kris-when-asian-lead-the-world-fb

I. เมื่อทรัมป์ยื่นโอกาสให้จีน

เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเริ่มบ่งบอกถึงความเสื่อมในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกตะวันตก ที่ดูเหมือนหลายประเทศ ได้เปลี่ยนไปดำเนินนโยบายการปกป้องทางการค้าผ่านแนวคิดชาตินิยมมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนตำแหน่งอภิมหาอำนาจ (Superpower) ไปสู่จีนที่ปัจจุบันถูกมองว่าเป็นมหาอำนาจ (Greatpower)

หากพิจารณาข้อสังเกตนี้ในเชิงลึกจะพบว่า จีนมีปัจจัยพื้นฐานเข้มแข็งบนเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอำดับสองของโลก เป็นมหาอำนาจ นิวเคลียร์ และสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่มีสิทธิยับยั้ง (Veto)

และเดินหน้าสร้างเกาะ/ฐานทัพในทะเลจีนใต้ ท่ามกลางการคัดค้านของสหรัฐและประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไม่เป็นผล ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบาย ปรับหมุดเข้าหาเอเชีย (Pivot to Asia) ของประธานาธิบดี โอบามาอย่างสิ้นเชิง

แต่สิ่งที่เปิดโอกาสให้จีนอย่างชัดเจนคือการเข้ามาของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่เริ่มต้นด้วย การออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ขณะที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศสวนว่าจีนจะไม่ปิดประตูการติดต่อกับโลกภายนอกแต่จะเปิดประตูให้กว้างยิ่งขึ้น ซึ่งหากจีนสานต่อความ สัมพันธ์ทางการค้าแบบทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศในเอเชียมากขึ้น ขนาดของเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่อยู่แล้วจะยิ่งทำให้ จีนสามารถเป็นผู้กำหนดทิศทางเศรษฐกิจเอเชียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ต่อมาในเดือนมีนาคม ทรัมป์ประกาศว่า ภาวะโลกร้อนเป็นทฤษฎีสมคบคิดของจีน และดำเนินการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการปล่อยก๊าซเรีอนกระจกในสมัยรัฐบาลโอบามา จนถึงต้นเดือนมิถุนายนก็ได้ออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) แต่ในทางตรงข้ามจีนตอกย้ำความเป็นผู้นำด้วยการประกาศการลงทุนในพลังงานทดแทนถึง 361,000 ล้านเหรียญ วางแผนสร้าง ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้จีนได้ออกมายืนยันว่าจะปฏิบัติตามความตกลงปารีส และล่าสุดเมื่อสหรัฐเห็นแล้วว่าไม่สามารถโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือลดความทะเยอทะยานในการเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ได้ทรัมป์ จึงออกสื่อว่า สี จิ้นผิง เป็นคนดีและกำลังพยายามแก้ปัญหานี้อยู่ ซึ่งมองได้ว่าสหรัฐ ไม่สามารถกำหนดทิศทางภูมิรัฐศาสตร์ในคาบสมุทรเกาหลีได้อีกต่อไป

II. จุดพลิกเอเชียสู่เวทีโลก

จุดเปลี่ยนสำคัญในการพลิกบทบาทของจีนบนเวทีโลกคือนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(One Belt One Road) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า65ประเทศ เข้าถึง63%ของประชากรและคิดเป็น29% ของ GDP โลก โดย สี จิ้นผิง ได้เปิดประชุมเวที ข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ที่มีผู้นำจาก 100 ประเทศเข้าร่วมประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยโครงการส่วนแรก เป็นการวางเครือข่ายการขนส่งทางบก จากจีนผ่านเอเชียกลางไปยังยุโรปหรือที่หลายฝ่ายเรียกว่า เส้นทางสายไหมใหม่ และส่วนที่สองคือเส้นทางสายไหมทางทะเลที่เป็นการเชื่อมต่อกันระหว่าง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับจีนผ่านระบบรางและท่าเรือน้ำลึก ซึ่งหากแล้วเสร็จ คาดการว่าอาจใช้เงินลงทุนสูงถึง 4ล้านล้าน เหรียญ และเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การสร้างจักรวรรดิโรมันมาเลยทีเดียว ซึ่งด้วยขนาดของการลงทุนในครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าหลายฝ่ายมองการขยายอิทธิพลของจีนผ่านโครงการ ว่าเป็นการวางฐานอำนาจเบ็ดเสร็จในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจเอเชียและโลก ด้วยการบังคับใช้สกุลเงินหยวนมาเป็นสินทรัพย์อ้างอิงตลอดเส้นทางสายไหมใหม่

III. จีน มหาอำนาจ หรือ อภิมหาอำนาจ?

การจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศอภิมหาอำนาจนั้นต้องมีความเข้มแข็งสูงสุด ทั้งด้านทางการทหาร เศรษฐกิจ และ มีอำนาจครอบงำ ในกิจการระหว่างประเทศโดยสามารถจะรักษาอำนาจและส่งอิทธิพลได้ทุกพื้นที่ในโลก แต่จีนปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพหลายด้าน คงไม่ได้การยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งจีนตระหนักดีและขาดความสนใจที่จะนำเสนอนโยบายทางเลือกต่อจากสหรัฐซึ่งชูนโยบายเสรีนิยม (Liberal World Order) มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่2

ดังนั้น จีนคงไม่สามารถแทนที่สหรัฐในการเป็นผู้นำโลก แต่สหรัฐต่างหากที่กำลังสละ/สูญเสียสถานะนี้ไปจากกระแสการเมืองในประเทศที่มองต้นทุนของการเป็นอภิมหาอำนาจว่าสูงเกินไปและเป็นเรื่องที่ไกลตัวประชาชน ข้อมูลข้างต้นประกอบกับบทบาทของเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผมมีความเห็นว่าตำแหน่ง Superpower จะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ คงเหลือแต่ Greatpower บนการปกครองแบบหลายขั้วอำนาจ (Multipolar) ที่ขยายอำนาจครอบงำไปแต่ละภูมิภาค ซึ่งเอเชียคงเป็นเวทีเศรษฐกิจของจีนในอีกไม่ช้าครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641747