โอกาสการลงทุนรับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นกับ KT-FINANCE

เมื่อพูดถึงธีมการลงทุนที่น่าสนใจในช่วงปัจจุบันไปจนถึงอนาคตอันใกล้ข้างหน้านี้ หลายคนคงจะนึกถึงธีมการลงทุนที่ได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นนับจากนี้ไป โดยหากเราดูภาพรวมของแนวโน้มของนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกแล้วจะเริ่มเห็นความชัดเจนจากธีมนี้

ธนาคารกลางสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนำธนาคารกลางทั่วโลก

หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 เป็นต้นมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed มีการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายผ่านการทำนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE มาโดยตลอด โดยการพิมพ์เงินเพื่ออัดฉีดเป็นสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจและการเงินผ่านการเข้าซื้อตราสารหนี้ในระบบ ประกอบกับ Fed มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาในระดับต่ำถึง 0% มาถึงวันนี้เองปี 2017 แล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวได้ชัดเจน อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบกว่า 16 ปี ในขณะที่เงินเฟ้อเริ่มแตะระดับ 2% Fed จึงเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว โดยการเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับราว 1-1.25% และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นต่อเนื่องในปีถัดๆไป ประกอบกับเริ่มมีการใช้นโยบายการลดขนาดงบดุลลงเพื่อดึงสภาพคล่องที่ล้นระบบการเงินให้กลับเข้าสู่ภาวะสมดุล

หุ้นกลุ่มการเงินได้รับประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

สำหรับหนึ่งในกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์ชัดเจนที่สุดจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นคงเป็นกลุ่มไหนไปไม่ได้นอกจากกลุ่มบริการทางการเงิน โดยหุ้นกลุ่มการเงินนั้นประกอบไปด้วยหลายธุรกิจ เช่น ธนาคาร บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งหากเรามาลองดูที่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นเนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของธนาคารมาจากดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้ลูกค้า ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะกลาง-ยาว มักจะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้พออัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางซึ่งมักใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกลางมีการปรับตัวขึ้น เหล่าธนาคารพาณิชย์ต่างๆก็เริ่มทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นตาม ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อาจจะปรับขึ้นตามได้ช้ากว่า หรือปรับขึ้นน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้กำไรจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ย หรือ Net Interest Margin ของธนาคารเริ่มดีขึ้น นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจประกันได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นจากการที่สามารถไปหาแหล่งลงทุนที่ได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้

กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง Net Interest Margin ของธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ และ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed

ที่มา: https://fred.stlouisfed.org/series/USNIM#0

เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มการเงิน

การที่ดอกเบี้ยเริ่มเข้าสู่รอบขาขึ้นอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว นำโดยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ พอภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว กิจกรรมการค้าต่างๆของเศรษฐกิจก็ดีขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย ใช้บริการทางการเงินมากขึ้น รวมถึงมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีขึ้นไปด้วย ส่งผลบวกต่อกลุ่มธุรกิจดังกล่าว อีกทั้งหุ้นในกลุ่ม Cyclicals sector หรือวัฏจักรมักจะสร้างผลตอบแทนได้ดีในยามเศรษฐกิจฟื้นตัว

ภาพดัชนีหุ้นกลุ่มการเงินโลกเทียบกับดัชนีหุ้นโลก (สีขาว) มักปรับตัวขึ้นสะท้อนหุ้นกลุ่มการเงิน Outperform หุ้นโลกในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี (สีส้ม) ปรับตัวขึ้น
ที่มา: Bloomberg, Vorayuth’s Analysis

ผู้รับประโยชน์จากนโยบายการผ่อนคลายกฎระเบียบและการลดภาษีของสหรัฐฯ

หนึ่งในนโยบายที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการจะทำในการบริหารประเทศครั้งนี้คือ การลดข้อจำกัดและกฎระเบียบต่างๆของภาคการเงินลง เช่น การยกเลิกกฎหมาย Dodd-Frank  ที่เพิ่มความเข้มงวดในการทำธุรกรรมทางการเงินในด้านต่างๆ ทำให้ธุรกิจภาคการเงินมีความคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงนโยบายการปฏิรูปปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลที่จะทำให้บริษัทต่างๆรวมถึงธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯมีผลกำไรที่ดีขึ้น

KT-FINANCE ลงทุนในหุ้นคุณภาพกลุ่มบริการทางการเงิน

สำหรับกองทุนรวมที่น่าสนใจที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นกลุ่มบริการทางการเงินทั่วโลกในไทย ณ ปัจจุบันมีเพียงกองเดียว ซึ่งก็คือ กองทุน KT-FINANCE หรือ กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ฟันด์ ซึ่งมีนโยบายการลงทุนในกองทุน Fidelity Funds – Global Financial Services Fund ที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจการเงินทั่วโลก กองทุนมีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน โดย Master fund เน้นลงทุนไปทางฝั่งสหรัฐฯมากที่สุด ปัจจุบันลงทุนในหุ้นในกลุ่มการเงินกระจายอยู่ในหลายภูมิภาคดังนี้

  • สหรัฐฯ ประมาณ 39.5%
  • สหราชอาณาจักรฯ 8.6%
  • ฝรั่งเศส 6.4%
  • ญี่ปุ่น 4.7%
  • เยอรมนี 3.5%
  • แคนาดา 3.5%
  • ออสเตรเลีย 3.2%
  • จีน 3.1%
  • ฮ่องกง 3.1%
  • สเปน 3%
  • ประเทศอื่นๆ 19.2%
  • รวมสัดส่วนหุ้นในทุกประเทศ 97.7%
  • อื่นๆ 2.3%

