ภูมิศาสตร์การเมืองโลกกับเทคโนโลยี 5G

เทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายยุคที่ 5 (5th Generation) หรือ 5G มีคุณสมบัติและประโยชน์ด้านความเร็ว ระยะเวลาการเชื่อมต่อไปปลายทาง ความเสถียร Bandwidth รวมถึงการรองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมโลกผ่านการส่งถ่ายข้อมูลมหาศาลอย่างรวดเร็ว แต่ประโยชน์นั้นทำให้เทคโนโลยี 5G เป็นสมรภูมิแห่งใหม่ในการแย่งชิงตำแหน่งมหาอำนาจโลกระหว่างสหรัฐฯ และจีน บทความนี้จะพิจารณาองค์ประกอบเทคโนโลยี 5G ความพร้อมของสหรัฐฯ และจีน รวมถึงผลกระทบภูมิศาสตร์การเมืองโลกในอนาคต

I. องค์ประกอบเทคโนโลยี 5G:

เทคโนโลยี 5G แบ่งการใช้งานเป็น 3 แกน

1. Enhanced mobile broadband (eMBB)

เพิ่มศักยภาพการรับ-ส่งข้อมูล ความเร็วสูงเพื่อตอบโจทย์การสื่อสารในอนาคตเช่น สตรีมวิดีโอความละเอียดสูง รวมถึงการทำงานบนข้อมูลผ่าน Cloud เพื่อโหลดภาพและข้อมูลทันทีที่ต้องการ

2. Massive machine type communications (mMTC) 

รองรับการเชื่อมต่อจำนวนมาก สามารถใช้งานอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) รวมถึงระบบ เซนเซอร์ ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ และทำให้สิ่งของในชีวิตประจำวัน สามารถส่งข้อมูลโดยไม่ต้องใช้ Wifi

3. Ultra-reliable and low latency communications (URLLC) 

การเชื่อมต่อที่เสถียรและตอบสนองไว เพื่อควบคุมอุปกรณ์ระยะไกลโดยไม่มีการดีเลย์ของภาพและเสียง สามารถปรับใช้ในระบบการศึกษา การแพทย์ รวมถึงการควบคุมยานพาหนะไร้คนขับ

แนวทางการดำเนินโครงการมักแบ่งเป็น 2 ช่วง

1.) Non-standalone (NSA) 5G คือการปรับใช้ระบบเครือข่าย4Gบนอุปกรณ์เชื่อมต่อเดิม แต่เพิ่มศักยภาพการรับ-ส่งข้อมูลของแกน eMBB

2.) Standalone (SA) 5G หรือ 5G เต็มรูปแบบ ที่ต้องใช้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการติดตั้งเสาอากาศและระบบรับส่งสัญญาณใหม่ เพื่อรองรับแกน mMTC และ URLLC ซึ่งการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นในช่วง SA-5G บนการปรับใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เพื่อควบคุมการนำส่งข้อมูลของแต่ละธุรกรรม

II. ความพร้อมของสหรัฐฯ และจีน:

ประเทศมหาอำนาจต่างพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐาน 5G เพราะนอกจากจะสามารถชี้นำแนวทางการสร้างและใช้เทคโนโลยีแล้ว หากรูปแบบของตนถูกรับเป็นมาตรฐาน รายได้จากสิทธิบัตร จะสามารถขับเคลื่อนวงจรการพัฒนาและรักษาความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของประเทศนั้นได้ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าจีน จากที่เคยถูกกีดกันการเป็นแกนหลักเพื่อกำหนด มาตรฐาน 4G ได้วาง 5G เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของชาติและเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้าน 5G ที่สุด ผ่านการจัดตั้งคณะทำงาน IMT-2020 5G Promotion Group เพื่อกำหนดมาตรฐาน 5G ได้ทันในค.ศ.2020 และมีแผนดำเนินการ NSA-5G ในปี 2562 ตามมาด้วย SA-5G ในปี 2563 ซึ่งประเด็นที่แสดงถึงความต้องการของจีนในการเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยี คือการวางเป้าหมายใช้งาน SA-5G เร็วกว่าสหรัฐฯ ถึง 5 ปี โดยมองความได้เปรียบของการเรียนรู้และทำตลาดก่อนใน 2 ประเด็น

