ตำนาน เมอร์รี่คิงส์

“เมอร์รี่คิงส์ มีทุกสิ่งให้เลือกสรร”

สโลแกนนี้คนไทยอายุเกิน 30 ปี หลายคนคงเคยได้ยิน
แต่ตอนนี้ ห้างสรรพสินค้านี้คงไม่มีแม้แต่ สิ่งเดียว ให้เราเลือกแล้ว..

เมอร์รี่คิงส์ หายไปไหน?

ห้างสรรพสินค้าเมอร์รี่คิงส์ บริหารงานโดย บริษัท เมอร์รี่คิงส์ดีพาร์ทเม้นต์สโตร์ จำกัด
ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11/04/2520 ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท
โดยเปิดให้บริการทั้งหมด 6 สาขา

  1. เมอร์รี่คิงส์วังบูรพา – เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2527 (แห่งแรก)
  2. เมอร์รี่คิงส์สะพานควาย – เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2528
  3. เมอร์รี่คิงส์วงเวียนใหญ่ – เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2529
  4. เมอร์รี่คิงส์ปิ่นเกล้า – เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2531
  5. เมอร์รี่คิงส์รังสิต – เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2536
  6. เมอร์รี่คิงส์บางใหญ่ – เปิดให้บริการเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าบิ๊กคิงส์บางใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2542

ปัจจุบันเมอร์รี่คิงส์ได้ปิดทำการทั้งหมดทุกสาขาแล้ว เหลือเพียงภาพวันเก่าๆในความทรงจำ

เรื่องราวต่างๆที่ผ่านมาของเมอร์รี่คิงส์เป็นอย่างไร?

เมอร์รี่คิงส์ในตอนนั้น เป็นห้างที่ดีที่สุด มีสาขามากมาย สาขาที่โดดเด่นที่สุด คือ เมอร์รี่คิงส์รังสิต เพราะ มีรายการตลกอย่าง จี้เส้นคอนเสิร์ต(พ.ศ. 2536-2542) แสดงและอัดเทปที่นี้ รวมไปถึง รายการคอนเสิร์ตเลข9 (พ.ศ. 2533-2547) ที่ฮิตสุดในตอนนั้น นักร้องดังในยุคนั้นต่างเคยผ่านเวทีนี้แทบทั้งสิ้น

ทั้งสองรายการนี้ถือเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงคนมาเดินห้าง สามารถทำเงินได้มหาศาลจากการเข้ามาใช้จ่ายของลูกค้าและสปอนเซอร์ ตลอดเวลาในช่วงนั้นถือว่าเป็นยุคทองของเมอร์รี่คิงส์เลยทีเดียว

แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมอร์รี่คิงส์ประสบเหตุไฟไหม้ถึงสามครั้ง

ครั้งแรก ที่สาขาสะพานควายเมื่อปี 2529
ครั้งที่สอง ที่สาขารังสิตเมื่อปี 2541

และครั้งที่เสียหายมากที่สุด คือครั้งที่สามเมื่อปี 2547 เป็นเหตุไฟฟ้าลัดวงจรที่สาขารังสิต ในขณะกำลังถ่ายทอดสดรายการคอนเสิร์ตเลข 9 ไฟไหม้ครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายตัวอาคารและทรัพย์สินมูลค่าถึง 345 ล้านบาท ถือว่าเป็นความเสียหายมากที่สุดของเมอร์รี่คิงส์ ทำให้เทศบาลเมืองคูคตในสมันนั้นสั่งปิดกิจการอย่างถาวร ซึ่งในปัจจุบันที่แห่งนี้กลายเป็น โบ๊เบ๊ ทาวเวอร์ รังสิต

ความเสียหายในครั้งนั้นทำให้เมอร์รี่คิงส์ ต้องเสียสาขารังสิตที่เป็นหัวหอกสำคัญไป

ต่อมาสาขาบางใหญ่ต้องประสบกับปัญหาไม่มีคนเดิน ไม่มีคนมาใช้บริการ เพราะมีคู่แข่งอย่าง Big C มาเปิดฝั่งตรงข้าม และต้องปิดกิจการในปี 2550 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการปิดสาขาวงเวียนใหญ่

อะไรเป็นสาเหตุสำคัญของการที่เมอร์รี่คิงส์ต้องปิดกิจการทั้งหมด?

จากงบแสดงฐานะการเงิน เมอร์รี่คิงส์เป็นหนี้ถึง 294,785,280.20 บาท ถ้าเทียบกับทุนจดทะเบียน เมอร์รี่คิงส์จะมีหนี้สินมากกว่าทุนถึง 15 เท่า ปัจจุบัน อยู่ในสถานะ ล้มละลาย..

แล้วมีใครอีกไหมที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน?
หลายคนคงนึกถึง ห้างพาต้า บริหารโดย บริษัท ห้างสรรพสินค้าปิ่นเกล้า จํากัด
ห้างพาต้า เป็นห้างที่เก่าแก่สุดโบราณย่านปิ่นเกล้า เคยรุ่งเรืองเหมือนกับห้างเมอร์รี่คิงส์ มีทั้งสวนสัตว์และการแสดงสัตว์เป็นตัวดึงดูดคน ผู้คนก็ไปกันมากมาย

ปี 2558 ห้างพาต้า มีรายได้ 172 ล้านบาท มีกำไร 9 แสนบาท
ปี 2559 ห้างพาต้า มีรายได้ 161 ล้านบาท มีกำไร 7 แสนบาท

เมื่อยุคสมัยได้เปลี่ยนไป ถ้าเราปรับตัวตามไม่ทัน เราก็จะก้าวได้ช้ากว่าคนอื่น

ปี 2559 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา มีรายได้ 30,114 ล้านบาท และมีกำไร 9,244 ล้านบาท
ปี 2559 บริษัท โรบินสัน มีรายได้ 30,767 ล้านบาท และมีกำไร 2,815 ล้านบาท

ย้อนกลับไปจุดเริ่มที่จะก้าวตามไม่ทัน

ถามว่าตอนนั้น ทุกคนรู้ไหม? ว่าเมอร์รี่คิงส์เริ่มจะสู้คู่แข่งไม่ได้แล้ว
คำตอบ คือ ทุกคนรู้ และเจ้าของเองก็น่าจะรู้ตัวเช่นกัน

แต่ในที่สุดเจ้าของก็ยังทำได้ไม่ดีพอ ที่จะฝืนวงจรแห่งความถดถอย
แล้วถ้ามองภาพใหญ่ขึ้น

ถ้าให้ตอนนี้นึกถึงเรื่องทำนองนี้ ที่ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า แต่เป็นประเทศทั้งประเทศ
ประเทศไทยของเรา..

คงไม่ต้องหลอกตัวเองว่า ทุกคนเริ่มรู้สึกว่าตอนนี้สู้ประเทศคู่แข่งไม่ได้แล้ว

เป็นคำถามที่น่าคิดต่อไปว่า เจ้าของประเทศไทย หรือเราทุกคน จะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนแปลงวงจรนี้ให้ดีขึ้น
เพื่อไม่ให้ประเทศไทย สุดท้ายต้องกลายเป็นตำนานเหมือน เมอร์รี่คิงส์..

ที่มา : http://longtunman.com/1944