ภาพสัดส่วนการลงทุนแยกรายประเทศ ที่มา: ข้อมูล Fund Factsheet กองทุนหลัก Fidelity Funds – Global Financial Services Fund ณ วันที่ 30 ก.ย. 60

ปัจจุบันกองทุนลงทุนกระจุกตัวในหุ้นกลุ่มธุรกิจการเงินราว 50-60 บริษัท จากทั่วโลกกว่า 1,000 บริษัท โดยมีส่วนหุ้นที่กองทุนมีการลงทุนเป็นสัดส่วนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่

ภาพสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของกองทุนสูงสุด 10 อันดับแรก ที่มา: ข้อมูล Fund Factsheet กองทุนหลัก Fidelity Funds – Global Financial Services Fund ณ วันที่ 30 ก.ย. 60

JPMorgan Chase & Co. ลงทุนสัดส่วนราว 5.2%

JPMorgan Chase & Co. ธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯที่มีบริการการเงินครบวงจร มีสาขาอยู่หลายภูมิภาคทั่วโลก โดยมีสินทรัพย์มูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 กว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีมูลค่ากิจการใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ  ด้วยมูลค่ากว่า 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการควบรวมกิจการระหว่าง J.P. Morgan & Co. และ  Chase Manhattan Corporation ในปี 2000

Bank of America Corporation ลงทุนสัดส่วนราว 4.4%

Bank of America Corporation ธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯที่มีบริการการเงินครบวงจร มีสาขาอยู่หลายภูมิภาคทั่วโลก โดยมีมูลค่าสินทรัพย์สูงเป็นอันดับ 2 กว่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีมูลค่ากิจการใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ  ด้วยมูลค่ากว่า 2.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปีวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ 2008 ได้มีการซื้อกิจการของ Merrill Lynch หนึ่งในวาณิชธนกิจรายใหญ่ของโลกเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งด้านวาณิชธนกิจและบริการด้าน Wealth Management

Citi Group Inc ลงทุนสัดส่วนราว 4.3%

Citi Group Inc ธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯที่มีบริการการเงินครบวงจร มีสาขาอยู่หลายภูมิภาคทั่วโลก โดยมีโดยมีมูลค่าสินทรัพย์สูงเป็นอันดับ 4 กว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีมูลค่ากิจการใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ด้วยมูลค่ากว่า 1.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับในไทยเป็นที่รู้จักในผู้นำบริการด้านธุรกิจบัตรเครดิต

Allianz SE ลงทุนสัดส่วนราว 2.6%

Allianz SE บริษัทประกันภัยและบริหารสินทรัพย์รายใหญ่อันดับ 1 ของเยอรมนี มีธุรกิจกระจายอยู่หลายภูมิภาคทั่วโลก และมีมูลค่ากิจการกว่า 1.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Wells Fargo & Company ลงทุนสัดส่วนราว 2.2%

Wells Fargo & Company ธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯที่มีบริการการเงินครบวงจร มีสาขาอยู่หลายภูมิภาคทั่วโลก โดยมีมูลค่าสินทรัพย์สูงเป็นอันดับ 3 กว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีมูลค่ากิจการใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ  ด้วยมูลค่ากว่า 2.76 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนบริษัทชื่อดังที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น

AIA Group Ltd. บริษัทประกันชีวิตรายใหญ่อันดับต้นๆของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และ Berkshire Hathaway บริษัทของ Warren Buffett ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลกที่ลงทุนในธุรกิจหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งมีธุรกิจหนึ่งในธุรกิจหลักคือส่วนของประกันภัยในนาม GEICO

ผลตอบแทนของหุ้นกลุ่มการเงินกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯมีความสัมพันธ์กัน

หากเราลองพิจารณาดูราคา NAV ชองกองทุน KT-FINANCE จะเห็นว่ามีความสัมพันธ์กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ค่อนข้างจะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันพอสมควร

ภาพราคา NAV กองทุน KT-FINANCE เทียบกับ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี
ที่มา: Bisnews

ภาพราคา NAV กองทุน KT-FINANCE เทียบกับ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 2 ปี
ที่มา: Bisnews

บทสรุปของ KT-FINANCE

โดยสรุปแล้วกองทุน KT-FINANCE เป็นกองทุนที่น่าสนใจและตอบโจทย์สำหรับธีมการลงทุนที่มีแนวโน้มได้ประโยชน์จาก

  1. อัตราดอกเบี้ยโลกเริ่มเข้าสู่ขาขึ้นนำโดยฝั่งสหรัฐฯ
  2. สหรัฐฯมีแผนผ่อนคลายกฎระเบียบของภาคการเงินและนโยบายการปฏิรูปภาษี
  3. เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามการลงทุนในกองทุนดังกล่าวก็มีความเสี่ยงในการลงทุน เช่น ความเสี่ยงของความผันผวนด้านราคา ที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ หรือปัจจัยที่ทำให้ธีมการลงทุนเปลี่ยนแปลงไป   ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงอื่นๆ ผู้ที่สนใจควรศึกษารายละเอียดข้อมูลและความเสี่ยงเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุน

เขียนโดย Vorayuth

คำเตือน
• การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
• ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันผลการดำเนินในอนาคต
• การนำเสนอข้อมูลข้างต้น มิใช่การให้คำแนะนำการลงทุน
• การลงทุนใดๆ ต้องเกิดจากการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจลงทุน บนความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุนเอง
• ทางผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิ์ ไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียในทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ข้อมูลข้างต้น


พิเศษ
หากท่านสนใจเปิดบัญชีลงทุนเพื่อรับคำแนะนำการลงทุนผ่าน NTER SPACE กรุณากรอกรายละเอียดสั้น ๆ ได้ ที่ www.finnomena.com/nter-exclusive-club เพื่อรับบริการพิเศษจากเรา (จำนวนจำกัด)