การลงทุนในหุ้นเป็นหนึ่งในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนได้ในระดับดีเยี่ยม แต่ก็มีรูปแบบการลงทุนอีกอย่างหนึ่งที่คล้ายกับหุ้นที่อาจสร้างผลตอบแทนได้ทวีคูณ แต่ในทางกลับกันก็อาจขาดทุนได้เป็นทวีคูณเช่นกัน หนึ่งในนั้นก็คือ “Warrant”

Warrant ก็คือ “ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ” เทียบง่ายก็เปรียบเสมือน “ใบจองซื้อคอนโด” นั่นเอง แต่เอาไว้ใช้สำหรับแปลงซื้อหุ้นสามัญภายในระยะเวลาที่กำหนด  ปกติจะเป็นชื่อย่อหุ้นนำหน้าแล้วตามมาด้วย -W, -W1, -W2 เป็นต้น เช่น SAWAD-W1

สำหรับการประเมินมูลค่าอย่างง่ายสำหรับ Warrant นั้นก็คือ เอาราคาหุ้นแม่ในตลาด หักลบด้วย ราคาใช้สิทธิในการแปลงซื้อ เหลือเท่าไร แล้วค่อยหารด้วยจำนวน warrant ที่ต้องใช้แลกหุ้นแม่ 1 หุ้น นั้นก็คือมูลค่าของ Warrant ที่เราเรียกว่า Intrinsic value นั่นเอง เช่น หุ้น A ราคา 10 บาท ราคาใช้สิทธิแปลง A-W1 อยู่ที่ 2 บาท อัตราการใช้สิทธิ์แปลง 1:2 คือ 1 Warrant สามารถใช้สิทธิแปลงซื้อหุ้นแม่ได้ 2 หุ้น ถ้ากรณีนี้ Intrinsic value ของ A-W1 ก็ควรอยู่ที่ (10-2)/(1/2) = 16 บาท ต่อ Warrant

แต่โดยปกติแล้ว ราคา Warrant อาจจะไม่ได้มีราคาอยู่แค่ในระดับ Intrinsic value ซึ่งอาจจะมีราคาที่สูงกว่าจากการบวกในส่วนของมูลค่าที่เราเรียกว่า Time value หรือ มูลค่าที่ควรเพิ่มขึ้นจากการได้สิทธิในการถือลุ้นเพื่อรอแปลงสภาพนั่นเอง เช่น จากเดิม ที่ A-W1 ควรจะอยู่ที่ 16 บาท แต่ในความเป็นจริงก็อาจจะเทรดอยู่ที่ 18 บาท ต่อ Warrant ก็ได้ ซึ่งในแง่ของความเป็นจริงแล้ว ตลาดหุ้นก็ไม่ได้มีการให้ราคา Warrant ตามทฤษฎีเสมอไป อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ ส่วนหนึ่งเกิดจาก Demand และ Supply ของนักลงทุนด้วยนั่นเอง

ทีนี้ลองนึกภาพความฝันอันสวยหรูจากการลงทุนใน Warrant ดูครับว่า สมมติหุ้น X-W1 มีราคาใช้สิทธิแปลงที่ 50 บาท อัตราการใช้สิทธิคือ 1 ต่อ 1 ในขณะที่หุ้น X อยู่ที่ราคา 52 บาท ถ้าคิดแบบง่ายๆ มูลค่าของ X-W1 แบบ Intrinsic value ควรอยู่ที่ 2 บาท ใช่ไหมล่ะครับ ถ้าเราคาดว่าหุ้น X จะปรับตัวขึ้นไปที่ 54 บาท ถ้าเราซื้อ X-W1 ที่ราคา 2 บาท ราคาของ X-W1 อาจจะปรับตัวขึ้นไปตามหุ้นแม่เป็นราคา 4 บาท เท่ากับ เราได้กำไรสูงถึง 100% ในขณะที่ถ้าลงทุนหุ้นแม่จะได้กำไรเพียง 3.85% คุณสมบัติที่เป็นเหมือนอัตราทดหรือพลังทวีคูณของ Warrant นี่แหละครับ ที่ทำให้นักลงทุนหลายคนหลงใหลในการลงทุนใน Warrant

