Ranking ความเสี่ยงตลาดหลักของโลก

บทความนี้ จะขอประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความถูกแพงตลาดหุ้นของภูมิภาคหลักของโลก ว่าในปี 2025 ประเทศใดเป็นอย่างไรกันบ้าง

เริ่มจากความเสี่ยงด้านการเมือง ขอประเมินในมิติดังกล่าว ดังนี้

ภูมิภาคที่มีความเสี่ยงการเมืองน้อยที่สุด ผมมองว่า ได้แก่ ยุโรป โดยหลังจากเฟดเดอริก เมอร์ซ เข้ารับตำแหน่งผู้นำเยอรมันเมื่อสัปดาห์ก่อน จะเห็นได้ชัดถึงภาพภายนอกว่าด้วยความเป็นเอกภาพของยุโรปนั้น ถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้นเยอะ จากการประชุมพร้อมกันของเมอร์ซ ร่วมกับเอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส และ เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำอังกฤษ พร้อมกับวลาดิเมียร์ โซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน 

นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มต่างพร้อมใจให้สหภาพยุโรปหรืออียูลงทุนในภาคกลาโหม (ได้ตั้งสินเชื่อเพื่อการนี้ขนาด $1.5 แสนยูโร) และโครงสร้างสาธารณูปโภค รวมถึงรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคกลาโหมเพื่อชดเชยและแทนที่การถอยห่างความช่วยเหลือด้านความมั่นคงต่อภูมิภาคยุโรป ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ได้แก่ เยอรมัน ได้ทลายกฎเกณฑ์ที่เป็นข้อจำกัดต่อการลงทุนด้านการทหารและกลาโหมในภาครัฐบาล

ตรงนี้ ส่งผลให้ประเทศที่เป็นเสียงส่วนน้อยที่มักจะคัดค้านนโยบายหลัก ๆ ของอียู อาทิ ฮังการี มีความลำบากที่จะตีรวนมติในการลงคะแนนเสียงวีโต้สำหรับการโหวตนโยบายหลักต่าง ๆ ในอนาคต

นอกจากนี้ กระแสขวาจัดที่ถือว่าลดความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรปนั้น เริ่มจะได้รับความนิยมลดลงเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น มารีน เลอแปง หัวหน้าฝ่ายค้านแนวขวาจัดได้ถูกห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองจากศาล และการเลือกตั้งผู้นำโรมาเนียที่ผู้ชนะมีนโยบายหนุนสหภาพยุโรป รวมถึง อีลอน มัสก์ และ เจ ดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ ถูกตำหนิอย่างรุนแรงหลังจากพยายามที่จะหนุนกลุ่มขวาจัดในยุโรป

สำหรับภูมิภาคอื่น ๆ ปรากฏว่าล้วนมีความเสี่ยงด้านการเมืองอยู่พอสมควร โดยขอเรียงจากเสี่ยงน้อยไปมาก ดังนี้

อินเดีย: ถือว่ายังมีสงครามที่ค่อนข้างดุเดือดกับปากีสถาน ในเขตชายแดนแคชเมียร์ ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุดในรอบหลายปี โดยแม้ว่าจะสามารถเจรจาสงบศึกไปได้แล้ว ทว่าอาจจะกลับมาปะทุในอนาคตอันใกล้ได้เช่นกัน

จีน: ถือว่าเป็นคู่ปรปักษ์หลักในสงครามการค้ากับสหรัฐ ซึ่งทำให้จัดเป็นความเสี่ยงหลักในทางการเมืองของจีน

สหรัฐ: นอกจากสหรัฐเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้า ที่ทำให้มีความเสี่ยงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังมีความเสี่ยงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ จะไล่เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ

