‘บิล ฮวง’ แห่ง Archegos: ผู้กระตุกหนวดแบงก์ใหญ่ระดับโลก

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ราคาหุ้น ViacomCBS ในตลาดนิวยอร์ค ได้ร่วงลงร้อยละ 27 หลังจากที่ได้ขึ้นมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนหนึ่งจากการออกหุ้นบุริมสิทธิที่สามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ด้วยระดับราคา P/E ที่ค่อนข้างสูง โดยสาเหตุหลักของการร่วงลงดังกล่าว เกิดจากการที่บริษัทด้านการลงทุนแบบครอบครัวที่มีชื่อว่า Archegos Capital Management ภายใต้การนำของบิล ฮวง  ได้ทำการขายหุ้น ViacomCBS ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่สูงกว่าปกติหลายเท่า จากการที่หุ้นถูก Forced Sale หรือบังคับขาย เนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาใส่ในบัญชีให้มีมูลค่าตามอัตราส่วนขั้นต่ำดังที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้า

ในขณะที่หุ้นของบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง Nomura และ Credit Suisse ก็ร่วงลงกว่าร้อยละ 14 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ดังรูป โดยแหล่งข่าวแบบไม่เป็นทางการ คาดกันว่า Nomura น่าจะมีความเสียหายจากการปล่อยกู้เพื่อเทรดหุ้นให้กับ Archegos ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ และ Credit Suisse ประมาณ 3-4 พันล้านดอลลาร์ จากการขายหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐและจีนออกมาราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยักษ์ใหญ่ในวงการเงินโลก ไม่ว่าจะเป็น Goldman Sachs และ Morgan Stanley ล้วนแล้วแต่ทำธุรกิจกับบิล ฮวง จนดูเหมือนต้องโดนหางเลขกันไปไม่มากก็น้อย

‘บิล ฮวง’ แห่ง Archegos: ผู้กระตุกหนวดแบงก์ใหญ่ระดับโลก

คำถามคือเหตุใดบริษัทครอบครัวอย่าง Archegos จึงสามารถทำธุรกิจกับแบงก์ระดับโลกได้ทุกแบงก์ ด้วยตัวเลขหลักหมื่นล้านดอลลาร์? ทำไมหน่วยงาน กลต. ของสหรัฐ จึงไม่สามารถป้องกันหรือเตือนว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ และ จะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างจากจุดเริ่มต้นนี้ในวงการเงินระดับภูมิภาคและระดับโลกหรือไม่?

เริ่มจากว่าทำไมแบงก์ใหญ่ระดับโลกจึงสนใจทำธุรกิจกับบิล ฮวง คำตอบคือ ธุรกิจ Prime Brokerage หรือการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าอย่าง Archegos เพื่อนำเงินไปลงทุนในการเทรดหุ้นที่มีการใช้ตัวทวีคูณ ทั้งในทิศทางที่หุ้นขึ้นหรือลงนั้น ถือเห็นธุรกิจที่สร้างกำไรอย่างงามจนแบงก์อย่าง Goldman Sachs และ Morgan Stanley ซึ่งมีผลประกอบการที่ดีมากเมื่อปีที่แล้ว โดยปัจจัยหลักส่วนหนึ่งก็ด้วยจากธุรกิจนี้

แล้วทำไมต้องเป็นบิล ฮวงด้วย? คำตอบคือฮวงเป็นเทรดเดอร์ระดับพระกาฬ ที่มีอยู่ไม่กี่คนในโลกที่เก่งและกล้าเทรดแบบเสี่ยงได้ขนาดนี้ โดยในอดีต เคยเป็นหนึ่งใน Tiger Club หรือกองทุน Tiger Management Fund อันเลื่องชื่อด้านการเทรดแบบหวือหวาในอดีต แม้ว่าเขาเองจะมีประเด็นกับทางการด้านกำกับตลาดทุนของฮ่องกงและสหรัฐ ทว่าเมื่อพ้นกำหนดเส้นตายที่ไม่ให้ทำธุรกรรมต่าง ๆ แบงก์ใหญ่ต่างก็พากันทำธุรกิจกับเทรดเดอร์ในตำนานท่านนี้

