ตลาดหุ้นสหรัฐ ทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง ...เพราะทรัมป์?

I. เหตุการณ์สำคัญรัฐบาลทรัมป์และปฏิกิริยาตลาด

ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา พาดหัวข่าวการเมืองโลกคงหนีไม่พ้นเรื่องอื้อฉาวของทรัมป์โดยตั้งแต่รับตำแหน่งมีประเด็นร้อนที่สำคัญดังต่อไปนี้

25 ม.ค.
ทรัมป์ประกาศว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีผู้มาเลือกตั้งโดยขาดสิทธิ์ตามกฎหมายเป็นหลักล้าน มีการออกคำสั่งพิเศษ ในการสร้างกำแพง และที่สำคัญกรรมาธิการรัฐสภาสหรัฐได้ประกาศว่าจะมีการสอบสวนกรณีการแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซีย แต่ S&P500 ก็ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์

9 ก.พ.
ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธการคืนสิทธิ์ในการสั่งห้ามคนจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐ หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้รายงานถึงความเป็นไปได้ที่ ไมเคิล ฟลินน์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ พูดคุยเรื่องยกเลิกคว่ำบาตรกับทูตรัสเซียตั้งแต่ก่อน ทรัมป์ เข้าบริหารประเทศ แต่ S&P500 ก็ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์

17 พ.ค.
เจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอ ที่ถูกไล่ออกมีบันทึกการประชุมกับทรัมป์ ที่แสดงถึงเจตนาการชะลอการสืบสวนความพัวพันของทรัมป์กับรัสเซีย ซึ่งทำให้ตลาดติดลบทันทีและทำให้เกิดกังวลในหมู่นักลงทุน แต่หลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ S&P500 ก็ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง

ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่เกิดประเด็นร้อนในทำเนียบขาวจนทำให้นักลงทุนมองว่า จะเป็นเหตุการณ์ฉุดความเชื่อมั่นและหยุดความต่อเนื่องของดัชนีหุ้นสหรัฐ แต่ตลาดก็สร้างความประหลาดใจและโตทำลายสถิติมาอย่างสม่ำเสมอ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม (ณ วันที่เขียนบทความ) ดัชนีดาวโจนส์ ได้ทำลายสถิติสูงสุดที่ 21,637.74 จุด ซึ่งเป็นการทำลายสถิติตัวเองถึง 42 ครั้ง นับจากการประกาศผลเลือกตั้งในปี 2016

II. สถิติดัชนีหุ้นย้อนหลังประธานาธิบดีสหรัฐ

หากพิจารณาสถิติดัชนีดาวโจนส์ ช่วง 100 วันแรก ในการรับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐ ยุคหลังปี1900 ทั้ง 30สมัยพบว่าอัตราการขึ้นของตลาดในยุคทรัมป์ จากรีพับลิกัน อยู่ในลำดับที่ 6 ด้วยอัตราการเติบโต ที่ 14.22%

นอกจากดัชนีดาวโจนส์แล้ว ดัชนีหลักทุกตัวก็โตต่ออย่างต่อเนื่องในช่วง 100 วันแรกของทรัมป์ โดย S&P500 โตขึ้น 11.6% และ Nasdaq Composite ที่ 16.5% จนทำให้หลายฝ่ายมองว่า การหาเสียงบนนโยบายภาคธุรกิจที่เป็นมิตร การมุ่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และที่สำคัญนโยบายลดหย่อนภาษี ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ดังกล่าว

III. สมมุติฐานการเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้นสหรัฐ

เรามีความเชื่อว่าตลาดหุ้นกลัวความไม่แน่นอน แต่ในกรณีของทรัมป์ซึ่งมีความไม่แน่นอนเป็นเรื่องที่แน่นอน กลับไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อตลาดแต่อย่างใด ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจอธิบายผ่านสมมุติฐาน 3 ข้อดังนี้

1. “ตลาดหุ้นขึ้นไม่เกี่ยวกับทรัมป์” – ในช่วง 1 ปีก่อนการเลือกตั้ง อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของตลาด มีความใกล้เคียงกับตอนนี้ ดังนั้น การเข้ามารับตำแหน่งของทรัมป์ดูเหมือนไม่ได้ทำให้ตลาดโตขึ้น เพราะตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับผลงานวิจัยของบริษัทเครดิตสวิสที่พบว่า ความเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เหตุการณ์ 9/11 สงครามในอิรัก และล่าสุด Brexit จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไม่เกิน 10% และสามารถดีดตัวกลับมาสู่สภาพเดิมก่อนหน้าเหตุการณ์ได้ภายในหนึ่งเดือน ดังนั้นไม่ว่าจะดีหรือร้ายผลกระทบตลาดจากทรัมป์ที่สื่อต่างชาติเรียกว่า Trump Bump ไม่น่าจะมีผลถาวร

2. “ตลาดเชื่อมั่นในพรรครีพับลิกัน” – พรรครีพับลิกัน ยังครองเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากความเชื่อมั่นของรัฐบาลทรัมป์ลดลงอย่างต่อเนื่อง อำนาจอาจถูกถ่ายเทจากประธานาธิบดีไปสู่รัฐสภาในทางอ้อม และอาจทำให้นโยบายประชานิยมของทรัมป์ลดบทบาทลง แต่พรรคอาจผลักดันนโยบายเศรษฐกิจแบบทางสายกลาง (Centrist) ที่สนับสนุนภาคธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการลดเพดานภาษีธุรกิจ ดังนั้น ถึงแม้จะเริ่มต้นได้ไม่สวยนัก นโยบายนี้ซึ่งถือเป็นธงหลักของพรรครีพับลิกัน จะถูกผลักดันจนสำเร็จ

3. “ตลาดกำลังมองข้ามความเสี่ยงขนาดใหญ่” – ตลาดอาจมองโลกในแง่ดี กล้ารับความเสี่ยงเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดหย่อนภาษีที่คาดว่าจะสำเร็จในต้นปีหน้า แต่อาจประสบปัญหาและไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ อีกหนึ่งความเสี่ยงคือ กรณีเพดานหนี้ (Debt ceiling) เพราะหากไม่ได้รับการขยายภายในช่วงเดือนกันยายนนี้ รัฐบาลอาจผิดนัดชำระหนี้ จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และในกรณีเลวร้ายสุด ทรัมป์อาจทำสงครามการค้ากับจีน หรือยิ่งกว่านั้นเปิดสงครามกับเกาหลีเหนือ ซึ่งหากมองย้อนไปในอดีตในหลายครั้ง ตลาดมักมองข้ามความเสี่ยงปลายแถว (Tail Risk) หรือความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดน้อย แต่หากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบค่อนข้างร้ายแรง

คำอธิบายของเหตุการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุด คงเป็นองค์ประกอบรวมของทั้ง 3 ข้อข้างต้น ซึ่งเราคงต้องดูครับว่า ตลาดหุ้นในยุครัฐบาลทรัมป์จะเป็นอย่างไรต่อไป

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641981