เรามาว่ากันต่อสำหรับในส่วนหลังของ 10 กลยุทธ์จากโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เปลี่ยนไปจากครั้งก่อน ดังนี้
กลยุทธ์ที่หก เน้นความเป็นศูนย์กลางมาที่โดนัลด์ ทรัมป์คนเดียว: โดยทีมงานที่เหลือเป็นเพียงแขนขาให้กับทรัมป์เท่านั้น จะเห็นได้ว่าในรอบนี้ ทรัมป์แบ่งสายการทำงานออกเป็น 3 ฝั่ง คือ ด้านการต่างประเทศ ที่มอบหมายให้ พีท เฮกเซท รมว. กลาโหม เป็นกระบอกเสียงออกไปในประเทศต่าง ๆ ให้กับตนเอง และเดินเกมแบบลงรายละเอียดผ่านมาร์โค รูบิโอ รมว. ต่างประเทศ ในขณะที่ เจ ดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นผู้คอยวิจารณ์นโยบายภายในของประเทศต่าง ๆ ตามแนวทางที่ทรัมป์มอบหมายให้ โดยมีปีเตอร์ นาวาโร ที่ปรึกษาคอยดูแลโทนนโยบาย
สำหรับด้านเศรษฐกิจ ทรัมป์ถือว่าออกโรงเองบ่อยขึ้น ทั้งตบและปลอบประธานธนาคารกลางสหรัฐ เจย์ พาวเวล ผ่านคำแนะนำของ สก็อต เบสเสนท์ รมว. คลัง โดยเน้น 2 เป้าหมายหลัก ได้แก่ ทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐ 10 ปีให้อยู่ในจุดที่ต่ำที่สุด และ เน้นให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงในช่วงที่เหมาะสม โดยที่ตั้ง Tariff rate สูงกว่าระดับที่ประเทศคู่ค้าตั้งกำแพงภาษีต่อสหรัฐ ท้ายสุด การทำให้หน่วยงานต่าง ๆของรัฐบาลสหรัฐมีความ lean โดยเน้นการปลดคนออก ผ่านหน่วยงาน D.O.G.E. ของอิลอน มัสก์ โดยถือว่ามีแพะที่ให้รับในอนาคต หากประชาชนสหรัฐฝั่งตรงข้ามไม่พอใจไปในตัวได้อีก
เจ็ด Trade War 2.0 เน้นผลประโยชน์ตรงหน้าไว้ก่อน: โดยแบ่งการตั้งกำแพงภาษีเป็น 2 แบบ คือ แบบเจาะจงประเทศ โดยมีสไตล์แบบกล้าเปิดหน้าเน้นผลประโยชน์ตรงหน้าไว้ก่อน อาทิ Tiktok ของจีน และ Greenland ของเดนมาร์ก จากนั้น เมื่อเสร็จดีลที่ได้ประโยชน์ในทางธุรกิจตรงหน้าเรียบร้อย แล้วค่อยตามด้วย Trade War แบบตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าส่งออกของประเทศนั้น และ แบบ recipocral tariff หรือเน้นการตั้งกำแพงในระดับที่ไม่ต่ำกว่าที่เก็บภาษีจากสินค้าส่งออกของสหรัฐ
นอกจากนี้ ยังเน้นเรียงลำดับการตั้งกำแพงภาษีต่อประเทศที่ไม่มีหนทางตอบโต้แบบเป็นชิ้นเป็นอัน อาทิ เม็กซิโก และ แคนาดา (Country) ก่อนเพื่อน จากนั้น ค่อย ๆ ไล่เล่นต่อไปยังประเทศท่ีมีอิทธิพลมากขึ้นเป็นลำดับ (Major Country) โดยไล่ไปยังประเทศที่แข็งแกร่งที่สุด ได้แก่ จีน
แปด ทรัมป์เข้าใจกลไกด้านนโยบายการเงินของเฟดดีขึ้น (แม้จะช้าไปหน่อยในบางครั้ง): หากยังจำกันได้ ในวันแรก ๆ ที่เข้ามารับตำแหน่งในรอบนี้ ทรัมป์เคยกล่าวว่าเขารู้เรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยดีกว่าเจย์ พาวเวลเสียอีก และสวนกับการตัดสินใจคงดอกเบี้ยของการประชุมเฟดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในทันทีว่าควรลดดอกเบี้ยมากกว่า