Inverted Yield Curve คืออะไร? ทำไมครั้งนี้ Trader KP ถึงอาจยังไม่กังวลกับสัญญาณ Inverted Yield Curve มากนัก?

⚠️[KP Analysis]⚠️ Inverted Yield Curve หรือสัญญาณเตือนภาวะเศรษฐกิจถดถอยกลับอีกครั้งแล้ว! แต่ทำไมครั้งนี้ Trader KP ถึงอาจยังไม่กังวลเรื่องสัญญาณ Inverted Yield Curve นี้มากเท่าไรนัก?

Inverted Yield Curve เกิดขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้นสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุยาว ซึ่งตลาดมองว่าเป็นภาวะที่ผิดปกติ เพราะโดยทั่วไปอัตราผลตอบแทนพันธบัตเมื่อเทียบในระยะต่าง ๆ หรือ Yield Curve ควรจะมีลักษณะที่ชันขึ้น หรือยิ่งซื้อพันธบัตรระยะยาว (ฝากเงินระยะยาว) ก็ควรจะได้ผลตอบแทนมากกว่าการซื้อพันธบัตรระยะสั้น

ในอดีตแล้วสัญญาณของ Inverted Yield Curve จะเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ได้ดีในอนาคต และก็เป็นสัญญาณที่ถูกต้องมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว

แต่จากมุมมองของ Trader คนนึงแล้ว ทำสัญญาณครั้งนี้อาจยังไม่ได้สร้างความกังวลให้กับ Trader KP มากนัก หรืออย่างน้อยหากตลาดจะเกิด Recession ขึ้นจริง ๆ มันยังไม่ใช่เพราะ Inverted Yield Curve เพิ่งเกิดขึ้น แต่อาจเป็นเพราะตัวแปรอื่น ๆ เริ่มแย่ลงไปด้วยต่างหาก ทำให้เรายังคงต้องติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด

1. ขอเริ่มอธิบาย Yield Curve หรือส่วนต่างของผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) ในช่วงเวลาต่าง ๆ แบบง่าย ๆ ก่อน ว่าทำไมผลตอบแทนถึงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ ?

ขอเปรียบเทียบการ “ฝากเงินเข้าธนาคาร” ตามปกติก่อน ถ้าเงินเราต้องไปฝากอยู่กับธนาคารนาน ๆ ส่วนมากเราก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าใช่ไหมครับ? เพราะธนาคารสามารถนำเงินของเราไปหมุนหรือลงทุนในระยะยาว ๆ ได้ และเราก็ต้องถือความเสี่ยงนั้นไว้นาน ว่าธนาคารนั้นจะล้มหายตายจากไปไหนไหม ทำให้โดยธรรมชาติแล้วเราควรต้องได้ผลตอบแทนที่สูงมากกว่าการฝากเงินแค่ระยะสั้น ๆ นี่คือผลตอบแทนของการฝากเงินในภาวะปกติ

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก็เปรียบเทียบได้คล้ายกับ “การฝากเงินเข้าธนาคารของบริษัทใหญ่ ๆ ทั่วโลก” แต่แค่บริษัทใหญ่ ๆ นำเงินไปฝากกับรัฐบาลสหรัฐไว้แทน (ไม่ใช่ธนาคาร) ตามปกติอัตราผลตอบแทนในระยะสั้นก็จะต่ำกว่าระยะยาวเช่นเดียวเหมือนกัน

แต่สิ่งนึงที่ต่างจากธนาคารคือผลตอบแทนของ Bond Yield นั้น จะขึ้นลงตามความต้องการซื้อขายของนักลงทุน หากมีคนฝากในระยะไหน ๆ เยอะผลตอบแทนของระยะนั้นก็จะลดลงตามไป ซึ่งก็เปรียบได้เสมือนกับธุรกิจปกติแหละครับ หากสินค้าไหนมีความต้องการเยอะ เราก็จะเพิ่มราคาขึ้นใช่ไหมครับ? ในขณะเดียวกันสินค้าที่ขายไม่ออก เราก็จะลดราคามันลง

พันธบัตรรัฐบาลก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ในการคิดผลตอบแทนดอกเบี้ย หากมีแต่คนอยากซื้อพันธบัตรระยะยาว ราคาหน้าตั๋วของพันธบัตรนั้นก็จะสูงขึ้น หรือในทางกลับกันก็คือพันธบัตรจะให้ Yield หรือผลตอบแทนที่ลดลง

2. เมื่อไรที่เกิด Inverted Yield Curve ขึ้นก็คือ “คนแห่เข้าซื้อพันธบัตระยะยาวสูงมาก แต่กลับไม่มีคนซื้อระยะสั้นเลย” จนดันให้ผลตอบแทนในระยะสั้นนั้นดีดสูงกว่าระยะยาว!

