5 เซอร์ไพรส์ ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

ขณะที่เรากำลังอยู่ในท่ามกลางความไม่แน่นอนของวิกฤติโควิด-19 ผมขออนุญาตมองข้ามช็อตไปสักจนถึงสิ้นปี ว่า จะมีอะไรที่เป็นเซอร์ไพรส์ต่อไปอีกที่กำลังรอเราอยู่ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัสเหลือเกินในครั้งนี้ ดังนี้

เซอร์ไพรส์แรกคือ โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสสูงขึ้นมากที่จะพ่ายแพ้ศึกการเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้ โดยผมมองว่ากว่าจะถึงปลายปีนี้จะมีเหตุการณ์ 3 อย่างที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ 1.ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ของสหรัฐ น่าจะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งหรือสองของโลก แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นจุดที่ทางโจ ไบเดน คู่แข่งของทรัมป์ จะนำมาใช้เป็นประเด็นในการหาเสียงได้แบบมีน้ำหนัก

2. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงตกต่ำแบบที่ไม่เคยประสบมาก่อน โดยคาดว่าจะออกมาย่ำแย่กว่าสมัยวิกฤติซับไพร์มพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขคนว่างงาน จีดีพีที่มีการเติบโตแบบหดตัวมาก การไม่สามารถชำระได้ของผู้ออกตราสารหุ้นกู้ภาคเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า Investment Grade รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและผู้บริโภค

และท้ายสุดในแง่มิติทางสังคม ผมมองว่าประชาชนชาวอเมริกันจะตั้งคำถามกับทรัมป์ว่าเหตุใดเมื่อตอน ปีที่แล้ว จึงต้องตัดงบการวิจัยด้านโรคระบาดจนแทบไม่เหลือ รวมถึงจะคลางแคลงใจต่อความสามารถในการจัดการของรัฐบาลกับโควิด-19 ในสหรัฐ ว่าเหตุใดจึงทำได้ดีน้อยกว่าจีน

เซอร์ไพรส์ที่ 2 คือปัญหาเงินเฟ้อในปีหน้ามีโอกาสจะกลับมาอีกครั้งหลังห่างหายไปกว่า 20 ปี ทั้งนี้ ผมมองว่ามี ปัจจัยที่ส่งผลต่อการก่อตัวของเงินเฟ้อแบบเงียบๆ ได้แก่ 1. การหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกจากการกังวลต่อสุขภาพของตนเอง ในขณะที่ปริมาณเงินของธนาคารกลางทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นจนมีมูลค่ารวมสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งเม็ดเงินจากนโยบายการคลังของรัฐบาลทั่วโลก ก็ขึ้นมาสูงสุดเมื่อเทียบกับจีดีพี นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่ในช่วงนี้รัฐบาลของประเทศหลัก ๆ ของโลกต่างออกแพ็คเกจงบกระตุ้นเศรษฐกิจถึงกว่า 10% ของจีดีพี ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

และ 2.ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงจนแตะต่ำกว่า 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในบางช่วงนั้นได้ทำให้โรงกลั่นหลายแห่งในรัสเซียและตะวันออกกลางที่มีขนาดกลางและเล็กต้องปิดตัวลงแบบถาวร เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเปิดเครื่องจักรเพื่อกลั่นน้ำมันใหม่ หลังจากปิดตัวลงชั่วคราว ถือว่าสูงมากจนไม่คุ้ม ผมคาดว่าในปีหน้าเมื่ออุปสงค์ของการใช้น้ำมันกลับมามีมากขึ้นตามจีดีพีที่เพิ่มขึ้นหลังโควิด-19 จะส่งผลให้อุปทานของน้ำมันกลับมาเพิ่มขึ้นไม่ทันระดับอุปสงค์ที่กลับมาใหม่

ผมจึงเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่ราคาน้ำมันดิบเมื่อจะกลับมาอยู่ในระดับที่สูงขึ้นในปลายปีนี้หรือปีหน้า จะสูงแบบ Spike up ขึ้นมาแรงอย่างที่เกินกว่าที่เราคาดการณ์ในวันนี้

เซอร์ไพรส์ที่ 3 บราซิลอาจจะเป็นม้าตีนปลายสำหรับการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยในช่วงนี้ หากให้ประเมินว่าผู้นำคนไหนที่น่าจะถือว่ามีนโยบายตอบโต้โควิด-19 ที่น่าจะอ่อนที่สุด ผมมองว่าหนึ่งในนั้นได้แก่บราซิล โดยเขาออกจะมองไปในแนวว่าโควิด-19 ไม่ได้รุนแรงอย่างที่ประโคมข่าวกัน ดังนั้น ในความเห็นของผม นอกจากอินเดียที่กำลังลุ้นว่าจะออกมาแบบหมู่หรือจ่าแล้ว บราซิลซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ มีโอกาสจะเกิดกรณีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าเพื่อนในช่วงท้ายไตรมาส หรือต้นไตรมาส 3 ซึ่งตรงนี้หากเกิดขึ้นจริงจะถือว่าเป็นคลื่นลูกที่สองของวิกฤติโควิด-19

เซอร์ไพรส์ที่ 4 จีนมีโอกาสจะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า โดยผมมองว่าด้วยความที่สหรัฐต้องแบกรับความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจเป็นอย่างหนัก รวมถึงในแง่ Soft Power ที่ต้องลดลงเป็นอย่างมากจากการสูญเสียชีวิตค่อนข้างมากของชาวอเมริกัน ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ สิ่งที่ต้องทำคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสหรัฐเองให้กลับมาใกล้เคียงเดิม โดยโฟกัสของการเป็นผู้นำโลกในทางการเมืองของสหรัฐน่าจะลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งผมมองว่าจีนเองมีความพร้อมเป็นอย่างสูงที่จะก้าวเข้ามาแทนที่สหรัฐ ในการเป็นผู้นำโลกทั้งในทางเศรษฐกิจและทางการเมือง

เซอร์ไพรส์สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุดของวิกฤติรอบนี้คือ นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ มีโอกาสสูงขึ้นมากที่จะถูกธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดนำมาใช้งาน หรืออย่างน้อยนำมาเป็น candidate ของเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่ให้เฟดนำมาพิจารณาแบบจริงจังสำหรับการสู้กับวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากวิกฤตินี้ลากยาวในสหรัฐไปจนถึงปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

ทั้งนี้แม้ทางเจย์ พาวเวล ประธานเฟด จะกล่าวปฏิเสธว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ไม่ได้อยู่ในทางเลือกนโยบายของเฟดในขณะนี้ ทว่าหากวิกฤตินี้ลากยาวไปจนถึงครึ่งหลังของปีแบบไม่มีทีท่าว่าจะซาลง ผมมองว่าพาวเวลเองคงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องนำยาที่แรงที่สุดนี้มาใช้ในที่สุด เพื่อต่อลมหายใจของเศรษฐกิจสหรัฐในวันที่ทางเลือกของนโยบายใหม่อื่นๆ อาทิ Yield Curve Control ก็ดูเหมือนว่าจะแรงไม่พอสำหรับวิกฤติที่รุนแรงแบบที่มีความไม่แน่นอนสูงมากในครั้งนี้ครับ

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649868