1. การวางระบบ 5G ผ่านภูมิประเทศที่กว้างใหญ่จะทำให้ประเทศอื่น ที่รอความชัดเจนของมาตรฐาน 5G เห็นว่าการใช้คลื่นความถี่ต่ำ (ต่างจากสหรัฐฯ ที่มองคลื่นความถี่สูง) สำหรับการสื่อสารทั่วไปในแกน eMBB  มีประสิทธิภาพเพียงพอและทำให้เกิดการยอมรับในมาตรฐานของจีน เพื่อสร้างโอกาสขยายตลาดไป สภาพยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียตะวันออกเชียงใต้และ กลุ่มประเทศลาติน อเมริกา

2. สามารถทดสอบและปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งาน 5G ในแกน mMTC และ URLLC โดยจะทำให้พัฒนาการของเทคโนโลยีด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น IoT Big Data Smart City และ Artificial Intelligence เป็นไปอย่างก้าวกระโดดและสร้างความได้เปรียบทางนวัตกรรมและมีอิทธิพลเหนือประเทศบนเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiatives) ผ่านการควบคุมการส่งถ่ายข้อมูลมหาศาลในเครือข่ายตน

III. ผลกระทบภูมิศาสตร์การเมืองโลก:

ความทะเยอทะยานของจีนทำให้ The Five Eyes หรือกลุ่มประเทศที่มีข้อตกลงแบ่งปันสัญญาณทางการข่าว ที่รวมถึง สหรัฐฯ    สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ ทยอยออกมาตรการกีดกันผู้ประกอบการ 5G ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน เช่น Huawei และ ZTE โดยเริ่มจากรัฐบาลออสเตรเลียเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ได้ห้ามบริษัทออสเตรเลียใช้เทคโนโลยีจากบริษัท Huawei และ ZTE ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรที่กลับมาประเมินแนวทางการใช้ผู้ประกอบการ 5G จากจีนใหม่ ซึ่งหากดำเนินการออกมาตรการกีดกันเช่นออสเตรเลีย อาจทำให้ประเทศอื่นในสหภาพยุโรปดำเนินนโยบายตาม ส่วนสหรัฐฯ ท่ามกลางสงครามการค้ากับจีน ได้ออกหมายจับรองประธานและผู้บริหารฝ่ายการเงินของ Huawei เมื่อเดือนเมษายน ตามมาด้วยการกดดันให้แคนาดาจับกุมตัวในเดือนธันวาคม 2561 และคาดการณ์ต่อไปว่าจะมีคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาภายในปี 2562 ที่ให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์ ขึ้นบัญชีดำบริษัทที่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติซึ่งคาดว่า Huawei และ ZTE จะอยู่ในรายชื่อนั้น

หากภูมิศาสตร์การเมืองโลกดำเนินตามแนวโน้มปัจจุบัน สงครามเทคโนโลยีที่แบ่งค่ายที่ชัดเจนระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะทำให้พัฒนาการของเทคโนโลยี 5G ในภาพรวมชะลอตัวลงบนการประหยัดต่อขนาดของธุรกิจ (Economies of Scale) ที่ต่ำทำให้ต้นทุนอุตสาหกรรมสูงขึ้น และที่สำคัญประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องเลือกข้างว่าจะไปกับ แนวทาง 5G ของจีนบนต้นทุนเทคโนโลยีที่ต่ำแต่พอมีประสิทธิภาพ หรือเสี่ยงกับการตอบโต้ทางการค้าและการเมืองจากสหรัฐฯ

ผมมีความเห็นว่าจีนจะทำข้อเสนอ 5G พิเศษให้กลุ่มประเทศที่โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ตัดผ่าน เพื่อเป็นการคานอำนาจสหรัฐฯ และขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสงครามทางเทคโนโลยี 5G จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางภูมิศาสตร์การเมืองโลกจากนี้ไปครับ

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646678