kris-economy-of-india-03

“เกี่ยวอะไรกับเรา” ฉบับนี้ผมขอแบ่งปันมุมมองทิศทางเศรษฐกิจของอินเดีย โดยครั้งนี้เป็นตอนสุดท้ายจากบทความทั้งหมด 3 ตอนครับ

ตอนที่ 1 : จุดพลิกเศรษฐกิจอินเดีย

ตอนที่ 2 : เศรษฐกิจอินเดียเติบโตยั่งยืนหรือชั่วคราว

ตอน 3: เศรษฐกิจอินเดียแรงส่งอาเซียน?

I. ตัวเลขการค้าอินเดีย-อาเซียน

หากพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจระหว่างอินเดียกับอาเซียน พบว่าหลังจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มีผลบังคับใช้ในปี 2553 ยอดการค้าระหว่าง อาเซียน-อินเดียมีพัฒนาการที่เพิ่มขึ้น อย่างเห็นได้ชัดจากช่วงปี 2546-2547 ที่ 13,000 ล้าน เพิ่มขึ้นเป็น 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2556-2557 จนทำให้อาเซียนเป็นคู่ค้าลำดับที่4ของอินเดีย แต่ในทางกลับกัน อินเดียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 10 ของอาเซียน โดยประเทศในอาเซียนที่มียอดการค้ากับอินเดียมากที่สุดเรียงตามลำดับคือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม

เมื่อพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมจะพบว่า อินเดียขาดดุลการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน เรื่อยมาตั้งแต่ก่อนการเปิดเสรีทางการค้าโดยในปี 2557 อินเดียมีสัดส่วนการส่งออกไปยังอาเซียน ที่ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนถึง 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งลักษณะสินค้าส่งออกและนำเข้าส่วนใหญ่คือสินค้าพื้นฐาน เช่น น้ำมัน น้ำมันปาล์ม ถ่านอัดแท่ง เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การขาดดุลการค้าเรื่อยมาทำให้รัฐบาลอินเดียได้รับเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า การเปิดเสรีทางการค้ากับอาเซียนนั้นทำโดยไม่มีการวางแผนที่รอบคอบ แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บางอุตสาหกรรมก็มีพัฒนาการเชิงบวกโดยเน้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น เคมีเภสัช อุปกรณ์การขนส่ง กลุ่มโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก ถึงแม้พัฒนาการส่งออกสินค้ามูลค่าเพิ่มถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่สัดส่วนของการส่งออกสินค้าประเภทนี้ยังต่ำอยู่มาก และบนการเพิ่มสัดส่วนที่ช้านี้ไม่สามารถทำให้อินเดียบรรลุเป้าหมายของนโยบายปฏิบัติการตะวันออก (Act East Policy) ในการขยายตลาดกลุ่มประเทศอาเซียนได้อย่างแน่นอน

II. อุปสรรคของนโยบายปฏิบัติการตะวันออก

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโจทย์ของนโยบายปฏิบัติการตะวันออกเป็นความท้าทายของรัฐบาลอินเดียอย่างมาก เพราะความสำเร็จนั้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออินเดียสามารถแก้ปัญหาสำคัญไปพร้อมๆกันถึง 4 เรื่องคือ

1. การสร้างความสัมพันธ์ทางการเมือง – ซึ่งจะเห็นได้การเยือนประเทศต่างๆในอาเซียนของนายก นเรนทระ โมที ตลอดช่วงเวลา3ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดได้มีการเยือนไทยในเดือนพฤศจิกายนปี2559

2. การสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า – ซึ่งเป็นที่มาของ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ที่เป็นความสำเร็จในยุค ของ นายก มานโมฮันซิงห์

แต่ปัญหาที่อินเดียยังแก้ไม่ตกได้แก่ 2 เรื่องหลังคือ

3. การพัฒนาศักยภาพประเทศด้านอุตสาหกรรม – ซึ่งเป็นความท้าทายที่ผมได้กล่าวถึงในบทความอินเดียตอนที่2 และได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากอินเดียต้องการที่จะขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของเศรษฐกิจโลกจะต้องมีการปฎิรูปอุตสาหกรรมของประเทศให้ได้ขนาดและมาตรฐานที่เพิ่มขึ้น ผ่านการปรับตัวอย่างเร่งด่วนจากการเป็นสังคมเกษตรกรรมมาสู่การมาเป็นสังคมที่พึ่งอุตสาหกรรม และการบริการ

4. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสามารถเข้าสู่ตลาดอาเซียน – ปัจจุบันการส่งออกสินค้าของอินเดียทั้งหมดกว่าครึ่งหนึ่งยังต้องผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งไม่เพียงพอหากอินเดียต้องการบรรลุศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แท้จริง อินเดียจึงได้มีการวางแผนลงทุนในโครงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบคาลาดัน (Kaladan Multi – Modal Transit Transport Project) ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องการจะเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างอินเดีย และพม่าทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อเป็นช่องทางหลักในติดต่อกับตลาดอาเซียน รวมทั้งโครงการการปรับปรุงเส้นทางการขนส่งสินค้าทางบกตามแนวระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-เมียนมา-ไทย (India-Myanmar-Thailand Economic Corridor : IMT) แต่การที่อินเดียมีระบบการปกครองแบบ 2 ระบบ (Dual Polity System) ซึ่งมีการปกครองทั้งจากส่วนกลาง และการปกครองระดับมลรัฐ ทำให้การวางแผนและการดำเนินงานระหว่างรัฐบาลทั้งสองระดับ เป็นไปด้วยความยากลำบากจึงทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการสร้างถนนหลายส่วน เกิดความล่าช้าจากการขาดการประสานงานที่ดีของการกำหนดนโยบายจากรัฐบาลกลาง และการเบิกจ่ายงบเพื่อดำเนินงานของมลรัฐ จนทำให้โครงการในภาพรวมที่เดิมกำหนดจะแล้วเสร็จในปี2559 ถูกขยับออกไปเป็นปี2563 ซึ่งหลายฝ่ายยังไม่มั่นใจว่าการขยับเป้าหมายในครั้งนี้จะเพียงพอเพื่อให้โครงการสำเร็จผลหรือไม่

III. ความสำคัญของอินเดียต่อเศรษฐกิจอาเซียนในระยะยาว

จากข้อมูลข้างต้น ผมมีความเห็นว่าอินเดียคงจะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตอันใกล้ไม่ได้ เพราะสิ่งที่พอมองได้ว่าเป็นความสำเร็จในปัจจุบัน มีเพียงการสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองเท่านั้น ซึ่งอินเดียยังไม่สามารถนำเอาศักยภาพพื้นฐานที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ทำให้เกิดโอกาสทางการค้าที่ยั่งยืนได้หากยังไม่แก้ปัญหาการวางกลยุทธ์และการดำเนินแผนยุทธศาสตร์ชาติผ่านระบบ 2 รัฐอย่างไร้รอยต่อให้สำเร็จ อย่างไรก็แล้วแต่ข้อสรุปนี้เป็นเพียงการประเมินข้อมูลบนสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน หาใช่เป็นการทำนายอนาคตที่แน่นอน ซึ่งเราคงต้องติดตามผลงานของนายก นเรนทระ โมที ต่อไปว่าจะสามารถพลิกสถานการณ์นี้ได้หรือไม่

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640145