การที่นักลงทุนแห่เข้ามาซื้อพันธบัตรระยะยาวอย่างสูงแปลว่า “เขาคิดว่าดอกเบี้ยจะเป็นขาลงแล้ว” เขาจึงยอมที่จะล็อคผลตอบแทนในระยะยาวแม้ว่ามันจะต่ำกว่าระยะสั้น เพราะหากซื้อในระยะสั้นเช่น 1 ปี แล้วผ่านไปปีนึงพอได้เงินกลับมาลงทุนใหม่ ดอกเบี้ยในช่วงนั้นอาจจะลงไปต่ำมาก ๆ แล้ว จนไม่สามารถฝากใหม่ได้ที่ผลตอบแทนเดิม

3. โดยปกติแล้วเหตุการณ์นี้น่ากลัวอย่างไร?

โดยปกติแล้วผู้ที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐต่าง ๆ นั้นคือเหล่าบริษัทใหญ่ ๆ ของโลก กองทุนชั้นนำ และกลุ่มผู้ที่มีความรู้ทางด้านการเงินโลกเป็นอย่างดี

เงินขั้นต่ำสุดในการซื้อพันธบัตรสหรัฐนั้นคือ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกินกว่า 30 ล้านบาท! ไม่น่าจะใช่ผู้คนรายย่อยอย่างเราอยู่แล้วที่เข้าไปซื้อ กลุ่มคนพวกนี้ส่วนใหญ่น่าจะมีข่าวสารวงในหรือข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่ารายย่อยแน่ ๆ และหากพวกเขากลับพร้อมที่จะฝากเงินเขาออกไป ไม่ยุ่ง ไม่แตะไปอีก 10 ปี ไม่นำเงินนี้มาลงทุนเลยในระยะสั้น มันก็สื่อได้ถึงภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้นไหมละครับ ว่ามันไม่น่ามีอะไรน่าลงทุนแล้ว ฝากเงินเข้าไปธนาคารยาว ๆ เพื่อไม่ให้เสียเงินดีกว่า

4. Inverted Yield ทำให้เศรษฐกิจจะแย่? หรือว่าเศรษฐกิจที่แย่ทำให้เกิด Inverted Yield?

อันนี้ก็เหมือนกับปัญหา “ไก่กับไข่” อะไรเกิดก่อนกันครับ โลกเศรษฐกิจและการเงินนั้นมันสัมพันธ์กันอยู่ตลอด เหตุการณ์ทั้งคู่นั้นส่งผลซึ่งกันและกัน ทำให้ตอนนี้เมื่อเกิด Inverted Yield ขึ้นแล้วเราจึงอาจกลัวว่าจะเกิด Recession ขึ้น

เมื่อกี้เราอธิบายไปแล้วว่าทำไมเศรษฐกิจที่แย่ทำให้เกิด Inverted Yield เพราะว่านักลงทุนไม่ต้องการเงินลงทุน มาลงทุนในระยะสั้นแล้ว หรือที่เราเรียกว่า “Risk Off Environment” คือตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ลงทุนอะไรก็เสี่ยงหมด สู้เอาเงินออกจากทรัพย์สินเสี่ยง ๆ เหล่านี้มาฝากประจำดีกว่า

ในทางกลับกันพอ Bond Curve เป็น Inverted Yield แล้ว มันก็จะยิ่งส่งผลลบต่อเศรษฐกิจเข้าไปอีก เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยระยะสั้นเริ่มแพงกว่าระยะยาวแล้ว ในมุมของการลงทุนก็แปลว่าต้นทุนของกิจการจะแพงขึ้น ค่าแรง ค่ากู้ยืมเงินจะดูสูงขึ้นทันที จนทำให้หลาย ๆ กิจการอาจจะได้ผลตอบแทนไม่คุ้ม เมื่อเทียบกับการฝากเงินในระยะยาว จนทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่ขึ้นไปอีก

5. ทำให้ Inverted Yield Curve นั้นจึงอาจเป็นคล้าย ๆ กับ Self Fulfilling Prophecy หรือสิ่งที่พยากรณ์ไว้แล้ว ทำให้ตัวเองกลัวและยิ่งทำให้สถานการณ์นั้นเป็นจริง

