บทเรียนผู้นำจาก จอห์น แมคเคน

การเสียชีวิตของ จอห์น แมคเคน สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐๆ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ผมกลับมาศึกษาบริบทของภาวะผู้นำ ในอดีตเทียบกับปัจจุบัน

ซึ่งดูเหมือนว่ามีนัยยะที่แตกต่าง บทความนี้จะพิจารณา 4 บทเรียนผู้นำจาก แมคเคน เพื่อเชิดชูเกียรติ และชี้ให้เห็นว่า ชัยชนะไม่ใช่บทพิสูจน์ของการเป็นผู้นำเสมอไป

I. ความเห็นที่แตกต่างไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความขัดแย้งส่วนตัว

ความประทับใจแรกและเป็นที่มาของบทความนี้มาจาก การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐๆ พ.ศ. 2551 ของ แมคเคน ที่รัฐ มินนิโซตา ซึ่งการแข่งขันณเวลานั้น มีการสาดโคลน เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ สัญชาติ ศาสนา ของ โอบามา เนื่องจากเป็นเดิมพันสูงบนโอกาสการมีประธานาธิบดี ผิวดำคนแรก โดยในวันนั้นมีผู้สนับสนุน แมคเคน กล่าวโจมตี โอบามา ว่า เป็นคนอาหรับ นัยยะว่าเป็นเชื้อสายของผู้ก่อการร้าย แมคเคน ทั้งที่มีคะแนนตามห่าง และอาจใช้ข้อจำกัดของเชื้อชาติ (Race Card) เพื่อ สร้างคะแนนตีตื้นมา กลับดึงไมค์จากผู้สนับสนุน และกล่าวว่าโอบามาคือ คนอเมริกันที่รักชาติ รักครอบครัว เพียงแต่มีแนวทางพัฒนาการเมืองที่แตกต่างจากเขาเท่านั้นเอง

II. ผู้นำที่คนพร้อมตาม ต้องกล้ายอมรับผิดและปรับตัว

หนึ่งในเหตุการณ์ที่แมคเคนเสียใจและรู้สึกผิดที่สุด มาจาก การสมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน ใน รัฐเซาท์แคโรไลนา เพื่อสมัครเข้ารับการเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ. 2543 โดยรัฐบาลท้องถิ่น ยังใช้ธงสมาพันธรัฐ (Confederate Flag) ในสถานที่ราชการ ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียง ถึงความเหมาะสม แมคเคน ทั้งที่เชื่อว่าธงควรถูกเลิกใช้ เพราะมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเหยียดสีผิวและชูระบบทาส แต่เมื่อถูกถามความเห็น กลับตอบไปกลางๆว่าเข้าใจเหตุผลของทั้งสองฝ่าย เพราะเกรงว่าจะกระทบฐานเสียงตน

ภายหลังเมื่อมีนักข่าวไปสัมภาษณ์ ถึงเหตุการณ์วันนั้น แมคเคน ตอบว่า เขาไม่เพียงแต่ไม่ซื่อสัตย์กับตัวเอง แต่ได้ประพฤติตัวเช่นคนขลาด ที่เอาผลประโยชน์ตัวไว้เหนือชาติ เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ย่อมผิดพลาดได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่น่าจะสนับสนุน ผู้นำที่ยอมรับผิดมากกว่าผู้นำที่โยนความผิด โทษคนอื่น หรือ ปกปิดความผิดตน

III. ความถูกต้องควรอยู่เหนือคำวิพากษ์

ระบบประกันสุขภาพภายใต้กฎหมายคุ้มครองคนไข้และการรักษาพยาบาลที่พอจ่ายได้ (Patient Protection and Affordable Care Act) หรือ “โอบามาแคร์” เป็นกฎหมายที่ มีข้อดีในการลดสัดส่วนคนอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพแต่ถูกมองว่าในระยะยาวจะไม่ยั่งยืน ซึ่งกลายเป็นประเด็นสำคัญของการเลือกตั้ง พ.ศ. 2559 และทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ดำเนินการยกเลิกโอบามาแคร์ อย่างเร่งรีบทั้งที่ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าเดิม

แผนการยกเลิกโอบามาแคร์มีจุดเปลี่ยนสำคัญในวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 เมื่อวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติไม่เห็นชอบในการเพิกถอน ด้วย คะแนน 55 – 45 เสียง โดย 1 ใน 55 นี้เป็นเสียงของ แมคเคน ซึ่งได้รับการวิจารณ์และต่อว่าจากสมาชิกพรรคริพับลิกันอย่างกว้างขวาง ว่ากระทำการขัดต่อมติพรรคอย่างร้าย แต่แมคเคนให้เหตุผล อย่างหนักแน่นว่า วุฒิสภามีความรับผิดชอบ ต่อชาวอเมริกัน ในการนำเสนอระบบประกันสุขภาพที่พอจ่ายได้อย่างยั่งยืน การผลักดันกฎหมายอย่างเร่งรัดและขาดการไตร่ตรอง เช่น พรรคเดโมแครตในสมัย โอบามาแคร์ ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ดังนั้น กฏหมาย ฉบับนี้ควรถูกส่งกลับไปยังคณะกรรมาธิการที่มีตัวแทนจาก ทั้งสองพรรคเพื่อพิจารณาให้ได้ระบบประกันสุขภาพที่คู่ควรชาวอเมริกัน

IV. ยุติธรรมเหนืออภิสิทธิ์

แมคเคนเป็นนักบิน สมัยสงครามเวียดนามที่ถูกยิงตกและเป็นเชลยศึกของฝ่ายตรงข้าม เมื่อเวียดนามเหนือ ทราบว่า พ่อของแมคเคน เป็นพลเรือเอกของกองทัพสหรัฐๆ จึงได้ยื่นข้อเสนอว่าจะปล่อยตัว แมคเคน ก่อนเชลยศึก คนอื่น เพื่อการประชาสัมพันธ์เชิงบวก แต่ แมคเคน ปฎิเสธที่จะลัดคิวเพื่อเป็นแบบอย่างโดยไม่ให้เสียเกียรติภูมิของครอบครัวและประเทศ จนสุดท้ายถูกทรมานและขังเดี่ยวรวมระยะเวลากว่า5ปีครึ่ง

เมื่อพิจารณาเส้นทางการเป็นผู้นำของ แมคเคน จะพบว่าเขาไปไม่ถึงเป้าหมายสูงสุดในแต่ละบทบาท โดยเกษียณราชการทหาร ในยศ นาวาเอก ด้านการเมือง ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภารัฐแอริโซนาตั้งแต่ พ.ศ.2529 ต่อมาได้ลงสมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อสมัครเข้ารับการเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ. 2543 แต่พ่ายให้กับ จอร์จ บุช และในปี พ.ศ. 2551 กลับมาลงสมัครอีกครั้งถึงจะได้เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันแต่สุดท้ายก็ผ่ายแพ้แก่ บารัก โอบามา ถึงกระนั้น ชื่อเสียงของแมคเคนก็เป็นที่กล่าวขวัญเสมอไม่เพียงในสหรัฐๆแต่ในระดับนานาชาติ ถึงแบบอย่างของผู้นำที่ดีบนคุณสมบัติที่ได้ชี้แจงข้างต้น

หากมองถึงความคาดหวังของผู้นำยุคปัจจุบัน ที่มักจะทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ ผมยังมีความหวังว่า ความสำเร็จตามเป้าหมาย ไม่ใช่บทพิสูจน์ของการเป็นผู้นำเสมอไป แต่สิ่งสำคัญกว่าคือแนวทางการได้มาซึ่งชัยชนะนั้นเอง

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645609