ksam-monthly-strategy-mar-17

ภาวะเศรษฐกิจรอบโลกในเดือนทีผ่านมา

สหรัฐอเมริกา

  • ในการให้ถ้อยแถลงต่อสภาครองเกรส ประธานธนาคารกลางส่งสัญญาณว่าคณะกรรมการ FOMC อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป หากการขยายตัวทางเศรษฐกิจดำเนินไปตามที่คาดไว้ โดยในภาพรวมประธานธนาคารกลางมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และตลาดแรงงาน นอกจากนี้ในรายงานการประชุมเดือนมกราคม ธนาคารกลางได้ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้ และระบุว่าข้อเสนอของรัฐบาลที่จะปรับลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายอาจส่งผลให้มีความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าความเสี่ยงที่อัตราการว่างงานจะปรับลดต่ำกว่าเป้าหมาย และผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญยังคงอยู่ในระดับปานกลาง
  • ในขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 MoM หรือร้อยละ 2.5 YoY นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 4 ปี การก่อสร้างบ้านใหม่ปรับตัวลดลงร้อยละ -2.6 MoM ในเดือนมกราคม ทว่าการขออนุญาตก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบปีส่งสัญญาณว่าการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นในเดือนต่อๆไป
  • ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 MoM สู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ทว่ายอดขายบ้านรอปิดการขายปรับตัวลดลงอย่างที่มิได้คาดไว้ร้อยละ -2.8 MoM นับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นและอุปทานที่ลดลง การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 MoM ในเดือนมกราคม เทียบกับเดิมที่ร้อยละ 0.5 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 MoM ในเดือนมกราคมเทียบกับเดิมที่ร้อยละ 1 ในเดือนก่อนหน้า จีดีพีขยายตัวร้อยละ 1.9YoY ใน ไตรมาส 4/59 เท่ากับที่คาดไว้ก่อนหน้า เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถูกชดเชยโดยการลงทุนของภาคธุรกิจและการใช้จ่ายของภาครัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด

ยุโรป

  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเขตยูโรปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 YoY ในเดือนธันวาคม เทียบกับร้อยละ 3.2 ในเดือนก่อนหน้าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 55.5 จุดในเดือนกุมภาพันธ์จากเดิมที่ระดับ 55.2 จุดนับเป็นระดับแข็งแกร่งที่สุดจากเดือนเมษายน 2554
  • นอกจากนี้ PMI ภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 55.5 จุดในเดือนกุมภาพันธ์จากเดิมที่ระดับ 53.7 จุดนับเป็นระดับแข็งแกร่งที่สุดจากเดือนพฤษภาคม 2554 PMI โดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 56.0 จุดจากเดิมที่ระดับ 54.4 จุด โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงการสร้างงานที่แข็งแกร่ง การเพิ่มขึ้นของธุรกิจใหม่ และการฟื้นตัวของมุมมองเชิงบวกของภาคธุรกิจ
  • อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคขยายตัวร้อยละ 1.8 YoY ในเดือนมกราคมเทียบกับร้อยละ 1.1 ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดนับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2556 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากราคาพลังงานและอาหาร อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ร้อยละ 0.9 YoY จีดีพีไตรมาส 4/59 ขยายตัว ร้อยละ 1.7 YoY เทียบกับร้อยละ 1.8 ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

จีน

  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ของทางการในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นจากระดับ 51.3 จุดเป็น 51.6 จุด และ Manufacturing PMI ที่จัดทำโดย Caixin ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 51.0 จุดสู่ระดับ 51.7 จุด
  • ในทางตรงกันข้ามดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิต (Non-Manufacturing PMI) ของทางการลดลงจาก 54.6 จุดเป็น 54.2 จุด และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Services PMI) ของ Caixin ปรับตัวลดลงจาก 53.1 จุดเป็น 52.6 จุดต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้
  • การส่งออกขยายตัวร้อยละ 7.9 YoY ในเดือนมกราคมสูงกว่าที่คาดไว้ และเป็นระดับสูงที่สุดนับจากเดือนสิงหาคมปีก่อน การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 16.7 YoY สูงกว่าที่คาดไว้เช่นกัน
  • อัตราเงินเฟ้อขยายตัวร้อยละ 2.5 YoY ในเดือนมกราคมนับเป็นการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 2 ปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและอาหารในช่วงเทศกาลตรุษจีน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 2.2 YoY เทียบกับร้อยละ 1.9 ในเดือนก่อนหน้า

