โดนัลด์ ทรัมป์

หากจะพิจารณาสาเหตุที่ว่าตลาดหุ้นสหรัฐขึ้นมาเกือบร้อยละ 10 นับตั้งแต่วันที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ที่ผ่านมา ผมคิดว่าหนึ่งในเหตุผลหลักคือวิธีการที่นายทรัมป์กล้าที่จะเลือกคนที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆได้แบบตรงจุด ที่สำคัญ คือการพลิกโฉมจากการเลือกคนเพื่อมาเติมตามตำแหน่งต่างๆ

กลับหันมามองว่าโจทย์ไหนที่ว่าที่รัฐบาลใหม่ของเขาต้องเผชิญแบบจังๆ แล้วเลือกคนที่ดีที่สุดในอเมริกาเพื่อมาต่อสู้กับโจทย์หินดังกล่าว ผมเรียกกลยุทธ์ของนายทรัมป์ดังกล่าวว่าเทคนิคแบบ Man-to-Man ในกีฬาฟุตบอล ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลในสมัยก่อนๆของสหรัฐที่มุ่งไปที่ตำแหน่งสำคัญอย่างรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีคลัง เสร็จแล้วก็ให้คนเหล่านี้ไปหาทีมงานกันเอง ซึ่งผมเรียกกลยุทธ์มนอดีตที่ว่าเหมือนเป็น เทคนิคแบบการคุมโซน ซึ่งกลยุทธ์แรกจะใช้ประโยชน์ได้ดีถ้ามีโจทย์ยากๆ อาทิ ประธานธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย และนายสี จิ้น ผิงของจีนที่สหรัฐต้องคอยตามประกบ หรือแม้แต่โจทย์การสร้างงานของคนชาวรากหญ้าและกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นของสหรัฐก็ตาม

บทความนี้ ผมจึงขอนำเสนอ 7 คีย์แมน หรือ Magnificent Seven ของนายทรัมป์ที่ได้เลือกมา จนถึงนาทีนี้ ดังนี้

เริ่มจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่นายทรัมป์ ตั้งใจเป็นอย่างมากในการเลือก “นายเรกซ์ ทิลเลอร์สัน” CEO ของ Exxon Mobil มาประกบติดนายวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ลองนึกดูง่ายๆว่าบ่อขุดเจาะน้ำมันเกือบทั้งหมดที่บริษัทน้ำมันในอเมริกาเกือบทั้งหมดเป็นของ Exxon Mobil คงจะไม่ต้องบรรยาสรรพคุณของนายทิลเลอร์สันว่าเชี่ยวชาญในการเจรจากับผู้นำรัสเซียขนาดไหน นอกจากนี้ นายทิลเลอร์สันยังได้ชื่อว่าเป็น dealmaker ตัวยงไม่ว่าจะเป็นดีลใหญ่ๆย่านไหนของโลก ปู่ T-rex ทำมาหมดแล้ว

คนที่สอง “นายเทอร์รี แบรนด์สตัดท์” อดีตผู้ว่าการรัฐไอไอว่า ชาวอเมริกันที่นายสี จิ้น ผิง รู้จักและพูดคุยมากที่สุด โดยสมัยหนุ่มๆ ทั้งคู่ถือได้ว่าคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี อย่างที่ทราบกันว่า คนจีนให้ความสำคัญกับ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ่” นายแบรนด์สตัดท์มีตรงนี้อยู่พร้อมในสายตาผู้นำจีน จึงน่าจะนำจุดดีตรงนี้มาช่วยในตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนของสหรัฐมากล่อมนายสี จิ้น ผิง ให้อ่อนกับสหรัฐมากกว่าตอนนี้

ท่านที่สาม “นายแกรี คอห์น” เบอร์สองของโกลด์แมน ซัคส์ แหล่งผลิตรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าธนาคารกลางทั่วโลก มาช่วยเป็นกุนซือให้กับนายทรัมป์ในการคุมเกมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในฐานะประธานที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจของนายทรัมป์ ผมคิดว่านายคอห์นจะมาช่วยมองภาพใหญ่และคลายกฎการคุมเข้มแบงก์ในอเมริกา ผมมองว่านายคอห์นคือมือเศรษฐกิจที่ดีที่สุดเท่าที่นายทรัมป์เลือกมาจนถึงวินาทีนี้

คนที่สี่ “นายเจมส์ แมททิส” ฉายา “Maddog” มาเป็นฝ่ายบู๊ทางทหารชนกับตะวันออกกลาง จีน และรัสเซีย ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ สายแข็งฮาร์ดคอร์ พร้อมลุยในการรบกับทุกที่ ตรงนี้ ถือว่าเป็นจุดที่เป็นสิ่งที่นายทรัมป์ไว้ชดเชยงบการทหารที่ลดลงของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา

ห้า “นายวิลเบอร์ รอส” มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ อดีตผู้จัดการกองทุนมากว่า 40 ปี ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ ใจเย็น ทำสงครามการค้ากับจีนก็ไม่รุนแรง ทำให้ไม่ห่วงว่าจะเกิดสงครามการค้าอย่างหนักกับจีนอย่างน้อยในช่วงปีแรกของวาระนายทรัมป์

หก “นายสตีเฟน นูชิน” รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงอายุ 50 ต้นๆ มาจากโกลด์แมน ซัคส์ ผมคิดว่าจุดนี้เป็นจุดเสี่ยงของรัฐบาลทรัมป์ เนื่องจากผมไม่แน่ใจว่านายนูชินจะทำงานได้ดีเทียบกับศิษย์เก่าโกลด์แมน ซัคส์ท่านก่อนๆในตำแหน่งนี้ได้ไหม เนื่องจากเขาดูเป็นรองรุ่นพี่คนก่อนๆ

ท้ายสุด Magnificent Seven คือสายที่เอาไว้รองรับแรงกดดันจากภายในพรรครีพับลิกัน มี “นายรีออน พรีบัส” และ “นายไมค์ เพนซ์” ในตำแหน่ง Chief of Staff และรองประธานาธิบดี มาคุมเกมการเมืองภายในพรรคและภาพลักษณ์ทางการเมืองต่อสาธารณชนของนายทรัมป์

โดยภาพรวม ถามว่าทีมทรัมป์มีดีพอว่าจะทำให้อเมริการุ่งโรจน์ได้ไหม ผมคิดว่ายังขาดคนที่คอยคุมจังหวะเกมทางเศรษฐกิจมือดีอีกคน ซึ่งอาจจะเป็นคนสุดท้ายที่นายทรัมป์ประกาศก่อนวันที่ 20 มกราคมปีหน้าก็เป็นได้ครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639781