คล้าย ๆ กับการที่เราคิดว่าตัวเราเองนั้นป่วย เลยยิ่งเครียดหนัก และสุดท้ายเราก็อาจจะป่วยไปเลยจริง ๆ เช่นเดียวกับนักลงทุนที่แห่ซื้อพันธบันตระยะยาวเพื่อพยายามหนี Recession แต่สุดท้ายเม็ดเงินที่ไหลเข้าไปซื้อพันธบันตระยะยาวเหล่านั้น กลับอาจเป็นทำให้เกิด Recession ขึ้นมาได้จริง ๆ จากการทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจระยะสั้นนั้นแพงขึ้นมาเอง

6. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเกิด Inverted Yield Curve ครั้งนี้นั้น เหตุผลนั้นอาจไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ

โดยถึงแม้ในรอบนี้เหล่าบริษัทใหญ่ ๆ ของโลก กองทุนชั้นนำ และกลุ่มผู้ที่มีความรู้ทางด้านการเงินโลกเป็นอย่างดี กำลังแห่ซื้อพันธบัตรระยะยาวมากกว่าการซื้อพันธบัตรระยะสั้น แต่พวกเขาไม่ได้เข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวมากกว่าระยะสั้นเพียงเพราะมองว่าเศรษฐกิจกำลังจะชะลอตัวเพียงอย่างเดียว

แต่เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้พวกเขาซื้อพันธบัตรระยะยาวมากกว่าใครครั้งนี้คือ “ความกลัวภาวะเงินเฟ้อสูงในระยะสั้น” มากกว่า

ตอนนี้เนื่องจากการอัดฉีดเงินและสภาพคล่องมากมายจาก FED และรัฐบาลสหรัฐ รวมไปถึงปัญหา Supply Chain กำลังทำให้ค่าเงินเฟ้อระยะสั้นในสหรัฐดีดแตะระดับสูงที่สุดในรอบ 40 ปี มันไม่ใช่สภาพเงินเฟ้อที่ปกติ จนทำให้หากมอง Curve ของเงินเฟ้อไปในอนาคตนั้น ค่าเงินเฟ้อกำลังเกิด Inflation Backwardation ที่สูงที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมาทีเดียว

Inflation Backwardation คือการที่นักลงทุนมองว่าค่าเงินเฟ้อในอนาคตจะไม่ได้สูงเหมือนทุกวันนี้ และหากเราพยายามมอง Yield Curve ในปัจจุบัน ด้วยการใส่มุมมองของค่าเงินเฟ้อในอนาคตเข้าไป (หรือมอง Yield Curve in Inflation terms) มันจะทำให้เราเห็นได้ชัดว่า Yield Curve นั้นยังอยู่ในรูปแบบปกติ และยังไม่ Inverted

หรือแปลง่าย ๆ ว่า หากเทียบผลตอบแทนของพันธบัตรในระยะสั้นและระยะยาวหลังหักผลกระทบจากเงินเฟ้อออกไปแล้ว ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นยังคงต่ำกว่าพันธบัตรระยะยาวตามปกติ และไม่ได้มีการ Inverted แต่อย่างใด ต่างจากการเกิด Inverted Yield Curve ในปี 2006 กับ 2019 ที่หลังจากหักกับผลกระทบจากเงินเฟ้อออกไปแล้ว ผลผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นกลับสูงกว่าพันธบัตรระยะยาวจริง ๆ

7. สรุป อย่างที่ย้ำไว้ จากมุมมองของ Trader คนนึงแล้ว ถึงแม้สัญญาณ Inverted Yield Curve ครั้งนี้อาจยังไม่ได้สร้างความกังวลให้กับ Trader KP มากนัก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Recession จะไม่เกิดขึ้นจริง ๆ แต่อย่างน้อยหากตลาดจะเกิด Recession ขึ้นมันยังต้องเกิดจากตัวแปลอื่น ๆ ที่เริ่มแย่ลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการจ้างงาน ราคาพลังงาน รวมไปถึงเส้นอัตราผลตอบแทน 10 ปีเทียบกับ 3 เดือน (3M10Y spread) ที่เป็นตัวทำนายภาวะถดถอยที่แม่นกว่า (ที่ตอนนี้ยังไม่ Invert เลย) ทำให้เรายังคงต้องติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด

Trader KP

ที่มาบทความ: https://traderkp.com/2022/04/05/inverted-yield-curve-หรือสัญญาณเตือนภาวะ/