เจาะลึกตลาดน้ำมัน ราคาจะไปในทิศทางไหนต่อ?

ราคาน้ำมันนั้นได้ค่อย ๆ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นมาตลอดเดือนพฤษภาคม โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ได้ไต่ขึ้นมาประมาณ +70% จากระดับ 22 เหรียญช่วงต้นเดือนก่อนที่จะมาปิดเดือนที่ระดับ 37 เหรียญ

โดยเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ราคาน้ำมันนั้นดีดตัวขึ้นมาก็มีอยู่ 2 อย่างด้วยกันคือ

1. การทยอยกลับมาผ่อนคลายนโยบาย Lockdown ของเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกช่วยกระตุ้นให้การใช้น้ำมันดีดกลับขึ้นมาเร็วกว่าที่คาด

2. ทางกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรวมพลังกันลดการผลิตได้สูงและเร็วกว่าที่คาดไว้ ! โดยภายในเพียง 1 เดือนที่เริ่มลดการผลิต อุปทานน้ำมันทั่วโลกได้หายไปแล้วกว่า 15%

แต่คำถามที่สำคัญกว่าต่อไปนี้คือ ราคาน้ำมันจะยังเป็นขาขึ้นอยู่ต่อไปไหม ?

ต้องบอกก่อนว่าตลาดน้ำมันตอนนี้นั้นคาดเดาทิศทางได้ยากกว่าตลาดหุ้น เพราะตลาดหุ้นหลัก ๆ ตอนนี้นั้นกำลังขึ้นอยู่กับการระบาดของไวรัสว่าจะมีเฟสสองหรือไม่เป็นหลัก (น่าจะประมาณ 75%) ส่วนเรื่องของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน การประท้วงในสหรัฐต่าง ๆ ที่เกิด หรือนโยบายทางการเงินต่าง ๆ นั้นน่าจะเป็นอีก 25% ที่เหลือ

ในขณะที่ราคาน้ำมันนั้นตอนนี้ตัวแปรมีมากกว่าเยอะ เพราะการระบาดของไวรัสนั้นน่าจะมีผลกระทบไม่ถึงครึ่งของตลาดน้ำมันในตอนนี้ เพราะตลาดกำลังจะเปลี่ยนโฟกัสไปที่ด้านอุปทานแทน ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อราคามากกว่า 50% โดยเฉพาะทางกลุ่มโอเปกและพันธมิตรกำลังจะมีการประชุมใหญ่กันในวันที่ 9 มิถุนายนนี้

ในการวิเคราะห์ว่ากลุ่มโอเปกและพันธมิตรจะมีนโยบายอย่างในการประชุมนั้น ยากกว่าการจะคาดเดาตัวเลขของการระบาดที่เริ่มจะนิ่ง ๆ แล้วอยู่แล้วสูงมาก เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้นำแต่ละประเทศนั้นวางแผนอะไรไว้บ้างและการตัดสินใจของคนเรานั้นเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ต่างจากไวรัสที่หากพยายามควบคุมไว้เราก็พอกำหนดมันได้

โดยเฉพาะในช่วงเดือนหลัง ๆ ที่สมาชิกทางกลุ่มโอเปกแต่ละประเทศนั้นต่างมีมุมมองที่แตกต่างกันไป จนเราเคยเห็นการเดินออกจากการประชุมกลางคันของรัสเซีย และก่อให้เกิดสงครามราคาน้ำมันอย่างคาดไม่ถึง และนี่คือสาเหตุว่าทำไมดัชนีความผันผวนของราคาน้ำมันถึงยังเทรดอยู่สูงกว่า VIX ของตลาดหุ้นอยู่ถึง 3 เท่า

ตลาดส่วนใหญ่นั้นมองว่าโอเปกจะยืดเวลาการลดการผลิตออกไปจนถึงสิ้นปี

ในปัจจุบันนั้นทางโอเปกและพันธมิตรทั่วโลกตกลงที่จะลดกำลังการผลิตรวมกันที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ก่อนที่จะลดปริมาณการผลิตลงมาเป็น 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปจนถึงสิ้นปี เพราะคาดว่าการใช้น้ำมันจะเริ่มทยอยกลับมาแล้วจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดกำลังการผลิตไปมากกว่านี้

แต่ล่าสุดนั้นข่าวเริ่มออกมาหนาหูมาก ๆ ว่า การที่ราคาน้ำมันนั้นกำลังดีดขึ้นกลับมาอย่างรวดเร็วนั้นเป็นที่น่าพอใจสำหรับกลุ่มโอเปกอย่างมาก ทางพี่ใหญ่ของกลุ่มอย่างซาอุดิอาระเบียและหลายประเทศในกลุ่มโอเปกจึงต้องการจะขยายเวลาในการลดกำลังการผลิตที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันนี้ออกไปจนถึงสิ้นปี หากเป็นแบบนั้นจริงราคาน้ำมันจะขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่ ๆ

เราคงไม่สามารถคาดเดาการตัดสินใจของโอเปกได้ แต่ยังมีอย่างอื่นที่เราพอวิเคราะห์ได้

หากกลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตต่อไปถึงสิ้นปีนั้นราคาน้ำมันจะขึ้นแน่ ๆ แต่ถ้าการประชุมมีมติที่จะคงแผนลดการผลิตเหมือนเดิมราคาน้ำมันก็จะโดนเทขายลงมาอย่างแน่นอน แต่ในการวิเคราะห์วันนี้เราจะขอถอดตัวแปรนี้ออกก่อนถึงแม้ว่ามันจะเป็นตัวแปรที่ใหญ่ที่สุดในตลาด

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้การวิเคราะห์น้ำมันนั้นจับต้องได้คือการวิเคราะห์จากมุมการใช้น้ำมันจริง ๆ

ตลาดน้ำมันนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน

1. ราคาน้ำมันดิบที่ขึ้นลง
2. ราคาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า
3. ราคาส่วนต่างของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป (ค่าการกลั่น)

เราคงต้องทำความเข้าใจความเชื่องโยงของตลาดทั้งสามก่อนถึงจะวิเคราะห์ต่อไปได้ โดยหากจะพูดถึงความรวดเร็วของราคาที่เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพตลาดที่ดีขึ้นนั้นเราจะไล่เรียงลำดับได้จาก 1. ไป 3.

เราจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่การใช้เริ่มแสดงสัญญาณว่าจะกลับมา 1. ราคาน้ำมันดิบ เป็นสิ่งแรกที่พุ่งขึ้นมาก่อน เพราะตลาดนี้เป็นตลาดที่เงินทุนเข้าถึงได้เร็วที่สุด กองทุนเก็งกำไรเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบ Futures ได้ พวกนักลงทุนรายย่อยต่างก็ใส่เงินเข้ามาผ่านกองทุนน้ำมันได้ ทำให้ราคานี้มีความเคลื่อนไหวได้เร็วที่สุด

ต่อมา 2. ราคาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า จะเป็นราคาที่สองที่ขยับเพราะเทรดเดอร์น้ำมันดิบทั่วโลกก็จ้องที่จะเก็งกำไรจากตลาดที่กำลังฟื้นกลับมา พอเห็นสัญญาณราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเทรดเดอร์น้ำมันดิบจึงกว้านซื้อเรือที่พร้อมส่งมอบน้ำมันในระยะสั้นเพื่อเก็งกำไร ทำให้ตอนนี้ส่วนต่างราคาล่วงหน้าที่เคยเป็น Contango ที่ลึกมากกำลังปรับตัวกลับไปเป็น Backwardation แล้ว อย่างที่ทางเพจได้วิเคราะห์ไปบ่อย ๆ

และแล้วสุดท้าย หากการใช้กลับขึ้นมาจริง ๆ เราจะเห็นว่า 3. ราคาส่วนต่างของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป (ค่าการกลั่น) จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ทยอยปรับขึ้น เพราะความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปจากปลายทาง เช่นการเดินทาง การขนส่ง การผลิตต่าง ๆ จะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น ไม่ใช่เพราะเงินทุนต่าง ๆ ในตลาดที่ไหลเข้าไป

