thanut-uniqlo

ถ้าถามว่าคนรวยที่สุดในญี่ปุ่นเป็นเจ้าของธุรกิจอะไร คนทั่วไปคงนึกถึงแต่ธุรกิจไฮเทค เช่น รถยนต์ toyota honda หรือ หุ่นยนต์ หรือ อุตสาหรรมหนักต่างๆที่ญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย

แต่จริงๆแล้วคนรวยที่สุดในญี่ปุ่นเป็นเจ้าของบริษัท Fast Retailing หรือเจ้าของแบรนด์ Uniqlo ที่คนไทยรู้จักกันดีว่าเป็นร้านเสื้อผ้าในห้างที่ขายเสื้อผ้า basic อาจจะไม่ได้ถูกเหมือนในตลาดนัด แต่ไม่ได้แพงมากเหมือนแบรนด์หรูอื่นในห้าง

ปัจจุบัน Fast Retailing มีมูลค่าบริษัทประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นเชนร้านเสื้อผ้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจาก บริษัท Inditex จากสเปนที่เป็นเจ้าของแบรนด์ Zara และ บริษัท Henness&mauritz จากสวีเดนที่เป็นเจ้าของแบรนด์ H&M ถ้าเทียบกับบริษัทในไทยก็ใหญ่ใกล้เคียงบริษัท ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คุณทาดาชิ ยาไน ถือหุ้นบริษัทนี้อยู่ 21.7% ซึ่งก็มากเพียงพอที่จะทำให้เขาเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในญี่ปุ่น

Fast Retailing มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โตเกียวประเทศญี่ปุ่น เริ่มผลิตเสื้อในแบรนด์ของตัวเองโดยเอาตัวอย่างมาจากบริษัท Gap ของอเมริกา แต่ปรากฎว่าตอนนี้ยอดขายแซงหน้าบริษัท Gap ที่อยู่อันดับ 4 ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับคำว่า Uniqlo มาจากชื่อดั้งเดิมคือ Unique Clothing จึงย่อเป็น Uni-Clo ต่อมาพนักงานสาขาในฮ่องกงสะกดชื่อบริษัทผิดเป็น Uni-Qlo แต่เจ้าของเห็นกลับถูกใจ จึงเปลี่ยนชื่อของตัวเองในสาขาญี่ปุ่นทั้งหมดเป็น Uniqlo

ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานทั้งหมด 69,921 คนทั่วโลก มีสาขาในญี่ปุ่นทั้งหมด 837 สาขา และสาขานอกประเทศญี่ปุ่นอีก 18 ประเทศ 958 สาขา ซึ่งประเทศไทยมี 32 สาขา บริษัทมียอดขายทั่วโลกต่อปีประมาณ 5 แสนล้านบาท ที่น่าสนใจคือ บริษัทมีต้นทุนค่าสินค้า 52% ของรายได้ และค่าใช้จ่ายในการขาย อีก 39% หลังจากหักภาษีแล้วบริษัทเหลือกำไรเพียง 2.7% ของรายได้ ถ้า Uniqlo จะขายเอากำไรบางขนาดนี้ แบรนด์อื่นที่อยู่ในห้างก็คงจะมาขายแข่งให้ถูกกว่าลำบาก

ที่น่าสนใจคือบริษัทมีค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานอยู่ที่ 242,003 ล้านเยนต่อปี ถ้าคิดจากพนักงาน 69,921 คนแล้ว เงินเดือนต่อคนจะตกอยู่ที่ 83,000 บาทต่อคนเลยทีเดียว สอดคล้องกับที่ข้อมูลที่ผมได้ทราบมาว่า Uniqlo ประเทศไทยรับพนักงานขายในร้านวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งก็จะสัมผัสได้ว่าพนักงานในร้านเขาดูแตกต่างจากร้านอื่นจริงๆ บริษัทมีทางเลือกที่จะจ้างพนักงานค่าแรงถูกกว่านี้ แต่บริษัทกลับเห็นว่าคุณภาพการบริการเป็นเรื่องสำคัญกว่ากำไรที่บริษัทจะได้มากขึ้น ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขก็คงคุ้มค่าเพราะเฉลี่ยแล้วพนักงานหนึ่งคนทำยอดขายให้บริษัทประมาณ 600,000 บาทต่อเดือน พอได้พนักงานที่มีความสามารถ ยอดขายของบริษัทก็มากตาม

ถึงแม้ว่ากำไรของบริษัทต่อยอดขายจะบางมากจนอาจจะน้อยกว่าเสื้อผ้าที่ขายตามตลาดนัดด้วยซ้ำ แต่ด้วยแบรนด์และความน่าเชื่อถือเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยทำให้ขายในปริมาณที่มาก และขยายสาขาไปเรื่อยๆได้ ซึ่งดูแล้วบริษัทนี้ก็น่าจะขยายสาขาได้อีกในหลายประเทศทั่วโลก เพราะพึ่งขยายสาขาไปเพียงแค่ 18 ประเทศเท่านั้น

ถ้าดูตัวอย่าง starbucks และ uniqlo บางทีธุรกิจก็ไม่ต้องการวิทยาศาสตร์ไฮเทคอะไรมากมายที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ การทำธุรกิจธรรมดาเช่น ร้านกาแฟ ร้านเสื้อผ้า ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ถ้าคุณภาพสินค้าและ บริการ ถูกใจผู้บริโภค สิ่งที่ต่างกันคือธุรกิจในไทยส่วนใหญ่จะมองสั้นๆและเน้นว่าให้ได้กำไรตอนนี้เยอะๆในปัจจุบันเท่านั้น แต่ไม่ได้สนใจการจ่ายเงินให้กับการสร้าง Brand Loyalty ให้คนกลับมาซื้อซ้ำในระยะยาว