MacroView fed boj

สัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนถึง การเปลี่ยนสไตล์มาตรการของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ที่เพิ่งเปิดตัว ว่าหัวใจมีอยู่ 2 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง การตั้งใจให้อัตราเงินเฟ้อเกินร้อยละ 2 ซึ่งผมขอย้ำว่า ‘เกิน’ ไม่ใช่ให้แค่ ‘เท่ากับ’ ด้วยการทุ่มปริมาณเงินแบบไม่อั้น

สอง การกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีให้มีอัตราเท่ากับร้อยละศูนย์ในช่วงนี้ ซึ่งก็เช่นกันไม่อั้นในแง่ปริมาณเงินว่าจะต้องทุ่มทุนซื้อตราสารทางการเงินมากน้อยเท่าไร โดยในทางพฤตินัย ถือว่า BOJ ยกเลิกมาตรการอัตราดอกเบี้ยติดลบ และอาจจะรวมถึงมาตรการพิมพ์เงินผ่านการซื้อพันธบัตรและ ETF หรือที่เรียกว่า QQE แบบไม่เป็นทางการ มาในคราวนี้ ขอขมวดปมให้เห็นถึงจุดดีและด้อยของมาตรการในครั้งนี้

จุดดีจริงๆ ของมาตรการ BOJ มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่

หนึ่ง การที่นายเบน เบอร์นันเก้ เขียนชื่นชมหลังมาตรการนี้ออกมาไม่ถึง 4 ชั่วโมง นั่นหมายถึงนายเบอร์นันเก้ให้การรับรองว่ามาตรการนี้มาถูกทางแน่ ซึ่งตลาดให้เครดิตกับการการันตีจากเบอร์นันเก้ตรงนี้เป็นอย่างมาก

สอง ในทางเศรษฐศาสตร์มหภาคนั้น ยุทธศาสตร์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการพิมพ์เงินมีอยู่ 2 แบบ โดยแบบแรก เป็นการกำหนดไว้ตายตัวว่าจะพิมพ์เงิน ปีละหรือเดือนละมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น BOJ เคยกำหนดไว้ว่าจะพิมพ์เงินเยนปีละ 80 ล้านล้านเยน ในการซื้อตราสารทางการเงิน สิ่งนี้ในเชิงเทคนิคเรียกกันว่า Rule หรือกฎตายตัว ส่วนแบบที่สอง ให้อิสระกับธนาคารกลางว่าจะพิมพ์เงินมากน้อยแค่ไหนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่จะตั้งวัตถุประสงค์ว่าจะให้อัตราเงินเฟ้อเป็นเท่าไหร่ แล้วพิมพ์กันให้สุดๆไปเลยจนกระทั่งบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว เรียกแนวทางนี้ว่า Discretion

ซึ่งในงานวิจัยเกือบจะทั้งหมดต่างพิสูจน์แล้วว่าวิธีแรกเวิร์กกว่าวิธีที่สอง ในอดีตนั้น แทบจะทุกธนาคารกลางต่างใช้วิธี Rule ในการพิมพ์เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ทว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถือได้ว่า BOJ แหวกม่านประเพณีของวงการธนาคารกลางด้วยการใช้แนวทาง Discretion ว่าจะพิมพ์เงินแบบไม่อั้นให้อัตราเงินเฟ้อเกินร้อยละ 2 ให้ได้ ผมบอกได้เลยว่า BOJ มาถูกทางในเรื่องนี้ถ้าทำได้จริงแบบไม่โฉ่งฉ่าง เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นดำดิ่งลึกเกินกว่าจะใช้แนวทาง Rule เยียวยาเสียแล้ว การหันมาใช้แนวทาง Discretion ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าจะต้องทำมานานแล้ว

หันมาดูจุดด้อยของมาตรการของ BOJ กันบ้าง

ประการแรก การที่ BOJ บอกว่าจะซื้อพันธบัตรและตราสารทางการเงินในตลาดแบบไม่อั้นนั้น ในความเป็นจริงแล้ว แม้ตลาดเงินญี่ปุ่นจะมีความลึกหรือมูลค่าการเทรดของตลาดมากที่สุดเมื่อเทียบกับสัดส่วนของจีดีพี ทว่าก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ โดยตัวเลขที่สถาบันการเงินตะวันตกหลายแห่งประมาณการไว้เมื่อปลายปีที่แล้วว่า BOJ ได้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดไปแล้วราวร้อยละ 40 ของทั้งหมด ยังเหลือให้ซื้ออีกแค่ร้อยละ 15-20 นั้นน่าจะเป็นตัวจำกัดความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลาง

ทว่ามาตรการล่าสุดของ BOJ ก็เตรียมเขียนนิยามตราสารทางการเงินที่ BOJ สามารถซื้อเพื่อแลกกับการพิมพ์เงิน หรือ Eligible Asset ให้กว้างมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณสินทรัพย์ที่ BOJ สามารถจะซื้อเพื่อพิมพ์เงินได้ และ ประการที่สอง ถ้าประชาชนหรือตลาดเลิกให้ความเชื่อถือกับมาตรการของ BOJ ในครั้งนี้เมื่อไร จะมีการขายพันธบัตรในมือประชาชนอย่างมากมาย ตรงนี้ สิ่งที่หลายคนกังวลกันที่เรียกว่า Bond Bubble ก็คงอยู่ไม่ไกลเกินจริง หากเกิดภาวะเสื่อมศรัทธาใน BOJ จริงๆ

คราวนี้ มาดูตลาดหุ้นญี่ปุ่นกันบ้างว่าจะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าตลาดหุ้น Nikkei จะขึ้น ก็ต่อเมื่อ ระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ BOJ สามารถทำตามที่ประกาศมาตรการนี้ไว้ โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นจำเป็นต้องดีขึ้นในระดับหนึ่ง ถ้าทำไม่ได้ มีปัญหาแน่ๆครับ ที่สำคัญคือนายเบอร์นันเก้ ต้องเป็นป๋าดันให้ BOJ อย่างเต็มตัว เพราะตอนนี้ตลาดให้เครดิตกับ นายฮิโรอิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ไม่มากนักจากผลงานที่ผ่านมาในช่วงปีกว่าๆที่ผ่านมา

มาถึงธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด กันบ้าง

คงไม่ต้องสงสัยว่าเฟดพร้อมจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคมนี้แน่ แต่ผมคิดว่ามีปัจจัยอยู่ 2 ประการที่จะทำให้เฟดไม่สามารถทำได้ คือ หนึ่ง หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เหนือนางฮิลลารี คลินตัน แบบค่อนข้างห่าง สิ่งนี้จะทำให้เฟดหมดความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดต่อไป เพราะนายทรัมป์ให้ความเห็นมาโดยตลอดว่าเฟดไม่ควรมีอำนาจมากขนาดนี้ในการดำเนินนโยบายการเงินต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ผมให้โอกาสปัจจัยนี้ว่าจะเกิดขึ้นอยู่ที่ราวร้อยละ 20 ส่วนปัจจัยที่สอง คือ การก่อการร้ายแบบรุนแรงในยุโรปซึ่งผมคิดว่าจากนี้ไปอีก 2-3 เดือนมีโอกาสอยู่ไม่น้อยว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งผมให้โอกาสเกิดขึ้นอยู่ราวร้อยละ 5

โดยภาพรวม ผมคิดว่าจากปัจจัยที่ทั้งทางเศรษฐกิจและไม่ใช่เศรษฐกิจ โดยมองจากทั้งในสหรัฐและทั่วโลก ผมมองว่า มีโอกาสประมาณร้อยละ 70 ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639057