แต่ในโลกความเป็นจริงแล้ว ตลาดหุ้นกลับไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น มีหุ้นหลายตัวที่มีการออก Warrant ออกมา และนักลงทุนก็เห็นโอกาสในการเข้าไปลงทุนหรือเก็งกำไรเพื่อหวังว่าจะได้ผลตอบแทนมหาศาล แต่ความจริงก็คือหุ้นหลายตัวนั้นมีการปรับตัวลงสวนทางมหาศาลจนลงมาต่ำกว่าราคาที่นักลงทุนจะใช้สิทธิแปลงสภาพได้ หรือ Warrant บางตัวที่นักลงทุนคาดหวังกันว่าหุ้นแม่จะปรับตัวขึ้นไปจนสามารถใช้สิทธิแปลงสภาพซื้อหุ้นแม่ได้ ทำให้ได้กำไรเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กลับกลายเป็นว่าจบลงด้วยน้ำตาของนักลงทุนคือ Warrant กลับกลายเป็น “ศูนย์” หรือไม่มีมูลค่าเลย เนื่องจากวันครบกำหนดราคาใช้สิทธิแปลงสภาพก็ยังต่ำกว่าราคาหุ้นแม่ในตลาด ทำให้ไม่คุ้มที่จะใช้สิทธิแปลงสภาพนั่นเอง

สำหรับกรณีศึกษาที่เคยเกิดขึ้นจริงแล้วอยากให้นักลงทุนทั้งหลายลองไปศึกษาดู เพื่อเอามาเป็นข้อเตือนสติ ก็มีอยู่หลายกรณีด้วยกัน เช่น

กรณีของ BLAND-W2 ในช่วงปี 2013

ที่มา: Bisnews ข้อมูล ณ วันที่ 19 ธ.ค. 60

กรณีของ RML-W3 ในช่วงปี 2015

ที่มา: Bisnews ข้อมูล ณ วันที่ 19 ธ.ค. 60

กรณีของ SIRI-W2 ในปี 2017

ที่มา: Bisnews ข้อมูล ณ วันที่ 19 ธ.ค. 60

กรณีทั้งหมดนี้ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะเห็นได้ว่ามีบางช่วงเวลาที่ราคา Warrant ขึ้นไปจนนักลงทุนสามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำหลายเท่าตัว ในขณะที่เมื่อเวลาผ่านไปสถานการณ์ตลาดเปลี่ยนแปลงไป ราคาของหุ้นแม่หลายตัวนั้นไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปเหนือกว่าราคาใช้สิทธิแปลงสภาพได้ ทำให้ราคา Warrant เหล่านั้นกลับมาปรับตัวลงจนเหลือ 0.01 บาท และไม่เหลือมูลค่าในที่สุดเมื่อสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาแปลงสภาพ

สิ่งที่อยากจะฝากข้อคิดสำหรับการลงทุนใน Warrant ไว้ก็คือให้พึงระลึกอยู่เสมอว่าคุณสมบัติในด้านอัตราทดหรือพลังทวีคูณของ Warrant เปรียบเสมือนดาบ 2 คม หากใช้ให้ถูก คุณจะสามารถทำกำไรได้ผลตอบแทนอย่างมหาศาล แต่ถ้าผิดทางมันจะตามมาด้วยการขาดทุนอย่างมาก เพราะฉะนั้นการลงทุนใน “Warrant” เราอาจจะต้องคำนึงถึง “ราคา” เป็นสำคัญ กว่าการพึ่งเพียงการวิเคราะห์ด้าน “ปัจจัยพื้นฐาน” เพียงอย่างเดียว เพราะว่าถ้าหากผิดทางแล้วไม่เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้ หลายครั้ง “ไม่สามารถถือรอแบบหุ้น” ได้เนื่องจากมันมีระยะเวลาจำกัดในการแปลง เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะมีการเตรียมแผนบริหารความเสี่ยงหรือแผน cut loss ไว้เสมอนั่นเอง

โดย Vorayuth