invest-man-cp-debt

หลายคนคงรู้ว่าซีพีเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ทำธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ มีทั้ง ฟาร์มสัตว์ อาหารสัตว์ อาหารคน ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายส่ง โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต เคเบิลทีวี ร้านกาแฟ อสังหาริมทรัพย์ และ โรงเรียน ด้วยธุรกิจที่ว่ามานี้ยอดขายทั้งหมดรวมกันคงมหาศาล แต่รู้หรือไม่ว่าเครือซีพีก็มีหนี้มหาศาลเช่นกัน

เรามาดูกันว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของเครือซีพีทั้งหมดมีหนี้เท่าไร?

บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของซีพี มี 4 บริษัทใหญ่คือ CPF CPALL TRUE MAKRO

ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 1 ของปี 2560

CPF มีหนี้ทั้งหมด 370,653 ล้านบาท
CPALL มีหนี้ทั้งหมด 281,702 ล้านบาท
TRUE มีหนี้ทั้งหมด 334,479 ล้านบาท

CPALL ถือ MAKRO อยู่ 98% งบการเงินของ MAKRO จึงได้รวมอยู่ใน CPALL แล้ว

เมื่อนำทั้งหมดมาบวกกัน หนี้ทั้งหมดของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของเครือซีพีคือ 986,834 ล้านบาท!
อย่างไรก็ตามคำว่าหนี้ จะแบ่งเป็น

  1. หนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย เช่น การกู้ยืมเงินธนาคาร หรือออกหุ้นกู้
  2. หนี้ที่ไม่มีภาระดอกเบี้ย เช่น เจ้าหนี้การค้า ซึ่งคู่ค้าให้เครดิตเราในการรับสินค้าก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินทีหลัง

สำหรับนักลงทุนแล้ว ถ้าถามว่าบริษัทมีหนี้เท่าไร เราควรจะดูเฉพาะส่วนของหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย ซึ่งสำหรับหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยของแต่ละบริษัทเป็นดังนี้

CPF มีหนี้ทั้งหมด 301,599 ล้านบาท
CPALL มีหนี้ทั้งหมด 182,942 ล้านบาท
TRUE มีหนี้ทั้งหมด 142,733 ล้านบาท

หนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยของเครือซีพีทั้งหมดคือ 627,274 ล้านบาท

แล้ว 627,274 ล้านบาท มากขนาดไหน? เรามาดูกันว่าหนี้ 627,274 ล้านบาท ซีพีกู้ใครได้บ้าง

โดยปกติแล้วถ้าบริษัทใหญ่กู้เงินจากธนาคาร ธนาคารก็จะเอาเงินฝากของหลายๆคนมารวมกันแล้วให้บริษัทกู้ ซีพีมีเครดิตที่ดี เพราะมียอดขายหมุนเวียนจำนวนมากทุกวัน ดังนั้นธนาคารไหนๆก็อยากให้กู้ เรามาดูกันว่าหนี้ของซีพีใหญ่แค่ไหนเมื่อเทียบกับฐานเงินฝากของธนาคาร

ธนาคาร TMB เป็นธนาคารเอกชนขนาดใหญ่อันดับที่ 7 ของประเทศไทยในแง่ขนาดของเงินรับฝาก ธนาคาร TMB มีเงินรับฝากทั้งหมด 587,388 ล้านบาท

ที่น่าสนใจคือ หนี้ทั้งหมดของเครือซีพีมีขนาดใหญ่กว่าเงินฝากทุกบัญชีเงินฝากของธนาคาร TMB รวมกันทั้งหมด!

ดังนั้นเวลาเกิดดีลสำคัญที่ซีพีต้องใช้เงิน เช่นการซื้อ MAKRO ของ CPALL จะมีไม่กี่ธนาคารที่พอจะมีกำลังเหลือให้ซีพีกู้ได้ ในดีลนั้นซีพีใช้ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีฐานเงินฝากอยู่ 2 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ถ้าเลือกได้ซีพีก็ไม่อยากกู้เงินจากธนาคารเหมือนกัน เพราะมีอัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่า การออกหุ้นกู้ ที่กู้กับประชาชนโดยตรง โดยถ้ากู้ธนาคารซีพีอาจจะต้องเสียดอกเบี้ย 4%-6% แต่ถ้าออกหุ้นกู้ซีพีจะเสียดอกเบี้ยแค่ 3%-5% เท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น เร็วๆนี้ซีพีมีการออกหุ้นกู้ที่เป็นนวัตกรรมทางการเงินแบบใหม่คือหุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดอายุใช้คืน หรือเรียกว่า Perpetual Bond หุ้นกู้แบบนี้อธิบายง่ายๆคือ บริษัทจะขอยืมเงินจากคนอื่นโดยไม่ต้องใช้คืนเงินต้น แต่จะขอจ่ายเป็นดอกเบี้ยอย่างเดียวไปเรื่อยๆ (อย่างนี้ก็ได้ด้วย)

CPALL มีการออกหุ้นกู้ที่มีไม่มีกำหนดอายุใช้คืน 9,953 ล้านบาท
CPF มีการออกหุ้นกู้ที่มีไม่มีกำหนดอายุใช้คืน 15,000 ล้านบาท

…ย้อนกลับมาที่คนไทย 67 ล้านคน

คนที่มีรายได้น้อยจะกู้เงินสัก 1 แสนบาท ถ้าไม่มีหลักประกัน ธนาคารก็ยากที่จะปล่อยกู้เงินให้ ทำให้คนที่มีรายได้น้อยต้องไปกู้จากหนี้นอกระบบ ที่มีดอกเบี้ยมหาโหดแทน พอดอกทบต้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายหนี้เพิ่มเป็นหลายแสนบาท และเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เราได้ยินตลอดมา

แต่จะให้ทำอย่างไรได้ ในมุมมองของธนาคาร คนมีรายได้น้อยเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินต้นคืน มากกว่า เครือซีพีที่มีกิจการที่แข็งแกร่ง…

ที่มาบทความ : http://longtunman.com/831