ญี่ปุ่น

  • การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.2 YoY ในเดือนมกราคมซึ่งเป็นระดับเดียวกับขยายตัวในเดือนก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตามผลผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 0.8 MoM เนื่องจากการผลิตรถยนต์และยานพาหนะอื่นๆปรับตัวลดลง การขยายตัวของภาคการส่งออกชะลอตัวลงสู่ระดับร้อยละ 1.3 YoY ในเดือนมกราคมจากระดับร้อยละ 5.4 ในเดือนธันวาคม
  • ในด้านบวกการนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับจากเดือนธันวาคม 2557 โดยมีปัจจัยบวกมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ยอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 YoY เทียบกับร้อยละ 0.7 ในเดือนก่อนหน้าสูงกว่าที่คาดไว้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจาก 43.1 จุดเป็น 43.2 จุดนับเป็นระดับที่แข็งแกร่งที่สุดจากเดือนกันยายน 2556
  • นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 YoY ในเดือนมกราคมเปรียบเทียบกับการหดตัวลงร้อยละ -0.2 ในเดือนก่อนหน้าและเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกจากเดือนธันวาคม 2558 หากไม่รวมราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เทียบกับร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า
  • ในอีกด้านหนึ่ง การเติบโตของจีดีพีไตรมาส 4/59 ชะลอตัวลงสู่ระดับร้อยละ 0.2 QoQ ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ระดับร้อยละ 0.3 เนื่องจากความแข็งแกร่งของภาคการส่งออกถูกชดเชยด้วยการบริโภคของภาคเอกชนและการใช้จ่ายของภาครัฐที่ลดลง อย่างไรก็ตามรัฐบาลคงมุมมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในระดับปานกลาง

ไทย

  • คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 1.5 ตามที่คาดไว้ คณะกรรมการฯประเมินว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วขึ้น และอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯได้ระบุว่ายังมีความเสี่ยงหลายประการต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่นการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ เสถียรภาพด้านการเงินของจีน และพัฒนาการด้านการเมืองในยุโรป เป็นต้น และได้ระบุว่าการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าหลักอาจจะไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
  • อัตราเงินเฟ้อขยายตัวร้อยละ 1.4 YoY ในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงจากเดิมที่ร้อยละ 1.5 YoY ในเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่คาดไว้ เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือนอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.04 MoM เทียบกับร้อยละ 0.16 ในเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอ่อนค่าลงสู่ระดับร้อยละ 0.59 YoY จากเดิมร้อยละ 0.74 ในเดือนก่อนหน้านับเป็นการขยายตัวที่ช้าที่สุดจากเดือนมกราคมปีก่อน
  • การส่งออกเติบโตร้อยละ 8.8 YoY ในเดือนมกราคม เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 6.2 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยบวกมาจากราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 YoY เทียบกับร้อยละ 10.3 ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันทว่าเพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่คาดไว้
  • จีดีพีไตรมาส 4/59 ขยายตัวร้อยละ 0.4 QoQ หรือร้อยละ 3.0 YoY ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่เร่งตัวขึ้นในระหว่างไตรมาส และการบริโภคของภาคเอกชนที่ได้รับมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาล ปัจจัยลบมาจากการส่งออกสุทธิที่ติดลบเนื่องจากการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยงและการฟื้นตัวของการนำเข้า การเติบโตของจีดีพีปี 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.2 YoY

มุมมองการลงทุนรายกองทุน

กองทุน คำแนะนำ เหตุผล

กองทุนที่เน้นลงทุนในประเทศ

ตราสารหนี้
ระยะสั้น
ow

กองทุนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงจากความผันผวนจากราคาตลาดรายวันในระดับต่ำ เนื่องจากคัดเลือกลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีระดับผลตอบแทนจากการถือครองสูง โดยเฉพาะในเงินฝากต่างประเทศและตราสารหนี้ภาคเอกชนไทยที่มีคุณภาพด้านเครดิตดี โดยแนะนำกองทุน KFSPLUS และ KFSMART

ตราสารหนี้
ระยะกลาง-ยาว
neutral

กองทุนเน้นลงทุนในตราสารหนี้ทุกรุ่นอายุที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากตราสารหนี้ระยะสั้นได้ (Active managed) โดยแต่ละกองทุนจะมีความเสี่ยงจากการความผันผวนตามราคาตลาดรายวันอยู่ในระดับที่มากขึ้นตาม Duration ทั้งนี้ในระยะสั้นกองทุนอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในวันที่ 15 มี.ค นี้ ทำให้ในช่วงดังกล่าวจะมีความผันผวนของราคาตราสารหนี้ในระดับสูง โดยแนะนำให้จัดสรรเงินลงทุนในกองทุนประเภทนี้เฉพาะเงินลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น อทิเช่น กองทุน KFMTFI (ขั้นต่ำ 6 เดือนขึ้นไป) และ KFAFIX (ขั้นต่ำ 1 ปี ขึ้นไป)

หุ้นไทย neutral

ในระยะสั้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามกระแสเงินลงทุนต่างชาติ และปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ส่วนในระยะกลางถึงยาว บลจ. กรุงศรี มีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนตราสารทุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 อีกทั้งผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ยังเป็นที่น่าสนใจลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค

กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นเติบโตสูง (KFSEQ-D หรือ KFSEQ) รวมไปถึงกองทุนที่เน้นการเฟ้นหาหุ้นที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละภาวะตลาด (KFDNM-D หรือ KFDYNAMIC) มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนสูงกว่ากองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นปันผลดี (KFSDIV หรือ KFVALUE) ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังเพิ่มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น

กองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ

KF-SINCOME &
KF-CSINCOM
ow

แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ แต่เนื่องจากกองทุนเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นถึงปานกลางที่มี carry สูง ทำให้ได้รับผลกระทบจำกัดจากดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐ และยังมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่ส่งผลให้คุณภาพเครดิตของตราสารที่ลงทุนมีแนวโน้มแข็งแกร่งมากขึ้น

KF-TRB uw

คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐส่งสัญญานชัดเจนมากขึ้นว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะหากมีมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติม ในขณะที่ตลาดแรงงานฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น ดังนั้นแนวโน้มตลาดตราสารหนี้สหรัฐในระยะสั้นน่าจะมีความผันผวนสูง

KF-ELI neutral

ตลาดตราสารหนี้สกุลท้องถิ่นของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้รับประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามภาวะตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตามในระยะสั้นอัตราแลกเปลี่ยนของกลุ่ม Emerging จะยังมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยและนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ นอกจากนั้นยังอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยความเสี่ยงทางเมืองจากยุโรปด้วย

กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ตลาดพัฒนาแล้ว

KF-EUROPE & KF-HEUROPE neutral

เศรษฐกิจมีโมเมนตัมดีขึ้น ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ภาคการผลิต และกำไรของบริษัทจดทะเบียน แต่ Valuation ค่อนข้างถูกเนื่องจากความกังวลเรื่องการเลือกตั้งในยุโรป ด้าน ECB ขยายระยะเวลาทำ QE จนถึงสิ้นปี 2017 สะท้อนท่าทีผ่อนคลายต่อเนื่อง

KF-HJAPAND ow

ค่าเงินเยนมีแนวโน้มกลับมาอ่อนค่าหลัง Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลบวกต่อคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียน BOJ ยังคงเน้นกระตุ้นเงินเฟ้อและการบริโภคภายในประเทศ ด้วยนโยบายการคลังและมาตรการ QE บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ที่ดีขึ้น ส่งผลให้บริษัทที่มีกระแสเงินสดสูงมีแนวโน้มจ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืน (Share Buyback) มากขึ้น

KF-US neutral

เศรษฐกิจสหรัฐฯและกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากนโยบายภาครัฐทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การปรับลดภาษีบริษัทจดทะเบียนและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการผ่อนปรนกฏเกณฑ์ในการทำธุรกิจ Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น

กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ตลาดกำลังพัฒนา

KF-BRIC ow

เศรษฐกิจบราซิลและรัสเซีย มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวดีขึ้น ภาครัฐมีช่องทางกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงเริ่มปรับตัวลดลง ขณะที่สภาพคล่องในระบบของอินเดียกลับมาสู่ระดับปกติหลังจากตึงตัวในช่วงเปลี่ยนธนบัตร เศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพมากขึ้นและเงินทุนไหลออกชะลอตัวลง

KF-EM neutral

ตลาดหุ้น EM ได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ Demand ที่เร่งตัวขึ้นในจีน และการฟื้นตัวของอินเดียหลังจากผลกระทบจากการยกเลิกธนบัตรหมดไป นโยบายการค้าและภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบผ่าน Supply chain ในตลาด EM ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจสร้างแรงกดดันให้กับตลาด EM เป็นระยะๆ

KF-CHINA neutral

เศรษฐกิจจีนกลับมามีเสถียรภาพจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต การลงทุน และภาคอสังหาฯในประเทศ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและนโยบายลดกำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมหนัก (Supply Side Reform) ความเสี่ยงเรื่องเงินทุนไหลออกเริ่มคลายตัวลง

KF-LATAM ow

ตลาดหุ้นละตินอเมริกาได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศหลัก เช่น บราซิล มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี และแรงกดดันจากเงินเฟ้อลดลง เปิดโอกาสให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดดอกเบี้ยได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี นโยบายการค้าและการเคลือนย้านแรงงานของสหรัฐฯอาจส่งผลกดดันการขยายตัวของเม็กซิโก

KF-HCHINAD neutral

โครงสร้างเศรษฐกิจจีนที่เปลี่ยนไปเอื้อต่อการเติบโตของบริษัทในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ซึ่งกองทุนหลักเน้นลงทุน และมีแนวโน้มเติบโตไปกับกระแสการขยายตัวของภาคบริการและการบริโภคภายในประเทศ เช่น หุ้นในหมวดเทคโนโลยี ค้าปลีก และประกันชีวิต

กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ลงทุนทั่วโลก

KF-GLS neutral

ได้รับผลบวกจาก Net Long Position ในหุ้นกลุ่ม Healthcare ที่ทาง บลจ.กรุงศรีมีมุมมองเชิงบวก แต่หักล้างกับ Net Short Position ในหุ้นกลุ่ม Industrial ที่ราคายังปรับขึ้นต่อเนื่อง แม้ระดับราคาสูงเกินพื้นฐาน จาก Expectation ของตลาดที่สูงเกินไป

ทั้งนี้ บลจ.กรุงศรี ยังมีมุมมองในเชิงบวกกับกอง KF-GLS ในระยะยาว และคาดว่ากองทุนจะฟื้นตัวได้ เมื่อตลาดลด Speculation ในหุ้นกลุ่ม Industrial

KF-GBRAND neutral

จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางของการฟื้นตัว นักลงทุนเริ่มกลับมาให้ความสนใจต่อหุ้นในกลุ่ม Cyclical มากกว่ากลุ่ม Defensive อาจส่งผลให้หุ้นในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ปรับตัวขึ้นมากในระยะสั้น อย่างไรก็ตามคาดว่ากองทุนจะได้ประโยชน์ในระยะกลาง-ยาว เนื่องจากน้ำหนักการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุน หากปธน.ทรัมพ์ ดำเนินนโยบายปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาตามที่ได้เคยหาเสียงไว้ได้สำเร็จ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อหุ้นสหรัฐฯ

KF-GTECH ow

กำไรของ Sector สามารถเติบโตได้ดีกว่าตลาดโดยรวม จาก Innovation ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ตอบสนองต่อสินค้าและบริการ ขณะที่ระดับ Valuation อยู่ในระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงกับตลาดหุ้นโลก กองทุนเน้นลงทุนบริษัทที่มีนวัตกรรมใหม่ๆใน การเปลี่ยนอุตสาหกรรม และมีปัจจัยพื้นฐานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

KF-HEALTHD ow

ตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อประเด็นการควบคุมราคายา หลังจากทรัมป์ต้องการให้ลดราคายาแต่จะแลกกับการผ่อนปรนการกำกับดูแลและอนุมัติยาให้เร็วขึ้น พร้อมกับสนับสนุนให้บริษัทยานำเงินสดที่อยู่ต่างประเทศกลับ US ซึ่งจะทำให้มีการ M&A และ Share Buyback ถือเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นกลุ่ม Healthcare ทำให้ราคาหุ้นมีแนวโน้มกลับมาสู่พื้นฐานที่ดีของกลุ่มต่อไปหลังถูกกดันมานาน

