การลงทุนในของรัก ของสะสม

“เกี่ยวอะไรกับเรา” ฉบับนี้ผมขอแบ่งปัน มุมมอง การลงทุนที่ได้รับการกล่าวถึงมากในช่วง 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนหลายท่าน อาจมีข้อสงสัยถึงแนวทางและผลสำเร็จของการลงทุนในของรัก ของสะสม (Passion Investment) ว่าคืออะไร และทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ โดยบทความนี้ถือเป็นเพียงการแบ่งปันความคิดและประสบการณ์ หาใช่ข้อสรุปหรือสูตรสำเร็จของการลงทุนประเภทนี้แต่อย่างใด

I. การลงทุนในของรัก ของสะสม?

การลงทุนในของรัก ของสะสม ถือเป็นแนวโน้มการลงทุนที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนมั่งคั่งที่ผันความสนใจส่วนบุคคลในงานอดิเรก มาสู่การบริหารสินทรัพย์อย่างเป็นระบบโดยมุ่งหวังการตอบสนองความสุขทางกายและใจจากการครอบครองสินทรัพย์ พร้อมกับเปิดโอกาสการสร้างผลกำไรหากมีจังหวะ ซึ่งปัจจุบันการลงทุนลักษณะนี้ มีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ นาฬิกา ไวน์ งานศิลปะ เครื่องประดับ และเฟอร์นิเจอร์โบราณ

โดยเสน่ห์ของสินทรัพย์แต่ละประเภท มีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่หากพิจารณาในภาพรวม จะพบว่ามี มาตรฐานชี้วัดทางคุณค่า ที่ใกล้เคียงกันคือ

  1. ความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ และมีคุณภาพ
  2. ผู้ผลิตหรือผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ยอมรับโดยสากล
  3. การมีอุปสงค์ที่มากกว่าอุปทาน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ หากของรัก ของสะสมใดเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ มักจะถือว่าเหมาะกับการลงทุน

II. ควรเริ่มต้นอย่างไร?

ควรเริ่มต้นจากความชอบ และศึกษาหาความรู้ในสินทรัพย์นั้นอย่างจริงจัง จนเข้าใจลึกซึ้ง ไม่ใช่ผิวเผิน ซึ่งหลักการพื้นฐานของ การลงทุนในของรักของสะสม ไม่ต่างจากการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วไปโดยเริ่มจากการรู้จักตัวเอง กำหนดเป้าหมาย เข้าใจความเสี่ยง เข้าถึงข้อมูล และการรู้จังหวะลงทุน แต่นั่นเป็นเพียง เงื่อนไขพื้นฐาน เพราะหากเป้าหมายของผู้สะสมคือการมุ่งหวังกำไร การลงทุนประเภทนี้ยังมีความซับซ้อนเพิ่มเติมจากปัจจัยต่อไปนี้

  1. การไม่มีราคากลางที่ชัดเจน เนื่องจากราคาอาจแตกต่างตามสภาพของสินทรัพย์ ความแท้/เทียม หรือ เกณฑ์ด้านภาษี ที่อาจส่งผลกระทบด้านราคาเช่น รถยนต์และไวน์
  2. ทักษะและค่าใช้จ่ายที่มาจากการดูแลสินทรัพย์ให้อยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมใช้งานตามปกติ ไม่ว่าจะเป็น ค่าบำรุงรักษาของรถยนต์และนาฬิกาหรือการเก็บรักษาไวน์
  3. ความละเอียดอ่อนทำให้การซื้อขายส่วนใหญ่ ต้องเป็นการพบกันตัวต่อตัว หรือไม่ก็ต้องผ่านคนกลางเช่นการประมูล ดังนั้นในหลายกรณี การทำกำไรจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ลงทุนทำหน้าที่ทางการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อปิดการขายเอง

ปัจจัยข้างต้นแสดงให้เห็นได้ว่านอกจากความชอบและการศึกษาหาความรู้บนความเข้าใจในขั้นตอนการลงทุนตามปกติ นักลงทุนยังต้องเพิ่มทักษะให้ตัวเองและเตรียมความพร้อมเรื่องงบประมาณไว้พอสมควร

III. ลงทุนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ?

เป้าหมายของการลงทุนทุกประเภท คือการสร้างผลกำไร ซึ่งกำไรจากการลงทุนในของรักของสะสม สามารถพิจารณาผ่านบริบทและมุมมองดังต่อไปนี้

  1. กำไรจากการเป็นเจ้าของหรือการใช้งานสินทรัพย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะตีค่าอย่างไร พูดง่ายๆ คือความสุขทางใจ
  2. กำไรจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ โดย ราคาตลาด ณ ปัจจุบัน > ราคาที่ซื้อ หรืออาจเทียบเคียงว่าเป็นกำไรทางบัญชี
  3. กำไรจากการขายสินทรัพย์ โดย ราคาที่ขายได้ > ราคาซื้อ + ค่าดูแลรักษา + มูลค่าเงินตามเวลา (Time value of money) โดยอาจเรียกได้ว่าเป็น กำไรจากการลงทุนที่แท้จริง

อย่างที่กล่าวในข้างต้น ราคาของสินทรัพย์ประเภทนี้ มีตัวแปรค่อนข้างมาก จึงทำให้การหาราคากลางของการซื้อขายบนมาตรฐานเดียวในแต่ละประเทศทำได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องการข้อมูลเชิงกว้างอย่างสังเขปสามารถพิจารณาจาก บริษัท ไนท์แฟรงค์ ซึ่งที่ปรึกษาทางด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก ที่มีการจัดทำดัชนี Knight Frank’s Luxury Investment Index (KFLII) เป็นประจำทุกปี โดยในปี 2559 พบว่า สินทรัพย์ ที่มีการเพิ่มขึ้นของมูลค่ามากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ รถยนต์ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่ม ถึง 467% ตามมาด้วย ไวน์ 245% และ งานศิลป์ ที่ 206% ส่วนสินทรัพย์ที่มีการลดลงของมูลค่ามากที่สุดคือเฟอร์นิเจอร์โบราณที่ -30%
จะเห็นว่ากำไรตามบริบทการลงทุนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างไรก็ตาม หากยึดหลักเบื้องต้นในการลงทุนผ่านสินทรัพย์ มือสอง หรือ ของโบราณ ศึกษาข้อมูลทิศทางของสินทรัพย์ที่สนใจอย่างสม่ำเสมอ เข้ากลุ่มสมาชิก/สมาคม เพื่อเพิ่มเพื่อน/ความรู้ และเปิดตลาดในการแลกเปลี่ยน อย่างน้อยท่านน่าจะได้รับความสุขทางใจจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641050