ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกไตรมาส 4 2561

ไตรมาสสุดท้ายของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการคาดการณ์แนวโน้มภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกของปีถัดไป

บทความนี้จะพิจารณา 4 ปัจจัยเสี่ยงรวมถึงผลกระทบในระยะสั้นเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้า

I.นโยบายการค้าสหรัฐฯ:

ประเด็นหลักคงหนีไม่พ้นสงครามการค้ากับจีนซึ่งดูเหมือนจะเป็นหนังยาวที่สหรัฐฯ คงเดินเกมส์ตามคำขู่ในการเก็บภาษีสินค้าจีน วงเงินสองแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนมาตรการเพิ่มเติมที่อาจครอบคลุมสินค้าจีนทุกประเภทคงต้องรอความชัดเจนหลังการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายน อีกประเด็นคงเป็นเรื่องกำแพงภาษีรถยนต์ซึ่งกลุ่มประเทศ NAFTA น่าจะเอาตัวรอดได้ถึงแม้บรรยากาศจะดูมีความเสี่ยง ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีโอกาส 50/50ในการต่อรองกับสหรัฐฯ แต่ในทางกลับกัน สหภาพยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีคงจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากและน่าจะโดนภาษีรถยนต์เพิ่มจากสหรัฐฯในปีหน้า

II. อุปทานน้ำมันโลก:

อุปทานน้ำมันคงจะตึงตัวต่อไป หลังจากบทลงโทษทางการค้ากับอิหร่านมีผลกลับมาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งสหรัฐฯ จะกดดันให้ซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันออกมาพยุงอุปทานโลก ถึงแม้ซาอุฯ จะมีอุปทานสำรองเหลืออยู่แต่ก็อาจไม่มากพอหากมีวิกฤติเพิ่มในเวเนซุเอลาหรือลิเบีย ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันคงขยับสูงขึ้นในปีหน้า โดยราคาน้ำมันเบรนท์อีก 6 เดือนจากนี้น่าจะอยู่ในกรอบ 85 – 90 เหรียญต่อบาร์เรล แต่มีโอกาสขยับสูงกว่านี้หากพบว่ารัฐบาลซาอุฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวของนาย Jamal Khashoggi และมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของนานาชาติจนทำให้ซาอุฯ ตอบโต้โดยการลดกำลังการผลิตน้ำมันลง

III. เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และยุโรป:

ความกังวลต่อตลาดเกิดใหม่ บนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าน่าจะจำกัดวงเฉพาะกลุ่มประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบและมีหนี้นอกประเทศที่สูง เช่น โปแลนด์ อินโดนีเซีย อินเดีย บราซิล เม็กซิโก โดยเฉพาะตุรกีและอาร์เจนตินา แต่ประเทศอื่นที่เศรษฐกิจยังเข้มแข็งและมีดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกเช่น ไทย และเกาหลีใต้มีความเสี่ยงจากเงินทุนย้อนกลับต่ำเพราะตลาดในประเทศได้รับรู้ความเสี่ยงไปแล้ว และเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ บริหารอัตราดอกเบี้ยจนสมดุล เงินทุนต่างประเทศน่าจะกลับเข้ามาใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตต่อไป

ส่วนยุโรปมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะเป็นอันดับสองของยุโรปจากการเข้ามาของรัฐบาลประชานิยม รวมถึงผลของ Brexit ที่ดูเหมือนไม่มีทางออกที่ดี โดยสุดท้ายอาจทำให้สหราชอาณาจักรแตกจนเหลือเพียงอังกฤษ ถึงอย่างไรก็ตามกลุ่มประเทศเสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ก็ไม่น่าจะฉุดภาพรวมอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเพราะขนาดของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วมีขนาดใหญ่และกำลังส่งที่แรงกว่า

IV. นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ:

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และ เกาหลีเหนือคาดว่าจะไม่มีความคืบหน้าแต่ก็จะไม่ถึงขั้นล้มโต๊ะเจรจา ซึ่งอาจมีการกดดันและข่มขู่ไปมาตามสถานการณ์แต่คงไม่กลับไปเป็นการเผชิญหน้าทางการทหารอีก โดยปัจจัยบวกที่พยุงสถานการณ์ไว้คือแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ที่ดีขึ้นตามลำดับ

ส่วนความสัมพันธ์กับรัสเซียยังตกต่ำลงเรื่อยมาจากวิกฤตการณ์ไครเมีย พ.ศ. 2557 จนรัสเซียถูกพักสถานะสมาชิกกลุ่ม G8 ตามมาด้วยสงครามตัวแทน (Proxy War)ในซีเรีย รวมถึงการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ พ.ศ. 2559 ซึ่งถึงแม้ท่าที ทางการทูตระหว่างทรัมป์และปูตินดูเหมือนเป็นมิตรโดยนายทรัมป์ต้องการที่จะมีความสัมพันธ์เชิงธุรกิจต่างตอบแทน กล่าวคือ อะไรดีก็รับไว้ อะไรไม่ดีก็คัดค้าน แต่แรงกดดันภายในพรรคริพับลิกัน และสภาคองเกรสทำให้นโยบายรัสเซียของรัฐบาลชุดนี้มีความรุนแรงกว่ารัฐบาลโอบามาอยู่พอสมควร โดยล่าสุดมีความพยายามจาก วุฒิสภาสหรัฐฯในการนำเสนอร่างรัฐบัญญัติ Defending American Security from Kremlin Aggression Act of 2018 เพื่อตอบโต้การแทรกแซงการเลือกตั้งจากรัสเซีย โดยต้องการตัดรัสเซียออกจากวงจรเศรษฐกิจโลก ผ่านการคว่ำบาตร ธนาคารรัสเซียจากตลาดเงินรวมถึงการสั่งระงับการดำเนินการทางทรัพย์สิน (Asset Freezing) ของบริษัทยักษ์ใหญ่และนักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับเครมลินและปูติน

จากข้อสังเกตข้างต้นจะพบว่าภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกมีความท้าทายอีกมากที่เราต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะมาจากประเด็นราคาน้ำมันและนโยบายการค้าสหรัฐฯ เป็นหลักครับ

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645795