหม่วาดฝันได้หรือไม่นั้น ต้องให้เวลาเป็นเรื่องพิสูจน์ฝีมือแล้วครับ

สุดท้ายขอฝากด้วยประโยคเดิมๆที่คุ้นหูกันคือ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”

ขอให้โชคดีและมีความสุขในการลงทุนครับ

Saran