kris-exchange-currency-future

ระบบปริวรรตเงินตราตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมานั้น ไม่ได้หนีจากข้อเท็จจริงข้างต้น เพียงเปลี่ยนตัว “เจ้ามือ” หรือ “ผู้มีอำนาจ” เท่านั้น

“เกี่ยวอะไรกับเรา” ฉบับนี้ผมขอแบ่งปันมุมมอง อนาคตระบบปริวรรตเงินตรา บนความตื่นตัวและการขยายข่าวผ่านสื่อ ของเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) โดยบทความนี้ จะไม่อธิบายถึงหลักการของนวัตกรรมในเชิงลึก แต่เป็นการมองอดีต เพื่อคาดเดาอนาคตว่า เงินดิจิทัลจะถือเป็น นวัตกรรมก่อกวน (Disruptive Innovation) ได้หรือไม่

I. ระบบปริวรรตเงินตรา อดีตถึงปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ของการค้าขาย ได้เปลี่ยนจาก “ระบบ ของแลกของ” (Barter) มาเป็นการแทนค่าสิ่งที่เรียกว่า “เงิน” ตั้งแต่ก่อนคริสตกาล โดยมีพัฒนาการจากหอยเบี้ย เหล็ก ทอง จนเป็นระบบเหรียญ และธนบัตร แต่ปัญหาของการมีเงินหลายประเภท ทำให้การค้าไม่สะดวก จนต้องมีตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเงินแต่ละประเภท และเมื่อมนุษยชาติมีปฏิสัมพันธ์ผ่านการค้ามากขึ้น สัญชาตญาณในการครอบครองสิ่งที่ตนเองไม่มี ผลักดันให้เกิดการสร้างจักรวรรดิที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรม และเป็นต้นแบบในการบังคับใช้ระบบการเงินของผู้มีอำนาจมาเป็นสินทรัพย์อ้างอิงเรื่อยมา จากจักรวรรดิโรมันจนถึงยุคล่าอาณานิคม และปัจจุบันคือกลุ่มประเทศมหาอำนาจ

โดยระบบปริวรรตเงินตราตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมานั้น ไม่ได้หนีจากข้อเท็จจริงข้างต้น เพียงเปลี่ยนตัว “เจ้ามือ” หรือ “ผู้มีอำนาจ” เท่านั้น

Bimetallism ใช้ทั้งเงินและทองมาเป็นมาตรฐานต่อหน่วย ซึ่งผู้มีอำนาจขณะนั้น คือ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร

Gold standard ใช้ทองเป็นสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งนำโดยสหราชอาณาจักร

Anchored dollar standard เป็นผลมาจากการประชุม Bretton Woods โดยเป็นการตกลงระหว่างสหรัฐและกลุ่มประเทศ G10 ในการผูกค่าเงินตัวเองกับดอลลาร์ ซึ่งการแลกดอลลาร์ จะถูกเปลี่ยนเป็นทอง

ปี 2514 สหรัฐประกาศยกเลิกการแปลงค่าของดอลลาร์เป็นทอง จนเป็นที่มาของ ระบบเงิน Fiat คือ การที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดค่าเงินในการแลกเปลี่ยน แต่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง หรือการพิมพ์แบงก์ และกลายเป็นระบบปริวรรตเงินตราสากลปัจจุบัน ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการสร้างหนี้ที่ขาดเสถียรภาพ

ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สมการของเงินตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ ต้องเป็น 1. สื่อกลางการแลกเปลี่ยน 2. แหล่งสะสมมูลค่า 3. หน่วยวัดมูลค่า จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ ผู้มีอำนาจในเวลานั้นกำหนดให้ประชาชน และระบบเศรษฐกิจโดยรวมยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว

II. บทบาทเงินดิจิทัลในระบบปริวรรตเงินตราอนาคต

Bitcoin เป็นหนึ่งในรูปแบบของเงินดิจิทัล ซึ่งบางคนมองว่า เป็นนวัตกรรมที่จะมาก่อกวนระบบการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศที่ใช้ในปัจจุบัน โดยมีแนวคิดหลักในการลดบทบาทของคนกลาง (Centralized Network) ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือสถาบันการเงินผ่าน Block Chain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้บันทึก และอนุมัติข้อมูลแบบรายการเดินบัญชี (Distributed Ledger)

โดยทุกข้อมูลจะเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ซึ่งการสร้างกลุ่มข้อมูล (Block) เพื่อบันทึกและอนุมัติข้อมูลใหม่เข้าไปใน Block Chain ได้ จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากทั้งเครือข่าย (Consensus Network) ก่อน ถึงจะสร้างข้อมูลในรูปของ Block ใหม่เข้าไปในเครือข่ายได้ ธุระกรรมที่ไม่ผ่านคนกลางนี้จึงเป็นที่มาของความโปร่งใส รวดเร็ว บนต้นทุนที่ลดลง ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มเสรีนิยม กลุ่มต่อต้านทุนนิยม รวมถึงกลุ่ม Gen Y หรือ Millennials

แม้ Bitcoin จะมีคุณสมบัติของความเป็นเงินตามหลักเศรษฐศาสตร์ และมีแนวคิดดีมีประสิทธิภาพ แต่มีข้อจำกัดหลายด้าน ที่ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ เพราะรัฐบาลของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ จะไม่ยอมรับระบบที่ ไม่สามารถทำการเก็บภาษี ไม่สามารถควบคุมปริมาณเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนรวมถึงการจัดการดอกเบี้ยได้ ดังนั้นการขาดอำนาจในการบังคับใช้กับประชาชน และระบบเศรษฐกิจโดยรวมจะทำให้ Bitcoin เป็นได้เพียงช่องทางชำระเงิน และการลงทุนทางเลือกสำหรับคนบางกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม เงินดิจิทัลในบริบทรวม อาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทยอยปรับสื่อการแลกเปลี่ยนจากธนบัตรเป็นเงินดิจิทัลโดยใช้เทคโนโลยี Block Chain แต่สิ่งที่จะแตกต่างจากเงินดิจิทัลทั่วไปคือ ธนาคารกลางจะมีสิทธิพิเศษในการสร้าง หรือลบบัญชี แทนการตรวจสอบข้อมูลจากทั้งเครือข่าย

รวมทั้งกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดิจิทัลและธนบัตรของธนาคารกลางบนอัตราที่ 1:1 โดยกระจายอำนาจในการทำธุรกรรมให้กับผู้เล่นในระบบเดิม เช่น ธนาคาร แต่ยังคงอุปทานไว้ที่ส่วนกลาง จึงถือเป็นการคงระบบปริวรรตเงินตราแบบเดิม เพียงแค่ปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความสะดวก และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่ทางกลับกันอาจทำให้การแทรกแซง และตรวจสอบจากรัฐบาลง่ายขึ้นบนความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่ลดลง หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น คงเป็นเรื่องของอนาคตอีกสักระยะหนึ่งครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640440