ทำไมธนาคารกลางสหรัฐยุคพาวเวล…ถึงน่าจะเอาอยู่?

ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดในยุคของ เจย์ พาวเวล น่าจะทำหน้าที่ในจังหวะการถอนการกระตุ้นนโยบายการเงิน ได้ดีกว่าในยุคของอดีตประธานเฟดที่ผ่าน ๆ มา

หลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เฟดเองเตรียมจะลดปริมาณการซื้อตราสารทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดบางท่าน เริ่มจะคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2023 ถึง 2-3 ครั้ง

ในมุมของผู้เขียน มองว่าเฟดในยุคของเจย์ พาวเวล น่าจะทำหน้าที่ในจังหวะการถอนการกระตุ้นนโยบายการเงินได้ดีกว่าในยุคของทั้งเบน เบอร์นันเก้ และ เจเน็ต เยลเลน อดีตประธานเฟด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเฟดในยุคนี้ น่าจะได้เปรียบกว่าเฟดยุคในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตรงจังหวะนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. พาวเวลจบการศึกษาขั้นสูงสุดในสายกฎหมาย จึงน่าจะทำให้การสื่อสารตัวเนื้อหานโยบายการเงินต่อสาธารณชน (Monetary Policy Communication) จึงน่าจะทำได้ดีกว่านักเศรษฐศาสตร์สายตรง เนื่องจากพาวเวลดูจะสามารถเลือกใช้คำพูดที่สะท้อนวัตถุประสงค์ได้ดีกว่าในแง่ของการไม่ส่งผลเชิงลบในเชิงจิตวิทยามากนัก ยกตัวย่างเช่นวลี Talking about of talking about taper ในการประชุมที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเบามากที่จะบอกว่าเริ่มจะลด QE

ซึ่งโดยปกติแล้ว ประธานเฟดในอดีตที่โดยส่วนใหญ่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ มักจะเก่งในการสร้างแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์และคำนวณตัวเลข ทว่าไม่ชำนาญในการเลือกคำพูดที่เหมาะสมในการสื่อความให้สาธารณชนได้เข้าในแบบที่ไม่มีผลกระทบข้างเคียงเชิงลบ อันนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่ตลาดวิตกเกินเหตุทั้งในยุคของเบน เบอร์นันเก้ และ เจเน็ต เยลเลน

2. เมื่อวาระประธานเฟดของพาวเวลกำลังจะหมดลงที่เดือน ก.พ. 2022 และผู้นำสหรัฐ โจ ไบเดน ต้องเคาะว่าจะต่ออายุพาวเวลในช่วงต้นเดือน พ.ย. นี้หรือไม่ (โอกาสน่าจะมากกว่าร้อยละ 90  ที่พาวเวลจะเป็นประธานเฟดต่อในวาระที่สอง) จึงทำให้พาวเวลน่าจะส่งสัญญาณลดปริมาณการซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์หรือ QE ในช่วงเดียวหรือใกล้เคียงกับตอนที่หมดอายุวาระแรกของประธานเฟด นั่นคือเดือน พ.ย.นี้

ในการประชุมเฟดเมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พาวเวลย้ำอีกครั้งว่าจะบอกก่อนล่วงหน้าว่าจะเริ่มประกาศลด   QE ในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งนั่นคือ โอกาสที่พาวเวลจะประกาศวันลด QE ในเดือน ธ.ค. มีอยู่สูงไม่ใช่น้อย

ตรงนี้ ส่งผลดีในแง่ของตลาดจะสามารถคาดการณ์นโยบายของพาวเวลว่าจะลด QE ได้ใกล้เคียงกับความจริงได้มากขึ้น รวมถึงเฟดซึ่งก็หมายถึงตัวของพาวเวลเอง จะได้เครดิตจากการประกาศชัยชนะหลังจบเทอมของประธานเฟดในวาระแรก ผ่านการลด QE เพื่อแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้กลับมาจากที่ตกต่ำในช่วงโควิด จนแข็งแรงในระดับที่สามารถจะรองรับนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นมาได้แล้ว

3. ด้วยความที่พาวเวลไม่ยึดติดกับแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ของโมเดลเศรษฐกิจมหภาคมากจนเกินไป ทว่าเข้าใจในประโยชน์ของแบบจำลองนั้น จึงทำให้สามารถใช้ประโยชน์ทั้งจากเส้นความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อ กับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริง (Outcome Based) ในการกำหนดระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งถือว่ามีความสมดุลระหว่างความทันเวลากับการมองไปข้างหน้าของอัตราเงินเฟ้อได้อย่างลงตัว

4. พาวเวลได้เปรียบทั้งเบน เบอร์นันเก้ และ เจเน็ต เยลเลน อดีตประธานเฟด สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวขึ้นมา หลังเศรษฐกิจส่งสัญญาณอย่างชัดเจนในการที่เริ่มจะฟื้นตัวจากวิกฤติ เนื่องจากสามารถใช้บทเรียนจากความผิดพลาดในการประกาศลด QE ของเบอร์นันเก้ หรือที่เรียกกันว่า Taper Tantrum รวมถึงได้รับบทเรียนจากการที่เยลเลนได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งแรกแบบที่โฉ่งฉ่างไปนิดนึง โดยที่ไม่ได้สื่อสารกับสาธารณชนให้ดีก่อน จนเกิดความวิตกกังวลของตลาดผ่านทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร

สำหรับในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพาวเวลน่าจะสามารถใช้บทเรียนทั้งสอง ในการออกจาก มาตรการกระตุ้นทางการเงินได้ในทุกขั้นตอน เนื่องจากอดีตประธานเฟดรุ่นพี่ทั้งสองท่าน ได้ผ่านเหตุการณ์ความผิดพลาดดังกล่าวมาก่อน

ท้ายสุด ผมมองว่าจุดสำคัญที่จะวัดว่า พาวเวลจะสามารถทำหน้าที่ประธานเฟดได้ดีจริงหรือไม่ คือการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงต่อไปได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยที่ไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วหรือช้าเกินไปจนต้องกลับลำทิศทางนโยบายการเงิน เพื่อแก้ไขความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีความซับซ้อนกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/652750