
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างข่าวออกมาแทบทุกวัน ทั้งการประกาศ Tariff ต่อประเทศต่าง ๆ และการเลิกจ้างข้าราชการและผู้บริหารองค์กรของรัฐ จนมีการฟ้องร้องผ่านทางศาลเกิดขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งผลการพิพากษาที่ศาลฎีกาสหรัฐจะตัดสินออกมาในอนาคตอันใกล้ จะมีผลเป็นอย่างมากต่อการที่ทรัมป์จะสามารถแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดได้หรือไม่ ดังนี้
เริ่มจากเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับหัวแถวของหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมสหรัฐที่เพิ่งขึ้นมารับตำแผน่ง ได้เขียนจดหมายถึงวุฒิสมาชิกที่ดูแลด้านกฎหมายว่าด้วยความเห็นต่อเกณฑ์ “for cause” หรือการทำงานของหน่วยงานอิสระเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ซึ่งเคยถูกหยิบยกเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลหรือหน่วยงานภายนอกเข้าแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานอิสระ อาทิ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ และ คณะกรรมการด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค ว่ามีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐจะไม่สนับสนุนว่าเกณฑ์ดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอีกต่อไป
ทั้งนี้ ศาลฎีกาสหรัฐได้ทำการยกเลิกเกณฑ์ “for cause” ที่ใช้ปกป้องหน่วยงานอิสระที่มีผู้มีอำนาจสูงสุดเพียงคนเดียว โดยผู้รู้ด้านกฎหมายได้คาดการณ์ว่าเสียงส่วนใหญ่ของศาลฎีกามีโอกาสจะยกเลิกเกณฑ์ “for cause” ที่ใช้ปกป้องหน่วยงานอิสระที่มีผู้มีอำนาจสูงสุดแบบเป็นหมู่คณะด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นหมายความว่า หากผลชี้ขาดของศาลฎีกาเป็นเช่นนั้นจริง ทรัมป์ก็มีช่องทางในการขับไล่สมาชิกในคณะกรรมการเฟดออกจากตำแหน่งแบบถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่าอาจจะมีการฟ้องร้องกันทางกฎหมายแบบต่อเนื่องหลังจากนั้นก็ตาม
แน่นอนว่าเรายังไม่รู้ว่าเฟดจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าวหรือไม่ ทว่าหน่วยงานราชการอิสระของสหรัฐได้โดนหางเลขของทรัมป์กันไปหลายแห่งอย่างที่เป็นข่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ อีกหนึ่งไฮไลท์ ได้แก่ ประเด็นเปราะบางทางกฎหมายของผู้ว่าการเฟดประจำสาขาต่าง ๆ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้ถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและรับรองโดยวุฒิสภา ซึ่งในทางกฎหมายสหรัฐ มีแนวโน้มจะตีความว่าเป็นตำแหน่ง “Inferior Officer”
ปัญหาในเรื่องนี้คือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถือเป็นงานที่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งแบบ “Inferior Officer” มีอำนาจไม่เพียงพอที่จะสามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีมีการโหวตสำหรับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟด อาทิ ด้วยผลมติ 8-4 โดยสมมติว่า สมาชิกคณะกรรมการเฟดที่มิใช่มาจากผู้ว่าการเฟดสาขาต่าง ๆ เป็น 4 เสียงส่วนน้อย ในขณะที่สมาชิกเฟดที่มาจากผู้ว่าการเฟดสาขาต่าง ๆ เป็น 5 ใน 8 เสียงที่ชนะโหวต ตามกฎหมายที่ตีความว่าผู้ว่าการเฟดสาขาต่าง ๆ มีตำแหน่งเป็นเพียง “Inferior Officer” ระบุว่าต้องมีการประชุมเฟดรอบพิเศษเพื่อลงมติอีกครั้ง ซึ่งแม้เฟดเหมือนจะยังทำงานต่อได้ แต่ว่าเฟดแทบจะไม่มีความคล่องตัวเหลืออยู่และมีความยุ่งยากมากในการทำงานในทางปฏิบัติ
ที่สำคัญ ทรัมป์ ได้ออก Executive Order สองฉบับที่เป็นความเสี่ยงต่อความเป็นอิสระของเฟดในอนาคต ดังนี้
ฉบับแรก กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ซึ่งได้ใช้อำนาจ (Executive order) ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ต้องได้รับการกำกับและควบคุมโดยประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน”
ทั้งนี้ อำนาจของเฟดได้ตกเป็นเป้าหมายในคำสั่งของทรัมป์ฉบับแรกดังกล่าว แม้ว่านโยบายการเงินมีโอกาสจะจัดเป็นข้อยกเว้น (Carve out) ของคำสั่งได้ ทว่าหากศาลฎีกาสหรัฐตัดสินว่าคำสั่ง Executive Order ของทรัมป์นี้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ นโยบายการเงินของเฟดก็ไม่น่าพ้นอยู่ภายใต้การควบคุมของทรัมป์
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งความไม่แน่นอนทางกฎหมาย ได้แก่ สภาคองเกรสในช่วงระยะเวลา 90 ปีที่ผ่านมา ได้มอบหมายอำนาจให้กับองค์กรหรือหน่วยงานอิสระได้ หากว่าอยู่ภายใต้หลักการที่มีความสมเหตุสมผล (Intelligible Principle)
Executive Order ฉบับที่สองของทรัมป์ได้จี้จุดตรงวัตถุประสงค์ 2 ประการของเฟด อันประกอบด้วย ระดับราคาที่มีเสถียรภาพ และ การจ้างงานสูงสุด ถือว่ามีความขัดแย้งกันเอง ไม่ได้อยู่ในข่ายภายใต้หลักการของ Intelligible Principle ซึ่งมีผู้รู้ด้านกฎหมายบางท่านให้ความเห็นว่าอาจจะเกิดประเด็นต่อกฎหมาย Federal Reserve Act สำหรับการตีความ Intelligible Principle ดังกล่าว
โดยผลลัพธ์สุดท้ายของคำตัดสินของศาลว่าด้วยการปลดผู้นำหน่วยงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติออกจากตำแหน่งของทรัมป์ที่มีการฟ้องร้องกันอยู่ในขณะนี้ ว่ามีความชอบธรรมหรือเป็นไปตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐหรือไม่นั้น ถือว่ามีผลต่อโอกาสที่ทรัมป์จะสามารถปลดสมาชิกหรือประธานเฟดได้ไหม ทั้งนี้ หากศาลตัดสินว่าการปลดดังกล่าวของทรัมป์ถือว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ต้องยอมรับว่าเฟดมีโอกาสจะถูกควบคุมโดยทรัมป์ได้ไม่ยาก
และนั่นเป็นเหตุผลที่อิลอน มัสก์ ได้กล่าวว่าเขามีแผนจะทำการ audit เฟด ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งถือว่ามีโอกาสอยู่ไม่น้อยที่จะสามารถทำได้ในอนาคตอันใกล้
แน่นอนว่า ในขณะนี้ ทรัมป์ยังมองเฟดว่าเป็นประโยชน์ต่อผลงานรัฐบาลอยู่ ทำให้ประเด็นการควบคุมเฟดถือว่าไม่ใช่วาระเร่งด่วน ทว่าในอนาคตหากทรัมป์มีความเห็นแตกต่างกับประธานเฟด การสร้างแรงกดดันทางกฎหมายต่อเฟดดูจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ยากอีกต่อไป ซึ่ง วอร์เรน บัฟเฟตต์ก็พยายามส่งซิกเชิงตักเตือนให้รัฐบาลสหรัฐทราบว่า อย่าทำอะไรที่เป็นความเสี่ยงกับระบบการเงินและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั่งกลายเป็นจุดเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ, CFP
MacroView, macroviewblog.com