Mega-Towers-VS-Mega-Crisis

 

“ตึกระฟ้า กับ มหาวิกฤต” ฤาโลกกำลังจะเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจในรอบถัดไปอีกครั้งหนึ่ง?

ในระยะหลังนี้ดูท่าแล้วเราจะได้ยินการคาดการณ์ถึงวิกฤตเศรษฐกิจกันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผมนึกถึงความสัมพันธ์หนึ่งที่น่าสนใจซึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ของ “ดัชนีตึกระฟ้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ” หรือ Skyscraper Index โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกคิดค้นโดย “Andrew Lawrence” นักวิเคราะห์จากธนาคารเพื่อการลงทุนที่มีอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ในสมัยปี 1999 ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดจากการสังเกตว่าเมื่อมีการสร้างตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในโลกหรือในประเทศเสร็จก็มักจะแสดงถึงจุดสูงสุดของวัฏจักรทางเศรษฐกิจพอดี และมักจะมีวิกฤตตามมาเป็นลำดับ โดยตึกระฟ้าก็มักจะสร้างเสร็จในช่วงหรือหลังวิกฤตเศรษฐกิจพอดี ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวถึงแม้จะมีหลายคนแย้งว่าไม่ได้มีความสัมพันธ์กันเสมอไปในข้อเท็จจริงแต่ก็ดูเป็นความสัมพันธ์หนึ่งที่เราน่าติดตามอยู่ไม่น้อย โดยในอดีตที่ผ่านมาก็มีความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจริงอยู่หลายครั้ง ตัวอย่างเช่น

Empire State Building ซึ่งเสร็จในช่วงปี 1931 ในช่วงวิกฤต The Great Depression
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Empire_State_Building

Empire State

Petronas Tower ซึ่งเสร็จในช่วงปี 1998 ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Petronas_Towers

Petronas

Burj Khalifa ซึ่งเสร็จในช่วงปี 2010 ในช่วงวิกฤต Dubai World
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Burj_Khalifa

Burj Khalifa

และยังมีวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆอีกมากมายที่มีความสัมพันธ์กับตึกระฟ้าที่สร้างเสร็จ

Skyscraper index

ที่มา: http://www.ctbuh.org/LinkClick.aspx?fileticket=uXxzolM8loU%3D&language=en-GB

ทำไมอยู่ดีๆผมถึงนึกความสัมพันธ์นี้นะหรอครับ นั่นก็เพราะในระยะหลังนี้ประเทศที่เสี่ยงจะเผชิญภาวะวิกฤตที่ได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆดันเป็นกลุ่มประเทศเกิดใหม่อยู่หลายแห่ง เช่น ซาอุดิอาระเบีย จีน รัสเซีย เป็นต้น สืบเนื่องมาจากปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำหรือเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และเมื่อได้สังเกตแผนการก่อสร้างตึกระฟ้าที่สูงติดอันดับโลกใหม่ๆที่เกิดขึ้นและกำลังก่อสร้างอยู่ก็พบว่ามีอยู่หลายโครงการด้วยกันที่อยู่ในกลุ่มประเทศดังกล่าว ทั้งซาอุดิอาระเบีย จีน หรือรัสเซีย โดยในปี 2015 ที่ผ่านมาจีนมีการก่อสร้างอาคาร Shanghai Tower เสร็จ โดยสูงถึง 632 เมตร ซึ่งปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก Burj Khalifa แห่งดูไบเท่านั้น โดยช่วงปี 2015 ตลาดหุ้นจีนเองก็เกิดภาวะฟองสบู่แตกรอบใหญ่เช่นกัน ส่วนรัสเซียเองก็มีแผนกำลังก่อสร้างตึก Lakhta Center ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งสูงถึง 462 เมตรและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2018 และจะกลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในยุโรป ส่วนโครงการที่กำลังจะทำลายสถิติตึกที่สูงที่สุดในโลกแห่งใหม่นั้นอยู่ที่ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีชื่อว่า Jeddah Tower (ชื่อเดิม Kingdom Tower) โดยมีความสูงถึง 1,008 เมตร และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2019 ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Jeddah_Tower

Jeddar Tower

เห็นแบบนี้แล้วก็เป็นที่น่าจับตาอยู่เหมือนกันนะครับว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงมากแค่ไหน โดยเมื่อดูในเรื่องของราคาน้ำมันที่ตกต่ำซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับประเทศอย่างรัสเซียและซาอุดิอาระเบียแล้วก็น่าคิดอยู่ไม่น้อย โดยทาง CNBC ได้มีการวิเคราะห์และคาดการณ์ว่าถ้าราคาน้ำมันมีการตกต่ำถึงระดับ $20 ต่อ barrel และแช่อยู่ระดับนั้นต่อเนื่อง ก็มีแนวโน้มที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของซาอุดิอาระเบียจะหมดลงภายในเดือนตุลาคม ปี 2018 ได้ ส่วนถ้าน้ำมันอยู่ที่ระดับ $30 ต่อ barrel ก็มีแนวโน้มที่ทุนสำรองระหว่างประเทศจะหมดภายในเดือนพฤษภาคม ปี 2019 ซึ่งช่วงดังกล่าวก็ใกล้เคียงกับปีที่ตึก Jeddah Tower เสร็จนั่นเอง โดยอาจจะก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหญ่ในครั้งถัดไปได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่าระดับราคาน้ำมันจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่ ซึ่งถ้าฟื้นตัวได้จริงๆแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤตก็จะน่าจะลดน้อยลง

oil 20$

ประมาณการว่าถ้าน้ำมันอยู่ในระดับ $20 ต่อบาร์เรล ทุนสำรองฯของซาอุดิอาระเบียจะหมดภายในปี 2018

oil 30$

ประมาณการว่าถ้าน้ำมันอยู่ในระดับ $30 ต่อบาร์เรล ทุนสำรองฯของซาอุดิอาระเบียจะหมดภายในปี 2019

oil 40$

ประมาณการว่าถ้าน้ำมันอยู่ในระดับ $40 ต่อบาร์เรล ทุนสำรองฯของซาอุดิอาระเบียจะหมดภายในปี 2020
ที่มา: http://www.cnbc.com/2016/01/31/saudi-arabia-struggles-to-cope-with-cheap-oil.html

สำหรับประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างตึกระฟ้าและวิกฤตเศรษฐกิจผมมองว่าเราคงสามารถใช้เป็นแค่แนวทางหนึ่งในการเตือนสติเราให้ระมัดระวังในการลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งการที่มีสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นก็มักจะแสดงถึงความเจริญขั้นสูงของเศรษฐกิจ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการสะท้อนถึงวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นที่เต็มที่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ความหมายว่าจะไม่มีโอกาสดีๆให้เราลงทุนเลย เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาที่ว่า “ทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาสเสมอ” ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการลงทุนในทุกสถานการณ์ครับ