ksam-สรุปภาวะตลาด บลจ กรุงศรี

ภาวะเศรษฐกิจรอบโลก

สหรัฐอเมริกา

  • คณะกรรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลงมติ 9 ต่อ 2 ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดไว้ โดยคณะกรรมการฯยังคงมีความเห็นว่าโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น ทว่าระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในภาคธุรกิจที่ชะลอตัวลง รายงานการประชุมเผยให้เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีความเหมาะสมในอีกไม่นาน หากข้อมูลยังคงแสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการคาดการณ์นักลงทุนว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม นอกจากนี้ประธานธนาคารกลางระบุในถ้อยแถลงต่อสภาว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกำลังใกล้เข้ามา จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน และยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่มีผลกระทบต่อการประเมินเศรษฐกิจของ Fed อย่างไรก็ตามได้ระบุว่าโครงการใช้จ่ายทางการคลังขนาดใหญ่ของ Trump ในปีหน้าอาจเปลี่ยนแปลงแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และ Fed จะติดตามพัฒนาการที่เกิดขึ้น
  • อัตราการเริ่มก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 9 ปี ปัจจัยบวกมาจากการฟื้นตัวของกลุ่มที่อยู่อาศัยแบบหลายครอบครัว ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 MoM ในเดือนตุลาคมสู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 10 ปี แม้ว่าราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นและจำนวนบ้านที่รอการขายปรับตัวลดลง ในขณะที่ยอดขายบ้านใหม่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.9 หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับสูงที่สุดในรอบหลายปีในเดือนกรกฎาคม จำนวนบ้านรอการโอนปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ในเดือนตุลาคม ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่ายอดขายบ้านอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์กำลังจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ยอดคำสั่งซื้อสินค้าทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 MoM ในเดือนตุลาคม โดยมีปัจจัยบวกมาจากผลกระทบที่มีต่อหมวดพลังงานและหมวดเหมืองแร่บรรเทาลง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวในเดือนตุลาคม เนื่องจากอากาศที่อบอุ่นเป็นแรงกดดันต่อกลุ่มสาธารณูปโภค ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 93.8 จุดในเดือนพฤศจิกายนจาก 87.2 จุดในเดือนตุลาคม แสดงถึงการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นหลังการเลือกตั้ง การใช้จ่ายของผู้บริโภคเร่งตัวขึ้นสู่ระดับร้อยละ 0.5 ในเดือนกันยายนจากเดิมที่ร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ยอดค้าปลีกในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ที่ระดับร้อยละ 0.8 MoM โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากราคาน้ำมัน ยอดขายรถยนต์ และยอดค้าปลีก online อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 YoY ในเดือนตุลาคมจากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในเดือนก่อนหน้า จีดีพีไตรมาส 3/59 ขยายตัวร้อยละ 3.2 YoY เปรียบเทียบกับที่คาดกาณ์ไว้ก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 และเปรียบเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่สุดจากไตรมาส 3/57

ยุโรป

  • อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 0.6 YoY ในเดือนพฤศจิกายนเทียบกับร้อยละ 0.5 ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ระดับร้อยละ 0.8 YoY ซึ่งเป็นระดับเดิมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ยอดค้าปลีกปรับตัวลดลงร้อยละ -0.2 MoM ในเดือนตุลาคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภูมิภาคฟื้นตัวขึ้นในเดือนพฤศจิกายน จากการที่ยอดคำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบปีและราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับจากเดือนสิงหาคม 2558 โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ในเขตยูโรปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 53.3 จุดเป็น 53.7 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Services PMI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 52.8 จุดเป็น 54.1 จุด ทำให้ดัชนีรวม (Composite index) เพิ่มขึ้นจาก 53.3 จุดเป็น 54.1 จุดนับเป็นระดับสูงที่สุดจากเดือนธันวาคมปีก่อน

ไทย

  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 1.5 โดยให้ความเห็นว่าสภาวะทางการเงินยังคงสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และต้องการรักษาช่องว่างในการดำเนินนโยบายทางการเงินเพิ่มเติม ทั้งนี้คณะกรรมการประเมินว่าการส่งออกขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ ทว่าการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงเนื่องจากมาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญของรัฐบาล นอกจากนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะใช้เวลานานขึ้นในการกลับไปสู่ระดับเดิมที่ได้คาดการณ์ไว้
  • การส่งออกในเดือนตุลาคมหดตัวลงร้อยละ -4.2 YoY ต่ำกว่าที่คาดไว้และกลับมาหดตัวหลังจากที่ขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน ปัจจัยลบมาจากปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 6.5 YoY จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเปรียบเทียบกับร้อยละ 5.6 ในเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนขยายตัวร้อยละ 0.6 YoY (-0.06 MoM) เปรียบเทียบกับร้อยละ 0.34 YoY (+0.16 MoM) ในเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.72 YoY เปรียบเทียบกับร้อยละ 0.74 YoY กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.5 – 2.0 ในปี 2560 Moody’s ออกคำเตือนว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด หากการค้าโลกชะลอตัวลงที่อาจเกิดจากนโยบายปกป้องการค้าของ Trump

มุมมองการลงทุนรายสินทรัพย์ของไทย

ตลาดตราสารหนี้

  • บลจ.กรุงศรีคงมุมมองของการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะสั้นและระยะยาวที่ Neutral 3 ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่าความเป็นไปได้ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.5 ตลอดทั้งปี 2559 ถึงสิ้นปี 2560

ตลาดตราสารทุน

  • บลจ. กรุงศรี มีมุมมองว่า ในระยะสั้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามกระแสเงินลงทุนต่างชาติ และปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ รวมถึงผลของการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม
  • ส่วนในระยะกลางถึงยาว บลจ. กรุงศรี มีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนตราสารทุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 อีกทั้งผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ยังเป็นที่น่าสนใจลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค

คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ๏ เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ๏ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร 0 2657 5757 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) /ผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

บทความโดย : บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
https://www.krungsriasset.com