ญี่ปุ่น: นอกจากญี่ปุ่นต้องรับบทหนักจากสงครามการค้ากับทรัมป์แล้ว กระแสความนิยมของพรรค LDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในประเทศญี่ปุ่น ถือว่าตกต่ำอย่างรุนแรง โดยชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีความจำเป็นในทางการเมืองที่ต้องเจรจากับสหรัฐให้ได้ tariff rate ต่ำที่สุด (ชาวญี่ปุ่นหวังให้ภาษีนำเข้ารถยนต์ให้เป็นศูนย์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการส่งออกรถยนต์ เพื่อให้คะแนนเสียงของพรรคกระเตื้องขึ้นมาจากในตอนนี้

ไทย: ทั้งเสถียรภาพของรัฐบาลที่ถือว่าอ่อนแอ และผลลัพธ์จากการเจรจาการค้ากับทรัมป์ที่อาจจะไม่ได้อยู่ในประเทศที่จะประกาศลด tariff rate จากสหรัฐ สำหรับในกลุ่มประเทศที่สหรัฐเตรียมจะประกาศออกมาในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

หันมาพิจารณาความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและความถูกแพงของตลาดหุ้นกันบ้าง ผมมองลำดับประเทศจากเสี่ยงน้อยไปมาก ดังนี้

อินเดีย: มีความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจ โดยถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของจีดีพีสูงที่สุดในกลุ่มประเทศหลัก สำหรับในช่วงนี้ อีกทั้งธนาคารกลางอินเดียก็เตรียมจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ออีกในปีนี้ อย่างไรก็ดี ค่า P/E ของตลาดถือว่าสูงที่สุดในบรรดาประเทศหลัก อยู่ที่ 23 เท่ากว่าๆ

ยุโรป: มีความโดดเด่นด้านความถูกแพงของตลาดหุ้น โดยตลาดหุ้นมีค่า P/E ถือว่าต่ำแห่งหนึ่งในบรรดาประเทศหลักที่ 15 เท่ากว่า ๆ สำหรับในมุมเศรษฐกิจ ก็ถือว่าพอใช้ได้ โดยอัตราเงินเฟ้อใกล้จะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ในขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถือว่าโอกาส recession ต่ำมากแล้ว แม้ทางการจะมีการปรับประมาณการจีดีพีลงจาก 1.3% เหลือ 0.9% สำหรับในปีนี้ส่วนปีหน้า จาก 1.6% เหลือ 1.4% ก็ตาม ที่สำคัญ ธนาคารกลางยุโรปยังน่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก หลังจากลดไปทั้งสิ้นราว 2% แล้วในช่วงกว่าปีที่ผ่านมา

สหรัฐ: หากพิจารณาจากข้อมูลดิบด้านเศรษฐกิจที่ประกาศออกมา ณ จนถึงตอนนี้ จะพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไปได้ด้วยดีทั้งการเติบโตและเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี คาดหมายว่าผลกระทบของภาษีด้านการค้า น่าจะส่งผลในเชิงลบต่อทั้งการเติบโตเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใน 2-3 เดือนถัดไปจากนี้ ทว่าด้วยการเพลามือของทรัมป์ ณ ตรงนี้ น่าจะมีโอกาสสูงพอควรที่เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เกิด recession ด้านความถูกแพงของตลาดหุ้น ถือว่าไม่ถูก โดยมีค่า P/E ของตลาดอยู่ที่ราว 22 เท่า

ญี่ปุ่นและจีน: ในภาพรวม ภาวะเศรษฐกิจของทั้งคู่ ถือว่าพอใช้ได้ ณ ตอนนี้ อาจจะมีจุดที่ต้องจับตาอยู่บ้าง ในส่วนของการเติบโตเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอตัวลงมาเล็กน้อย นอกจากนี้ แบงก์ชาติญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 3 หรือ 4 ของปีนี้ ในขณะที่ในปีนี้ เศรษฐกิจจีนยังน่าจะเติบโตได้เกือบ 5% ทว่าต้องจับตาความซบเซาด้านอสังหาริมทรัพย์ในเมืองรองอยู่บ้าง

ไทย: ในระยะสั้น น่าจะต้องทำการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคักท่ามกลางความกดดันจากสงครามการค้าของโลก สำหรับในระยะยาว จำเป็นต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ, CFP

MacroView, macroviewblog.com