‘เฟด’ บนความต่างระหว่าง เจย์ พาวเวล กับ เลอัล แบร์นาร์ด

คาดกันว่าในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เราจะได้ทราบกันแล้วว่าเจย์ พาวเวลจะดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดอีกหนึ่งสมัยหรือไม่ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐได้เรียกตัว 2 คู่แข่งขัน ได้แก่ เจย์ พาวเวล ประธานเฟดท่านปัจจุบัน กับ เลอัล แบร์นาร์ด สมาชิกคณะกรรมการเฟด ตั้งแต่ปี 2014 เข้าสัมภาษณ์ที่ทำเนียบขาว โดยแบร์นาร์ดใช้เวลาในการสัมภาษณ์นานกว่าพาวเวลเล็กน้อย

บทความนี้ จะขอพูดถึงความแตกต่างระหว่างทั้งคู่ ในประเด็นที่เกี่ยวกับมิติต่าง ๆ ในการดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ ดังนี้

มิตินโยบายการเงิน ในภาพรวม ทั้งคู่ถือว่ามีความใกล้เคียงกันว่าด้วยส่วนของความเห็นที่ควรจะมีการลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะต่อไป เนื่องจากทั้งการจ้างงานที่อยู่ในระดับที่ใกล้กับระดับเต็มศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากจนน่าจะใกล้จะถึงอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายเฉลี่ยในอีกไม่นานต่อจากนี้

อย่างไรก็ดี ในแง่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของท่าทีต่อนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา ผมมองว่าพาวเวลมีความนิ่งในการแสดงออกมุมมองและท่าทีของการขยับทิศทางของนโยบายการเงินต่อสาธารณชนมากกว่าแบร์นาร์ด โดยจะสังเกตได้จากการที่แบร์นาร์ดมีการแสดงออกที่คัดค้านกับประธานเฟดถึง 2 ครั้ง ในการปรับทิศทางนโยบายการเงินในช่วงปลายปี 2015 และกลางปี 2018

โดยในช่วงปลายปี 2015 ในขณะที่เจเน็ต เยลเลน อดีตประธานเฟด กำลังจะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรก ทางแบร์นาร์ดได้ออกมาแสดงความเห็นว่าอาจจะเร็วเกินไปเล็กน้อยที่เฟดจะดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวเนื่องจากอาจกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งตรงนี้ เลยทำให้มีบางท่านมองว่าเธอมีท่าทีที่จะเป็นประธานเฟดที่เน้นการเติบโตเศรษฐกิจมากกว่าพาวเวล หากเธอได้เป็นขึ้นมาจริงๆ

อย่างไรก็ดี ช่วงกลางปี 2018 แบร์นาร์ดกลับมีท่าทีต่อตัวเลขเศรษฐกิจอย่างอัตราการว่างงานที่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ว่าเฟดสมควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้แล้ว โดยที่พาวเวลซึ่งเป็นประธานเฟดในขณะนั้นยังกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่

กระนั้นก็ดี ทั้งสองครั้งนี้ แบร์นาร์ดก็โหวตตามที่ประธานเฟดทั้งสองท่านเสนอต่อที่ประชุม นั่นคือขึ้นอัตราดอกเบี้ยและคงอัตราดอกเบี้ยตามลำดับ

มิติสกุลเงินดิจิทัล

หากจะมีความแตกต่างกันแบบชัดเจนระหว่างทั้งคู่ มิติสกุลเงินดิจิทัลถือว่ามีอยู่มากที่สุด โดยในขณะที่พาวเวลเดินเกมในประเด็นสกุลเงินดิจิทัลดอลลาร์แบบไม่เปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ ทางด้านแบร์นาร์ดได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงกลยุทธ์ First Mover Advantage โดยเธอได้กล่าวว่า ในฐานะที่ดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก การที่รัฐบาลจีนได้เดินเกมการใช้สกุลเงินดิจิทัลหยวนในหมู่ชาวจีนตามหัวเมืองใหญ่ ทางเฟดเองก็ควรจะเดินเกมการใช้เงินสกุลดิจิทัลดอลลาร์ให้มีการใช้อย่างกว้างขวางไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสกุลเงินดิจิทัลหยวนที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ พาวเวลเองยังมองว่าอาจจะไม่คุ้มสำหรับเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินผู้นำของโลก ที่จะเข้าสู่ระบบเงินสกุลดิจิทัลอย่างรวดเร็วเกินไป

มิติกฎระเบียบด้านสถาบันการเงิน

หากจะมีแต้มต่อที่ไบเดนจะเลือกแบร์นาร์ดมาแทนพาวเวลในตำแหน่งประธานเฟด ผมมองว่าคะแนนของเธอน่าจะไหลมาจากมิตินี้ โดยแบร์นาร์ดถือเป็นผู้ที่มีจุดยืนในการคัดค้านที่แข็งกร้าวต่อการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสถาบันการเงินมากกว่าสมาชิกเฟดท่านอื่น โดยหากมีการเสนอให้โหวตในประเด็นนี้ในคณะกรรมการเฟดทีไรในช่วงที่ผ่านมา เธอจะโหวตค้านในทุกครั้ง แม้ว่าในความจริงแล้ว ตัวของพาวเวลเอง ก็ไม่ได้เป็นผู้เสนอประเด็นดังกล่าวต่อที่ประชุมแต่อย่างใด

มิติพลังงานสีเขียว

ในมิตินี้ ที่ธนาคารกลางยุโรปภายใต้การนำของคริสติน ลาการ์ด เหมือนว่าอยากจะเป็นผู้นำให้กับธนาคารกลางทั่วโลก แบร์นาร์ดเองเหมือนจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น โดยเธอย้ำว่า ณ ตอนนี้ เฟดดูออกจะล้าหลังในการออกกฎระเบียบในการทดสอบภาวะวิกฤต สำหรับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศของโลกต่อธนาคารกลางแห่งอื่นไปมากแล้ว ในขณะที่พาวเวลกลับมองว่าหน้าที่หลักของเฟดไม่ควรจะไปไกลถึงขนาดนั้น

ท้ายสุด หากไบเดนเลือกแบร์นาร์ดให้เป็นประธานเฟด ในขั้นตอนการรับรองจากเสียงส่วนใหญ่ของวุฒิสภา มีโอกาสสูงที่จะต้องลุ้นเหนื่อยกว่ากรณีเสนอชื่อพาวเวลขึ้นเป็นประธานเฟด เนื่องจากท่าทีของแบร์นาร์ดในส่วนของทั้งพลังงานสีเขียวและเงินสกุลดิจิทัลมีความเข้มข้นในการที่จะทำให้มีความแตกต่างจากระบบในปัจจุบันมากกว่าของพาวเวลค่อนข้างมาก ซึ่งตรงนี้ ตัวแทนของฐานเงินทุนจากอุตสาหกรรมยุคปัจจุบันของทั้ง 2 พรรคใหญ่สหรัฐ อาจจะมีโอกาสออกเสียงคัดค้านได้ค่อนข้างสูง

โดยสรุป ความแตกต่างระหว่างพาวเวลกับแบร์นาร์ด คือ พาวเวลจะเน้นความค่อยเป็นค่อยไปในมิติใหม่ ๆ สำหรับหน้าที่ของเฟด โดยเน้นการทำหน้าที่ในการดำเนินนโยบายการเงินเป็นหลัก ในขณะที่แบร์นาร์ดต้องการให้เฟดเป็นผู้นำในมิติต่าง ๆ และเป็นแม่แบบให้กับบรรดาธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.efinancethai.com/MoneyStrategist/MoneyStrategistMain.aspx?release=y&id=TEdyeUx0K00rVzg9