ทางออกวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

ความเสี่ยงสงครามในคาบสมุทรเกาหลีมีมาโดยตลอด หลังการสิ้นสุดสงครามปี 1953 จากนโยบายรัฐบาลเปียงยางที่คงเดิมในการรวมประเทศเกาหลีเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ผู้นำตระกูลคิม ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมาได้สั่งสมอาวุธร้ายแรงรูปแบบต่างๆมากมาย ทั้งอาวุธชีวภาพและอาวุธนิวเคลียร์เพื่อการต่อรองและข่มขู่สหรัฐที่หนุนหลังเกาหลีใต้ ขาดเพียงความสามารถในการนำส่งขีปนาวุธข้ามทวีปไปสู่เป้าหมาย แต่พัฒนาการนั้นดูเหมือนใกล้เป็นความจริง จนทำให้เกิดประเด็นคำถามว่าสหรัฐและพันธมิตรมีทางเลือกในการดำเนินการต่อไปอย่างไร

I. การใช้กำลังทางทหาร

ทางเลือกนี้มีโอกาสสำเร็จต่ำถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะองค์ประกอบมากมายที่ต้องลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการได้รับความชอบธรรมจากนานาประเทศ โดยเฉพาะ จีน รัสเซีย และ เกาหลีใต้ ต้องให้ไฟเขียวในการปฎิบัติการบนการโจมตีอย่างฉับพลันผ่านการเตรียมกำลังคนและยุทโธปกรณ์ที่มากกว่าช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียโดยไม่ให้เกาหลีเหนือไหวตัว ทั้งๆที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อด้านการข่าวและยังต้องเข้าถึงฐานอาวุธนิวเคลียร์ทุกจุดในเวลาเดียวกัน เพื่อป้องกันการยิงตอบโต้ไปยังสหรัฐและพันธมิตร ซึ่งปัจจุบันไม่มีระบบต่อต้านขีปนาวุธที่สามารถให้ความมั่นใจได้ 100%

ปฎิบัติการดังกล่าวยังต้องมีอัตราการสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินที่พอยอมรับได้ แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถประเมินตัวเลขที่แน่นอน และถึงแม้ปฎิบัติการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ ผลลัพธ์ที่ตามมาจะสร้างปัญหาระยะยาวให้กับสหรัฐและพันธมิตรในการปกครองพื้นที่พร้อมประชากรกว่า 25 ล้านคน ที่ต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การจัดระเบียบสังคมรวมทั้ง การตั้งรัฐบาล

II. มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐและพันธมิตรตลอด 10 ปีที่ผ่าน มาไม่ได้ส่งผลกระทบกับเกาหลีเหนือสักเท่าใดเพราะในช่วงเวลาเดียวกันเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 4%ต่อปี ซึ่งการเป็นประเทศปิดที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางการค้าอื่นใดนอกจากจีน ทำให้มาตรการดังกล่าวไม่สามารถสร้างแรงกดดันเพียงพอที่นำมาสู่การเจราจาได้ อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้โอกาสในการเจรจาเกิดขึ้นยากคือ การล้างสมองอย่างเป็นระบบของผู้นำตระกูลคิมในการทำให้ประชาชนศรัทธาเผ่าพันธุ์ที่บริสุทธิ์ของผู้นำจากเทือกเขาเพ็กตูในตำนาน ที่พร้อมจะต่อสู้และไม่ยอมอ่อนข้อกับผู้รุกราน โดยเฉพาะสหรัฐ จนทำให้โอกาสคล้อยตามข้อเสนอในการเจรจาเป็นไปได้ยาก เพราะอาจทำลายภาพลักษณ์ความเข้มแข็งของ คิม จ็อง-อึน

III. การลอบสังหาร

เป็นอีกทางเลือกที่อาจได้รับการพิจารณา แต่ในความเป็นจริงมีความละเอียดอ่อน เพราะการเป็นสังคมปิดของเกาหลีเหนือจะทำให้การเข้าถึงตัวคิม จ็อง-อึน เป็นไปได้ยาก โดยโอกาสคงต้องมาจากการว่าจ้างคนวงในของตระกูลคิมเอง และถึงแม้ปฏิบัติการจะสำเร็จ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่ารัฐบาลเปียงยางได้กำหนดแนวทางการโต้ตอบล่วงหน้าอย่างไรหากผู้นำถูกลอบสังหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การยิงขีปนาวุธโต้ตอบทันทีก็เป็นได้ โดยสหรัฐและพันธมิตรคงไม่กล้าเสี่ยง

IV. การยอมรับและปรับตัวตามสถานการณ์

หากพิจารณาทางเลือกข้างต้นจะพบว่า สหรัฐและพันธมิตรไม่มีทางออกที่ดีไปกว่าการยอมรับเกาหลีเหนือในฐานะมหาอำนาจนิวเคลียร์ เพราะถึงแม้จำนวนประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์จะเพิ่มจากเดิมที่มีเพียงสหรัฐใน ปี 1945ซึ่งขณะนี้คาดการณ์ว่ามี 9ประเทศ คือ รัสเซีย (1949) สหราชอาณาจักร (1952) ฝรั่งเศส (1960) จีน (1964) อิสราเอล (1966) อินเดีย (1974) ปากีสถาน (1998) และ เกาหลีเหนือ (2006) แต่ 70 ปีหลังการใช้ระเบิดปรมาณูครั้งสุดท้ายที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ สงครามนิวเคลียร์ก็ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งดูเหมือนว่า ทฤษฎี MAD (Mutually Assured Destruction) ที่หากคู่กรณีใดมีอาวุธนิวเคลียร์ต่างฝ่ายก็จะไม่สามารถยับยั้งการทำลายล้างซึ่งกันและกัน น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่มนุษยชาติยังปลอดภัย

แต่อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถชะล่าใจกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ เพราะมหาอำนาจนิวเคลียร์ส่วนใหญ่ล้วนมี ปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งแตกต่างจากเกาหลีเหนือ ข้อเท็จจริงนี้ อาจทำให้การยับยั้งชั่งใจ รวมทั้งการประเมินสถานการณ์ของเกาหลีเหนือไม่รอบคอบจนทำให้เหตุการณ์บานปลายได้

ดังนั้น สหรัฐและพันธมิตรควรดำเนินนโยบายตามทฤษฎีข่มขู่เพื่อยับยั้ง (Deterrence) ผ่านการบริหารแสนยานุภาพทางการทหารในคาบสมุทรเกาหลี โดยอาจนำเอามาตรการติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช เมื่อปี 1991 กลับมาใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการตอบโต้อย่างฉับพลันและรุนแรง แต่ในขณะเดียวกัน สหรัฐควรหาช่องในการชะลอการพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ผ่านการใช้พระเดชพระคุณ (Carrot and Stick) เพื่อโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือล้มเลิกโครงการในที่สุด

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/642648