ทว่าหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ภายใต้การติวเข้มของทีมงานเศรษฐกิจที่ย้ำว่าควรเก็บอาวุธด้านนโยบายการเงินไว้ใช้ยามเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทรัมป์ได้เปลี่ยนใจหันมาชมเฟดว่าตัดสินใจถูกต้องในการคงดอกเบี้ย ทำให้น่าจะพอคาดได้ว่าทรัมป์เริ่มพอเข้าใจกลไกด้านนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นแล้ว และน่าดีใจที่เขาเองยังเชื่อมือทีมงานฝั่งสก็อต เบสเสนต์ และ เควิน ฮาสเส็ทในเรื่องเศรษฐกิจอยู่พอสมควร
เก้า นโยบายต่างประเทศหลัก อาทิ สงครามยูเครน และ Gaza เน้นแนวลับ ลวง พราง: โดยอย่างที่กล่าวไว้ว่า ทรัมป์ในรอบนี้ มาแบบพิจารณาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลักไว้ก่อน แถมยังมาแนวลับ ลวง พราง ไม่ว่าจะกล่าวถึงยูเครนว่าอาจจะเป็นของรัสเซียหรือไม่เป็นก็ได้ โดยที่ทรัมป์เหมือนจะพูดคุยเรื่องนี้กับวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในทางลับ หรือเปล่า อันนี้ ยังมีหลายคนสงสัยในเรื่องนี้ หรือการวางแผนจะให้พื้นที่ Gaza มาอยู่ภายใต้การครอบครองของสหรัฐ โดยพยายามจะเคลียร์ให้จอร์แดนและอียิปต์ช่วยอพยพผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าว ล้วนแล้วแต่มาแบบที่มีแพลนในใจล่างหน้าแต่ไม่ได้เปิดเผยทั้งหมด
ท้ายสุด ทรัมป์จะเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองขององค์กรต่าง ๆ ในสหรัฐให้ลงลึกไปจนถึงระดับ Deepstate หรือหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง: โดยทรัมป์ตั้งใจให้บุคลากรในองค์กรเหล่านี้รับออร์เดอร์โดยตรงจากตัวเขาเอง ที่สำคัญ มีความตั้งใจใช้กรณีของการสังหารอดีตผู้นำสหรัฐ จอห์น เอฟ เคเนดี้ หรือ JFK เป็นกรณีศึกษาถึงความหยั่งรากลึกของ Deep State ในประวัติศาสตร์สหรัฐ โดยมี โรเบิร์ต เอฟ เคเนดี้ หรือ RFK ซึ่งเป็นทายาทของ JFK รมว. สาธารณสุขในรัฐบาลชุดนี้ เป็นตัวเชื่อมอารมณ์ในเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงอยู่ 4 ประการ ที่มองว่าชัดเจนมาก ในยุคของทรัมป์ 2.0 ได้แก่
- การตอบโต้กันไปมาในประเด็นการขึ้นอัตรา Tariff ในอนาคต น่าจะเป็นประเด็นที่ดูจะมีความเสียหายกว่าการขึ้น Tariff ครั้งแรกต่อประเทศอื่น ๆ
- เซอร์ไพร์สด้านการก่อการร้ายจากอิหร่านจะมาอย่างต่อเนื่อง หากทรัมป์เดินเกมแรง 0yf ในตะวันออกกลาง
- การแตกคอระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับ อิลอน มัสก์ในอนาคต ดูมีความเป็นไปได้ ซึ่งผลกระทบต่อนโยบายของทรัมป์ในส่วนลดค่าใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐสหรัฐจะมีมากแค่ไหนและอย่างไร
- การลุกฮือจากบรรดาผู้เสียผลประโยชน์จากนโยบายของทรัมป์และ D.O.G.E. ของมัสก์ จะมีมากขึ้นเป็นลำดับในช่วง 4 ปีถัดจากนี้
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ, CFP
MacroView, macroviewblog.com