ความเสี่ยง เศรษฐกิจไทย

ช่วงนี้ ต้องบอกว่าดีกรีความเสี่ยงการเมืองในบ้านเราเริ่มสูงขึ้น ทว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยก็ร้อนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ผมขอประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่สี่ ของปี 2016 ไว้ดังนี้

หนึ่ง ผมคิดว่าในเวลาอีกไม่กี่ปี พฤติกรรมหมิ่นเหม่ของพนักงานธนาคารที่คล้ายๆกับ Wells Fargo Bank ในสหรัฐอเมริกาอาจจะเกิดขึ้นในไทย ผมสังเกตดูกระทู้ในพันทิป มีพนักงานแบงก์หลายๆท่านบ่นว่าต้องทำงานปั่นยอดกันจนหัวหมุนไม่เว้นแม้กระทั่งเสาร์อาทิตย์ ผมกังวลว่าความกดดันจาก KPI ของแบงก์ต่างๆ จะทำให้พฤติกรรมของแบงก์บ้านเราจะออกไปทางที่ปรับจูนบัญชีของลูกค้าอย่างที่พนักงาน Wells Fargo ทำกัน แม้เราจะบอกว่ามีการตรวจสอบกันอย่างเต็มที่ แต่ระบบการตรวจสอบของแบงก์ในอเมริกาก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่าบ้านเรา ก็ยังประสบปัญหากันอย่างหนักหน่วง ทำให้ต้องระมัดระวังประเด็นนี้ในบ้านเราให้เข้มข้น

สอง กระแสฟันด์โฟลว์ในปีหน้า น่าจะเข้ามาฝั่งตลาดเกิดใหม่น้อยลง จากการที่เฟดเริ่มขยับดอกเบี้ยขึ้นและธนาคารกลางยุโรปอาจจะเริ่มชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ที่สำคัญ หากพิจารณาในบรรดาประเทศอาเซียนด้วยกัน จะพบว่ามาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ น่าจะเริ่มจะเข้าสู่ช่วงเวลาที่เริ่มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ไทยอาจยังต้องคงอัตราดอกเบี้ยไปนานกว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจทำให้เม็ดเงินที่เข้ามาในย่านอาเซียนไหลไปประเทศทั้งสามมากกว่าบ้านเรา นอกจากนี้ ต้องจับตาการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ของบ้านเราที่เริ่มขาดดุลในเดือนล่าสุด ส่วนหนึ่งมาจากการที่แบงก์ชาติญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มี FDI เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของการลงทุนทั้งหมดที่เข้ามาบ้านเราสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เริ่มปรับกระบวนทัพนโยบายการเงินใหม่ และธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดส่อจะขึ้นดอกเบี้ย

สาม การส่งออกในบ้านเรา ยังคงไม่มีความชัดเจนว่ามีการปรับปรุงในเชิงโครงสร้างไปมากเพียงใดแล้ว จนจะทำให้ตัวเลขส่งออกในภาพรวมกระเตื้องขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังหรือยัง อีกทั้งถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ สถานการณ์ดังกล่าวจะยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก เนื่องจากนายทรัมป์มีนโยบายที่ปกป้องการค้ามากจนกระทั่งสินค้าหลายรายการของบ้านเราส่อเค้าว่าจะถูกกีดกันให้ส่งออกไปที่สหรัฐได้ยากลำบากมากขึ้น

สี่ การออกหุ้นกู้แบบ Non Rated หรือตราสารหนี้ที่มิได้รับการจัดอันดับ ในปี 2557-2558 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวทั้งหมด อยู่ในระดับที่ประมาณ 6-7% ซึ่งแม้จะดูไม่สูง ทว่าหากคิดเป็นตัวเงินก็ถือว่าแตะหลักหมื่นล้านบาท หากพิจารณาจากในอดีต วิกฤตซับไพร์มในสหรัฐ ก็เกิดจากการที่มองว่าหนี้ซับไพร์มมีอยู่เพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ของตราสารหนี้ในสหรัฐ ผมคิดว่าความคล้ายคลึงของรูปแบบเหตุการณ์ทั้งสองมีอยู่ให้เห็นไม่น้อย แม้จะไม่ถึงระดับน่าตกใจแต่ก็อย่าประมาทโดยเด็ดขาด

ท้ายสุด ความเสียงที่ผมคิดว่าเราอาจจะพูดกันน้อยไป มิใช่มาจากการที่เศรษฐกิจจีนจะ Hard Landing แต่น่าจะเป็นผลกระทบหลังจากการเศรษฐกิจจีนไม่ว่าจะ Medium Landing หรือ Hard Landing แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ผมว่า ถ้าจีนเริ่มเซ การท่องเที่ยวไทยที่เป็นหัวใจหลักของการเติบโตในบ้านเรา ต้องถูกกระทบมากกว่าที่คิดเพราะนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางล่างหรือเกษตรกร เป็นกลุ่มคนจีนที่จะถูกกระทบมากที่สุด จากการเซของเศรษฐกิจจีนรอบต่อไป เพราะจีนตอนนี้มีแค่คน 2 กลุ่ม คือ คนรวย กับ คนจน ที่ว่าชนชั้นกลางของจีนซึ่งสื่อตะวันตกพูดถึงบ่อยๆ ผมนิยามว่าเป็นคนรวย ซึ่งไม่ค่อยมาเที่ยวเมืองไทย คนกลุ่มนี้ ถือว่าลอยตัวไปเรียบร้อยแล้วไม่โดนกระทบจาก Hard Landing เพราะมีสินทรัพย์ในมืออยู่พอสมควรแล้ว แต่ที่มาเที่ยวไทยส่วนใหญ่คือคนหาเช้ากินค่ำที่เริ่มจะมีเก็บ ซึ่งจะไม่มาเที่ยวต่างประเทศทันทีหากเศรษฐกิจจีนเกิดสะดุดขึ้นมา ตรงนี้ มาตรการที่ตอบโต้ทัวร์ศูนย์เหรียญของบ้านเราต้องมองข้ามชอร์ตถึงความจริงข้อนี้ด้วย

ผมมองว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยช่วงปลายปี 2016 มีอยู่ไม่น้อยแต่ก็ไม่มากกว่าปีก่อนสักเท่าไหร่ครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639146