ตัวเลขจีดีพีญี่ปุ่น ล่าสุด ประจำไตรมาสที่ 1 ปรากฎว่าหดตัว 0.2% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี คำถามที่ผมได้รับจากนักลงทุนตราสารกองทุนรวมของญี่ปุ่น คือ เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงอีกหรือเปล่า ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ผมขออธิบายก่อนว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เติบโตมาแบบไม่สะดุดกว่า 2 ปีนี้ เกิดจากปัจจัยใดบ้าง

ปัจจัยแรก ได้แก่ การส่งออกของญี่ปุ่นที่เติบโตได้ดีมากในช่วง Abenomics ส่วนใหญ่เกิดจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตได้ดีแบบทั่วถึงทั้งในมิติภูมิภาคและรายอุตสาหกรรม อย่างที่ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟได้ทบทวนตัวเลขจีดีพีของทั่วโลกเมื่อเดือนที่แล้วขึ้นมา โดยให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมเติบโตถึง 3.9% โดยตราบใดที่เศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้ดี ก็จะทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นยังเข้มแข็งต่อไป

ปัจจัยที่สอง การเพิ่มของสินค้าทุนหรือการลงทุนในเครื่องจักรหรือสาธารณูปโภคต่างๆในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในญี่ปุ่น การลงทุนดังกล่าวส่วนใหญ่จะเกิดในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิค 2020 อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ หันมาลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองอุปสงค์ในประเทศ อย่างไรก็ดี การส่งออกที่ยังไปได้ดีจากสินค้าในกลุ่ม IT ได้แย่งสินค้าทุนเหล่านี้ไป ทำให้ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมในช่วงนี้ นอกจากนี้ เนื่องจากว่าแรงงานในญี่ปุ่นยังเป็นที่ขาดแคลน ทำให้การลงทุนในเครื่องจักรประเภทRobot และ Artificial Intelligence เกิดขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงนี้และต่อจากนี้ ย่อมจะส่งผลต่อการลงทุนในสินค้าคงที่ของภาคเอกชนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก รวมถึงการที่อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มเป็นบวก น่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นหรือ Sentiment ของบริษัทเอกชน ซึ่งจะไปหนุนให้เกิดความต้องการในการลงทุน

ปัจจัยที่สาม การบริโภคของชาวญี่ปุ่น ก็เกิดการฟื้นตัวได้เป็นอย่างดีเมื่อสถานการณ์การจ้างงานดีขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงการส่งออกและการท่องเที่ยวที่บูมมากในญี่ปุ่น แม้รัฐบาลของนายชินโซะ อาเบ้ จะมีแผนที่จะทำการขึ้นภาษีการบริโภค หรือ consumption tax rate ในเดือนต.ค. 2019 ก็ตาม ทว่าการยกเว้นหรือการใช้อัตราภาษีที่ต่ำกว่าในเซกเมนท์ที่จำเป็น รวมถึงการให้บริการการศึกษาฟรี ย่อมจะส่งผลให้การขึ้นภาษีในครั้งน้ ไม่มีผลต่อเศรษฐกิจเหมือนกับตอนปี 2014

ที่มาภาพ: Kyodo Graphic

โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอลงในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยแรกคือการส่งออกของญี่ปุ่นที่ชะลอลงจากช่วงที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนรุนแรงช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมาชั่วคราว ซึ่งไปกระเทือนการส่งออกของญี่ปุ่นชั่วคราว โดยที่ปัจจัยการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคครัวเรือนยังคงดีอย่างต่อเนื่อง ผมจึงมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่หดตัวลงในไตรมาสนี้ เป็นแค่การสับขาหลอกของตัวเลขเศรษฐกิจเพียงชั่วคราวเท่านั้น

หากจะมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เห็นจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่เริ่มจะส่งสัญญาณให้เกิดการปกป้องการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่จะกระเทือนต่อระเบียบการค้าโลกมากกว่า ที่สำคัญ การที่อัตราการเติบโตค่าจ้างของสหรัฐเริ่มที่เด่นชัดขึ้นในช่วงหลังอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 3 ครั้ง นั่นก็อาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดทุนทั่วโลก ท้ายสุด ทัศนคติของชาวญี่ปุ่นที่เคยชินกับอัตราเงินฝืดก็อาจส่งผลต่อการพลิกฟื้นให้อัตราเงินเฟ้อไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่อัตราร้อยละ 2 ได้ในเร็ววัน

อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นได้เปรียบประเทศตะวันตก ตรงที่สถาบันการเงินของญี่ปุ่นถือว่าเข้มแข็งกว่าคู่แข่งเนื่องจากมีเงินกองทุนที่แน่นกว่า ดังนั้น การดำเนินงานในยุคที่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำย่อมสามารถทำได้ดีกว่าชาติตะวันตก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้มากกว่า จากมีกลไกในการเชื่อมต่อจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายให้ถึงเศรษฐกิจจริงได้ดีกว่าเพราะแบงก์ทนต่อการมีกำไรที่ลดลงได้มากกว่า โดยแม้เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็ยิ่งจะมีความได้เปรียบมากขึ้น

นอกจากนี้ นายฮาริโอเกะ คูโรด้า ผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นก็ได้เปลี่ยนแนวทางการบริหารนโยบายการเงินให้มีความผ่อนคลายมากกว่าปลายปีที่แล้วมาก

ผมจึงมองว่า ในแง่ของเศรษฐกิจแล้ว ญี่ปุ่นถือว่ายังโอเคเหมือนดิม

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644667