แต่สิ่งที่น่าสนใจในตลาดตอนนี้คือ ค่าการกลั่นไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาตามราคาน้ำมันดิบ หรือราคาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า

อันนี้เป็นจุดที่น่าเป็นห่วงว่าเงินที่ไหลเข้ามาในตลาดและการเก็งกำไรของเทรดเดอร์น้ำมันดิบนั้นจะเป็นไปตามจริงไหม? เพราะถ้าสุดท้ายการใช้น้ำมันไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นได้จริง ๆ ราคาน้ำมันดิบก็จะต้องโดนเทขายลงไปใหม่

ผ่านมา 1 เดือนแล้วที่ราคาน้ำมันดิบและราคาซื้อขายล่วงหน้ากำลังปรับตัวสูงขึ้น ตลาดน้ำมันดิบหลายตลาดกำลังจะกลับตัวเป็น Backwardation แล้ว แต่ราคาค่าการกลั่นนั้นปรับตัวขึ้นมาน้อยมาก ๆ ! นี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดีเลยครับ

เหตุผลอาจจะเป็นไปได้สองทางคือ 1) การใช้ยังไม่ได้กลับมาเท่าที่คาดจริง ๆ หรือ 2) ตลาดอาจมีสต็อกเหลือล้นมากอยู่

แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลไหนก็ตามหากค่าการกลั่นยังไม่ดีขึ้นเรื่อย ๆ โรงกลั่นต่าง ๆ ก็จะต้องหยุดหรือลดการผลิตลงเพราะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างคุ้มค่า และสุดท้ายหากโรงกลั่นไม่ซื้อน้ำมันดิบ ความต้องการใช้น้ำมันดิบก็จะลดลง เทรดเดอร์น้ำมันดิบทั่วโลกก็ต้องขายเรือน้ำมันที่เก็งกำไรนั้นออกมา ตลาดก็จะกลับไป Contango มากขึ้นอีกครั้ง และเงินกองทุนต่าง ๆ ที่เก็งกำไรราคาน้ำมันไว้ก็จะโดนบีบให้เทขายออกมาอีกครั้งเพราะปัจจัยพื้นฐานไม่ได้ดีอย่างที่คาด

การที่ราคาน้ำมันจะขึ้นอย่างยั่งยืนได้นั้นจะต้องมากจากการที่ค่าการกลั่นเป็นตัวนำ

เราจะเห็นได้ว่าหากราคาน้ำมันดิบจะขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ นั้นราคาจะทรงอยู่ได้ไม่นานเลยเพราะมันเป็นปัจจัยในระยะสั้น แต่หากราคาจะทรงอยู่ได้นาน ๆ นั้นจะต้องเกิดจากค่าการกลั่นหรือการใช้น้ำมันปลายทางเป็นตัวดึง หรือเป็นที่รู้จักกันในคำว่า Demand Pull ถ้าเป็นแบบนี้ราคาน้ำมันก็จะอยู่ในระดับสูงได้นาน

สรุป – ราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นจะยังคงขึ้นอยู่กับการประชุมโอเปกเป็นหลัก รองลงมาคือการระบาดของไวรัสและการกลับมาเปิดเมืองหรือการเดินทางระหว่างประเทศ

แต่หากเราจะคงปัจจัยต่างๆด้านบนไว้ ค่าการกลั่นจะเป็นตัวแปรที่สำคัญมาก ๆ ต่อการที่ราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงได้นานแค่ไหน หากภายในเดือนนี้ค่าการกลั่นยังไม่ปรับตัวสูงขึ้นอีก เราอาจจะได้เห็นการเทขายอีกครั้งถึงแม้ทางโอเปกจะพยายามพยุงราคาไว้ก็ตาม

KP

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/108586193028066/posts/555527898333891/