เยอรมัน…แชมป์กระตุ้นเศรษฐกิจสู้โควิด

หลายท่านอาจจะแปลกใจว่าเพราะเหตุใดดัชนีตลาดหุ้นเยอรมนีจึงแทบจะไม่ลดลงนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ในขณะที่ตลาดหุ้นของประเทศหลักอื่น ๆ ในยุโรปดัชนีพาเหรดกันติดลบในระดับตัวเลข 2 หลักกันทั่วหน้า

โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ มาตรการกระตุ้นด้านการคลังของเยอรมนีถือว่าจัดหนักกว่าประเทศอื่น ๆ แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ มาลองติดตามกันดังนี้

เยอรมัน…แชมป์กระตุ้นเศรษฐกิจสู้โควิด

เริ่มจากมาตรการแรกมูลค่า 1.3 แสนล้านยูโรหรือ 3% ของจีดีพีที่รัฐบาลเยอรมนีประกาศออกมา อันประกอบด้วยมาตรการลดภาษีการจ่ายเงินโดยตรงให้กับครัวเรือนต่าง ๆ และมาตรการใช้จ่ายเงินในรูปแบบต่าง ๆ ของภาครัฐในระยะเวลาอีก 2 ปีต่อจากนี้ ซึ่งในส่วนนี้เป็นการกระตุ้นเพิ่มเติมจากงบดุลภาครัฐของเยอรมนีแบบปกติที่มีการผูกเงื่อนไขให้งบประมาณภาครัฐเพิ่มขึ้น เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวหรือที่เรียกกันว่า Automatic Stabilizer เพื่อที่จะทำหน้าที่เป็นกันชนต่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจอยู่แล้ว

แม้สิ่งนี้ดูเหมือนว่าจะขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไปที่มักจะมองว่าโดยธรรมชาติของเยอรมนี รัฐบาลมักจะชอบมาตรการรัดเข็มขัดต่องบประมาณ ทั้งนี้เรามักจะรู้สึกว่าชาวเยอรมันกลัวเงินเฟ้อมาก เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ เรืองอำนาจทางการเมืองขึ้นมาได้ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งรัฐบาลเยอรมนีถือเป็นตัวตั้งตัวตีในการวางมาตรการรัดเข็มขัดให้รัฐบาลกรีซ ในวิกฤติยูโรปี 2012

ทว่าเรามักจะลืมไปว่าในช่วงหลังวิกฤติซับไพร์มเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วรัฐมนตรีคลังของเยอรมนีนามว่า วูลฟ์กัง ชวาเบิล ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Fiscal Hawk ก็ยังอนุมัติงบประมาณภาครัฐด้วยมูลค่าที่ใหญ่กว่าของประเทศอื่น ๆ ในยุโรปสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจของเยอรมนีเอง

2. อย่างไรก็ดี ในยามที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติด้วยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเยอรมนีและวัฒนธรรมทางการเมืองเยอรมนีเอง ความพยายามที่จะลดมูลค่าการขาดดุลภาครัฐ รวมถึงการเน้นการประหยัดและชื่นชอบการออมเงิน ถือเป็นสิ่งที่เราได้รับรู้กันมาอย่างยาวนานตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

ทว่าด้วยธรรมชาติของการเก็บออมเงินทั้งในภาครัฐและเอกชนตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง จึงทำให้ในช่วงโควิด-19 รัฐบาลเยอรมนีสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรป หรือนั่นคือการดึงเม็ดเงินออกมาจากใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู นอกจากนี้ด้วยความที่เศรษฐกิจเยอรมนีสามารถเติบโตได้ดี ซึ่งส่วนหลักมาจากการส่งออกเป็นหลัก ยิ่งทำให้รัฐบาลเยอรมนีต้องเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าเพื่อน เนื่องจากโควิด-19 มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแบบหนักหนากว่าในวิกฤติทุกครั้งที่ผ่านมา

3. จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังระดับโลกเคยกล่าวไว้ว่าบทเรียนสำคัญจากวิกฤติทุกครั้งที่ผ่านมาได้แก่ กลไกตลาดของภาคเอกชนไม่สามารถที่จะสร้างเม็ดเงินการลงทุนให้เพียงพอต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในสินค้าทุนใหม่ ๆ และมีประสิทธิภาพ (ซึ่งเป็นหนึ่งในที่มาของวลีที่ว่า In the long run, we are all dead.)

หากพิจารณาในกรณีของเศรษฐกิจเยอรมนี ยิ่งดูจะเป็นจริงหรือมีระดับของความไม่สมดุลระหว่างการออมและการลงทุนในระดับรุนแรงกว่าหลายประเทศ โดยที่ส่วนต่างของความไม่สมดุลดังกล่าวของเยอรมนีในช่วงที่ผ่านมาได้กลายเป็นดุลการค้าที่เกินดุลของเยอรมนีต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่ง ณ ตอนนี้ไม่สามารถจะทำเช่นนี้ได้อีกต่อไปแล้ว

โดยมาตรการภาครัฐของเยอรมนีที่ออกมาแบบที่มีขนาดใหญ่มากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีขณะนี้ก็เพื่อตอบโจทย์ที่ถือว่าหนักมาก ทั้งนี้นอกจากจะมีมาตรการกระตุ้นด้านการคลังแบบปกติของรัฐ ยังมีการจ่ายเงินให้กับบริษัทเอกชนเพื่อไม่ให้พนักงานของตนเองเป็นผู้ว่างงาน โดยที่ลูกจ้างยังได้รับค่าจ้างถึง 87% จากอัตราปกติ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 5.6 ล้านคน แม้จะทำงานด้วยจำนวนชั่วโมงที่น้อยลง รวมถึงขยายเวลามาตรการความช่วยเหลือด้านการเงินต่อจนถึงสิ้นปีหน้า ให้กับบริษัทเอกชนที่ทั้งมีปัญหาหนี้โดยไม่สามารถจ่ายคืนเงินให้เจ้าหนี้ได้และที่ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอ โดยมีบริษัทเอกชนเยอรมันถึงกว่า 40% ของทั้งหมดที่ได้รับความช่วยเหลือนี้

ส่วนอังกฤษมีบริษัทเอกชน 23% ของทั้งหมดมารับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ส่วนบริษัทเอกชนฝรั่งเศสมีอยู่ไม่ถึง 20% ของทั้งหมดที่ได้รับความช่วยเหลือนี้

จึงไม่น่าแปลกใจที่จีดีพีของเยอรมนีในไตรมาส ที่ผ่านมาหดตัวลงเพียง 9.7% ใกล้เคียงกับจีดีพีสหรัฐ ทว่ายังดูดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรปที่ล้วนหดตัวราว ๆ เกือบ 20% หรือมากกว่านั้นกันทั่วหน้า

ต่อจากนี้เราต้องลองมาดูกันว่าสไตล์นโยบายการคลังแนวใหม่นี้ของเยอรมนีจะกลายเป็น New Normal สำหรับดอยซ์แลนด์แห่งนี้กันไหมครับ

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/650987