KF-GPROPD uw

ในระยะสั้น REITs จะถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นโดยเฉพาะใน US อย่างไรก็ตามระดับราคาสินทรัพย์และค่าเช่าของ Global REITs มีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะอุปสงค์อุปทานของ Global REITs โดยรวมอยู่ในระดับเหมาะสม หากราคา REITsปรับตัวลงแรงจากเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าซื้อ

KF-SMCAPD uw

Brexit และการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส อาจนำความผันผวนมาสู่การลงทุนในอังกฤษและยุโรป ซึ่งกองทุนมีสัดส่วน OW แต่พอร์ตการลงทุนมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จาการลงทุนในสหรัฐฯและเอเชีย ตามทิศทางการกระตุ้นภาครัฐและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

กองทุนผสม
KF-INCOME
&
KF-CINCOME
neutral

สัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาค Developed Market ซึ่งอาจยังมีความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองทั้งจากสหรัฐฯและบางประเทศในยุโรปที่จะมีการเลือกตั้งในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ สำหรับตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High yield) ยังคงมีความน่าดึงดูด เนื่องจากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย

KF-AINCOME neutral

ในระยะสั้น Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอการลงทุนตลาดหุ้นเอเชีย ภายหลังค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐมีทิศทางแข็งค่าขึ้น จากแนวโน้ม FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียอาจปรับตัวผันผวน อย่างไรก็ตามในระยะยาวยังคงมีความน่าสนใจจาก Valuation ที่ยังอยู๋ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ขณะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในเอเชียยังอยู่ในระดับสูง และตราสารหนี้ที่อยู่ในพอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในระดับ Investment Grade

กองทุนที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์โภคภัณฑ์
KF-GOLD
&
KF-HGOLD
ow

ทองคำช่วยลดความผันผวนจากการเลือกตั้งในยุโรปที่ใกล้เข้ามา เงินเฟ้อที่เร่งตัวช่วยเพิ่มความน่าสนใจในทองคำในฐานะ Inflation-hedged asset ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อาจกดดันราคาทองคำในระยะสั้น

KF-OIL neutral

การบรรลุข้อตกลง “ลด” กำลังการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งกลุ่ม OPEC, รัสเซีย และเม็กซิโก ช่วยให้สมดุลของตลาดน้ำมันโลกดีขึ้น ส่งผลให้กรอบราคาน้ำมันดิบ West Texas มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 45-55 เหรียญต่อบาร์เรล ทั้งนี้ การดำเนินการตาม ข้อตกลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่และปริมาณการผลิตในสหรัฐฯที่อาจเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน เป็นปัจจัยที่อาจกลับมากดดันราคาน้ำมันอีกรอบ


๏ กองทุน KF-US, KF-EUROPE, KF-EM, KF-BRIC, KF-CHINA, KF-LATAM, KF-GLS, KF-GBRAND, KF-GTECH, KF-GPROPD, KF-SMCAPD, KF-HEALTHD, KF-INCOME, KF-CINCOME ป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ๏ กองทุน KF-TRB, KF-ELI, KF-SINCOME, KF-CSINCOM, KF-AINCOME, KF-HJAPAND, KF-HCHINAD และ KF-HEUROPE ป้องกันความเสี่ยงเต็มจำนวน

คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน ๏ โดยปกติกองทุน KF-US, KF-EUROPE, KF-EM, KF-BRIC, KF-CHINA, KF-LATAM, KF-GLS, KF-GBRAND, KF-GTECH, KF-GPROPD, KF-SMCAPD, KF-HEALTHD, KF-INCOME, KF-CINCOME จะไม่ใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงิน จึงอาจมีความเสี่ยงสูงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ๏ กองทุน KF-INCOME, KF-CINCOME และ KF-AINCOME คือกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยและผู้มีเงินลงทุนสูงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน โดยกองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ในอัตราส่วนที่มากกว่าอัตราส่วนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนจึงอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ความเสี่ยงด้านเครดิต และ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องมากกว่ากองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป ๏ เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และ ความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
๏ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร 0 2657 5757 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) /ผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน