01MARKET_INSIGHT_finnomena-admin

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมานี้ผม (แอดไม่มึน) ได้มีโอกาสไปฟังสัมมนาเรื่อง Global Divergences: Sorting the Wheat from the Chaff มาครับ ซึ่งบรรยายโดย Michael Hasenstab, Ph.D. Executive Vice President, Chief Investment Officer, Templeton Global Macro หนึ่งใน Bond Fund Manager ที่เก่งที่สุดในโลก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

Monetary Policy Divergence ต้นเหตุของการทะยานขึ้นของหุ้นญี่ปุ่น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลายประเทศที่ประกาศนโยบายทำ QE มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลักๆก็ได้แก่ อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น แต่นโยบายการเงินของแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งประเทศที่มีความพิเศษที่สุดในระยะหลังนี้คงต้องยกให้ญี่ปุ่นเลยล่ะครับ

ทำไมนโยบายการเงินและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นถึงมีความพิเศษกว่าประเทศอื่น?

เนื่องจากทางญี่ปุ่นมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวมายาวนาน ประกอบกับโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นมีสัดส่วนเป็นผู้สูงอายุเยอะ วัยแรงงานน้อย ทำให้มีการใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น้อย  ส่งผลให้มีปัญหาสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ที่สูงต่อเนื่องมายาวนาน ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเองจึงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อลดสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ดังกล่าวผ่าน 3 แนวทางหลัก คือ 1) กระตุ้นให้ถึงเงินเฟ้อเป้าหมาย 2% ภายในปี 2016 2) ลดการใช้ก่อหนี้ภาคการคลัง 3) การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงกดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำพร้อมทั้งใช้การทำ QQE เป็นนโยบายการเงินเข้าช่วยในการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินโดยเฉพาะตราสารหนี้ ประกอบกับทางญี่ปุ่นเองก็มีการปฏิรูปนโยบายการลงทุนของ Pension fund ที่ให้มีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เงินเยนมีการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และสินทรัพย์ต่างๆมีราคาที่สูงขึ้น ทำให้จะเห็นได้ว่าหุ้นญี่ปุ่นมีผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ผ่านมา ผลกระทบดังกล่าวทำให้สัดส่วนสินทรัพย์ของธนาคารกลางญี่ปุ่นต่อ GDP ทะยานขึ้นสู่ระดับ 70% ต่อ GDP ในขณะที่อเมริกาและยุโรปอยู่ในระดับเพียง 30% ต่อ GDPเท่านั้น และยังส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น เพราะคนมีเงินขึ้นจากการที่สินทรัพย์ต่างๆราคาขึ้น และนำไปสู่เงินเฟ้อในที่สุด

การบริโภคและภาคบริการกุญแจสำคัญสู่โมเดลการเติบโตใหม่ของเศรษฐกิจจีน

หลังจากที่ทางการจีนได้ประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย โดยเฉพาะการตั้งเป้าให้เครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจมาจากภาคการบริโภคแทนการลงทุนและอุตสาหกรรมแบบในอดีต โดยทาง Templeton Global Macro คาดการณ์ว่าข้อมูลสัดส่วนของภาคการบริโภคต่อ GDP ที่ทางการจีนประกาศออกมามีสัดส่วนที่น้อยกว่าสัดส่วนที่เกิดขึ้นจริง ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าจับตาว่าเศรษฐกิจจีนไม่ได้ถึงกับเกิด Hard landing ในภาค real sector แต่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนยังสะท้อนผ่านการมีสังคมเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีอัตราการเป็นสังคมเมืองที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกไปแล้ว  ซึ่งก็ส่งผลให้ธุรกิจในภาคการบริการจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นตามรอยประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งนั่นสะท้อนถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่มีการปฏิรูปมาพึ่งพาตัวเองที่มากผ่านภาคการบริโภคและการบริการต่างจากในอดีตที่เน้นแต่ด้านภาคอุตสาหกรรมและการผลิต โดยแนวโน้มดังกล่าวยังสอดคล้องกับมุมมองของ Wang Jianlin เศรษฐีที่รวยอันดับต้นๆของจีนแห่ง Wanda Group เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเครือข่ายโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในจีนที่มองว่า

อุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสสูงสุดในขณะนี้ของคนรุ่นใหม่ของจีนได้แก่ Sports, Entertainment และ Tourism โดยจัดเป็น “modern” service industry ของยุคนี้เลยก็ว่าได้

ซึ่งทางแอดมึนก็มีมุมมองว่า จีนน่าจะยังมีการประคองการเติบโตได้ดีต่อไปในระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจที่จะเน้นการพึ่งพาตัวเองผ่านทางภาคการบริโภคและการบริการ และเชื่อว่า ธุรกิจในภาคบริการน่าจะกลายมาเป็นกลุ่มธุรกิจดาวรุ่งของจีนในยุคถัดไป

แนวโน้มของการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed กับผลกระทบที่แตกต่างต่อ Emerging markets

แนวโน้มของการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ส่งผลกระทบต่อ  Emerging markets ในแต่ละประเทศอย่างแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศว่าพึ่งพิงปัจจัยใดเป็นสำคัญ โดยหลังจากที่ทาง Fed มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้เกิดเหตุการณ์เงินทุนไหลออกจาก Emerging markets ทั่วโลก ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ว่าประเทศไหนที่มีความเสี่ยงประเทศที่สูง ด้วยการดูาภาวะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (Current account deficit) ในระดับที่มาก เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP จากในสมัยวิกฤตเศรษฐกิจ 1997 ของกลุ่ม Emerging markets ในเอเชีย ก็พบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของกลุ่ม Emerging markets ในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับที่ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก ยกเว้น รัสเซีย ตุรกี เวเนซูเอลา อาร์เจนตินา และแอฟริกาใต้ เป็นต้น  เนื่องจากในปัจจุบันมีการปล่อยให้ค่าเงินเป็นไปตามกลไกตลาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มประเทศเกิดใหม่เหล่านี้พอมีค่าเงินอ่อนลงจากเงินทุนไหลออก ก็มีแนวโน้มส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าน้อยลง ต่างจากสมัยที่ยังใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ซึ่งนั่นทำให้มีการนำเข้าสินค้าจนส่งผลกระทบต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่มหาศาล

เมื่อตราสารที่ปลอดภัยที่สุดอาจกลายเป็นตราสารที่เสี่ยงที่สุด

การแสวงหาผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำในภาวะที่ดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นขาขึ้นต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราอาจจะเข้าใจว่าสินทรัพย์อย่างตราสารหนี้เหมือนจะเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากที่สุด แต่กลับกันในช่วงอนาคตอันใกล้ตราสารหนี้โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาวและ

High yield bond มีแนวโน้มจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่สุด เนื่องจากหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ราคาของตราสารหนี้เดิม เช่น พันธบัตรหรือหุ้นกู้ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ถือตราสารหนี้เดิมอยู่มีผลขาดทุนทางราคาได้หากถือตราสารไม่ครบกำหนดระยะเวลา

ซึ่งโดยทั่วไปนั้นการขาดทุนที่จะเกิดขึ้นจะมีผลมากในตราสารหนี้ระยะยาว ทาง Templeton เอง ก็มีการลด Duration ของพอร์ตตราสารหนี้ผ่านการถือตราสารหนี้ระยะสั้นเพิ่มขึ้นด้วย นักลงทุนทั้งหลายก็ควรทำเช่นนั้นนะครับ

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง Global Divergences: Sorting the Wheat from the Chaff โดย Dr. Michael Hasenstab, Ph.D. , Executive Vice President, Chief Investment Officer, Templeton Global Macro จาก Franklin Templeton Investments และทาง Thanachart Fund Management ที่เชิญไปร่วมสัมมนาดีๆ แบบนี้ครับ