มาถึงคำถามที่ว่าทำไมหน่วยงาน กลต. ของสหรัฐ จึงไม่สามารถป้องกันหรือเตือนว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้? เหตุผลมีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ ได้แก่

1. กฎหมายของสหรัฐระบุว่าหากบริษัทด้านการลงทุนใดมีจำนวนลูกค้าไม่ถึง 5 คน สามารถที่จะเลือกไม่เปิดเผยข้อมูลต่อทางการได้ โดย Archegos ก็เลือกใช้ช่องทางนี้ในการทำธุรกิจ และ

2. Archegos เลือกที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า Total Return Swap (TRS) หรือการแลกเปลี่ยนระหว่างกระแสเงินสดแบบคงที่จ่ายให้กับฝ่ายหนึ่ง โดยที่ได้รับผลตอบแทนที่ขึ้นอยู่กับระดับราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของกลุ่มหุ้นที่เลือกไว้ โดยที่มีการใช้ตัวทวีคูณหรือ Leverage ในการเพิ่มขนาดของกำไรหรือขาดทุนให้สูงขึ้นไปอีก มีบางกระแสรายงานว่า Archegos น่าจะใช้ตัวทวีคูณถึง 8 เท่าในการทำธุรกรรม TRS ในหุ้นต่างๆ

โดยการใช้เครื่องมือนี้ ทำให้การรายงานการซื้อหรือขายหุ้นที่อยู่ใน TRS จึงไม่มีชื่อของ Archegos เป็นผู้ซื้อหรือขาย หากแต่เป็นแบงก์ใหญ่ที่ทำธุรกรรม TRS กับ Archegos ต่างหาก ที่ถูกรายงานว่าเป็นผู้ทำรายการซื้อหรือขายนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีใครระแคะระคายถึงการเทรดหุ้นของบิล ฮวง แต่อย่างใดในช่วงที่ผ่านมา

ท้ายสุด แล้วจะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างจากจุดเริ่มต้นนี้ของ Archegos ในวงการเงินระดับภูมิภาคและระดับโลกหรือไม่? คำตอบคือน่าจะมีโอกาสน้อยมาก ที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างเหมือนกับกองทุน LTCM เมื่อปี 1999 หรือเหมือนกับตราสารซับไพร์มของสหรัฐในปี 2008 เนื่องจากสถาบันการเงินของโลกมีระบบการดำรงเงินกองทุนที่เข้มแข็งขึ้นเป็นอย่างมากกว่าในช่วงซับไพร์ม รวมถึงระบบการ Settlement ของการเทรดหุ้นทั่วโลก ก็มีการใช้ระบบรวมเป็นศูนย์กลางหรือ Centralized ที่มีหน่วยงานกลางของทางการคอยดูแลไม่ให้สภาพคล่องต่ำเกินไป รวมถึงไม่ให้มีความเสี่ยงด้านเครดิตจากคู่ค้า โดยที่มีหน่วยงานกลางที่เป็นคู่ค้าแทนเพื่อรับความเสี่ยงดังกล่าวไป

อย่างไรก็ดี คำถามที่น่าสนใจกว่าในตอนนี้ คือ จะมีบิล ฮวง คนที่ 2, 3,.. ยืนรอเราอยู่โดยที่ทั่วโลกไม่รู้ตัวอีกหรือไม่? การทำธุรกิจของแบงก์ใหญ่ระดับโลก ยังจะมีความเสี่ยงแบบนี้หรือมากกว่าเหลืออยู่ในพอร์ตทั้งในตอนนี้และในอนาคตอีกมากน้อยอีกแค่ไหน? ที่สำคัญ ทางการด้านกำกับการลงทุนจะมีระบบที่แยบยลกว่านี้ในการกำกับการลงทุน เพื่อป้งกันไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นได้อีกหรือเปล่า?

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/652271