เศรษฐกิจจีน

“เกี่ยวอะไรกับเรา” ฉบับนี้เป็นตอนที่ 3 และเป็นตอนสุดท้ายในการพิจารณาว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะส่งผลกระทบอย่างไรกับเอเชียรวมถึงไทย

ซึ่งผมขอสรุปอย่างสังเขปใน 2 ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือ การนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้าที่ลดลง และ การอ่อนค่าของเงินหยวน โดยประเมินความรุนแรงของผลกระทบผ่านการมองความเคลื่อนไหวของระบบเศรษฐศาสตร์มหภาคที่สำคัญดังต่อไปนี้

ดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (REER) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกเมื่อเทียบกับจีน

หากพิจารณาจากช่วงกลางปี 2558 จนถึงต้นปี 2559 พบว่ากลุ่มประเทศ Emerging Asia มีอัตราการ ลดลงของค่าเงินในระดับที่น้อยกว่า แต่ก็ใกล้เคียงกับจีนยกเว้น อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดียและ ฟิลิปปินส์ ที่มีการแข็งขึ้นของค่าเงินเมื่อเทียบกับจีน ซึ่งอาจทำให้กลุ่มประเทศดังกล่าว สูญเสียความได้เปรียบทางการค้า

ความเหมือนของผลิตภัณฑ์จากประเทศผู้ส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับจีน และการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจีน

ถึงแม้นโยบายเศรษฐกิจที่พึ่งพาการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักการนำเข้าของโลก แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจรวมถึงการผันนโยบายไปมุ่งเน้นการเติบโตผ่านการใช้จ่ายในประเทศทำให้โครงสร้างการนำเข้าสินค้าของจีนเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีสัดส่วนการนำเข้าของสินค้าพื้นฐานและสินค้าทุนลดลง แต่สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นและที่สำคัญในบางอุตสาหกรรมจีนได้พัฒนาศักยภาพขึ้นมาจนเป็นผู้ส่งออกได้เองผ่านการส่งเสริมให้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำกว่า เช่น เวียดนาม ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวทำให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าพื้นฐานและสินค้าทุนเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ไทย และอินเดีย รวมถึงกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงบนความเหมือนของผลิตภัณฑ์กับจีน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวันและเกาหลีใต้ อาจสูญเสียการเติบโตทางเศรษฐกิจจากเดิมที่มีจีนเป็นคู่ค้าหลัก

การขยายช่องทางแนวดิ่งเพื่อร่วมธุรกิจกับจีน และการเคลื่อนที่ของห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออก

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเราจะสังเกตเห็นการกระจายตัวของขั้นตอนการผลิตที่มาจากหลายประเทศ ก่อนจะประกอบเป็นสินค้าส่งออกของประเทศต้นทาง ซึ่งส่งผลให้นโยบายผลักเพื่อนบ้านให้เป็นยาจก (Beggar-Thy-Neighbor) หรือการเจตนาลดค่าเงินเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ทางการค้ามีผลกระทบเชิงลบที่ลดลง ซึ่งการที่ประเทศในเอเชียมีส่วนร่วมในขั้นตอนการผลิตสินค้าส่งออกของจีนในแนวดิ่งไม่ว่าจะเป็นในช่วงต้นน้ำหรือปลายน้ำอาจบรรเทาผลกระทบจาก เงินหยวนที่อ่อนค่า เนื่องจากราคาของสินค้าที่ปลายห่วงโซ่ มีราคาถูกลงและ อาจช่วยให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งอานิสงส์นี้ จะย้อนกลับไปหากลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าและวัตถุดิบให้จีนไปโดยปริยาย แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าการเคลื่อนที่ของห่วงโซ่มูลค่าโลกของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกจาก Emerging Asia ชะลอตัวลงไปอย่างมากจึงทำให้ผลบวกจากค่าเงินหยวนที่ลดลงมีจำกัด

จากการพิจารณาปัจจัยข้างต้นทั้งหมดในบริบทรวม พอจะสรุปได้ว่า ประเทศไต้หวัน อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย น่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบ จากการลดลงของการนำเข้า และค่าเงินหยวนของจีนมากที่สุดตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศดังกล่าวจะได้รับผลกระทบเชิงลบบ้าง แต่ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในช่วงที่ผ่านมาก็ยังอยู่ในแนวโน้มที่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ในประเทศที่เข้มแข็งผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถจัดการได้ทำให้แต่ละประเทศสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ผมมีมุมมองเชิงบวกถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างไรก็แล้วแต่เรายังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสสุดท้ายและ ปีหน้าครับ

ติดตามครบทั้ง 3 ตอนได้ที่
เศรษฐกิจจีน…ถึงขั้นวิกฤตหรือแค่ชะลอตัว? ตอน 1/3
เศรษฐกิจจีน…ถึงขั้นวิกฤตหรือแค่ชะลอตัว? ตอนที่ 2/3
เศรษฐกิจจีน…ถึงขั้นวิกฤตหรือแค่ชะลอตัว? ตอนที่ 3/3

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639280