บทต่อไปหลังโดรนถล่ม..แหล่งน้ำมันหลักของซาอุฯ

บทความเผยแพร่ใน กรุงเทพธุรกิจ ณ วันที่ 18 กันยายน 2562

ความจริงในวันนี้ ผมได้เตรียมบทความที่พูดถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดในคืนนี้

ทว่าต้องหลีกทางให้กับเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการน้ำมันดิบ เมื่อโดรนราว 10 ตัวที่อ้างว่ามาจากกลุ่มฮูตี ได้ร่วมกันบุกถล่มโรงแยกก๊าซและของเสียออกจากน้ำมันดิบ ’อับคิก’ ที่ถือว่าใหญ่ที่สุด คิดเป็นถึงครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตน้ำมันดิบรวมของซาอุดิอาระเบีย และบ่อน้ำมันดิบขนาดใหญ่ ‘คูลิส’ จนราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 20 ในวินาทีแรกของการเปิดตลาดเมื่อเช้าวันจันทร์ ก่อนที่ทั้งราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI จะกลับมาเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 ณ เวลาปิดตอนสิ้นวันทำการ โดยบทความนี้จะขอตอบคำถามว่า บทต่อไปหลังโดรนถล่มแหล่งน้ำมันดิบหลักของซาอุดิอาระเบีย จะเป็นเช่นไร ดังนี้

คำถามแรก เหตุการณ์เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา จะจบลงด้วยตัวเองเมื่อเหตุการณ์แบบ One-time Event หรือไม่?

คำตอบ คือ ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่จะยังส่งผลต่อเนื่องต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลก ด้วยปัจจัยต่างๆ ดังนี้

หนึ่ง โอกาสไม่น้อยที่จะมีการกลับมาทำลายของโดรนอีกครั้ง สำหรับจุดขนส่งน้ำมันหลักหรือหน่วยการกลั่นแห่งอื่นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นซาอุดิอาระเบีย หรือประเทศผลิตน้ำมันดิบขนาดใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่จุดเดิมที่อับคิกและคูริส ของซาอุดิอาระเบียที่ถูกโจมตี

สอง รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสใช้เหตุการณ์นี้ ซึ่งนายไมค์ ปอมปิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ได้ชี้ชัดไปแล้วว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน สร้างแรงกดดันการ Sanction ต่ออิหร่านให้มากขึ้นกว่าในตอนนี้

ท้ายสุด ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) จะมีระดับที่สูงขึ้น ด้วยบรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายอิหร่านและพันธมิตร กับ ฝ่ายซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรอื่นๆ ในตะวันออกกลาง รวมถึงสหรัฐ ทั้งในทางตรงผ่านการต่อสู้กันด้วยอาวุธในเยเมน เลบานอนและซีเรียที่รุนแรงขึ้น และทางอ้อมผ่านการคว่ำบาตรอิหร่านทั้งในขนาดและรูปแบบที่หลายหลายกว่าในปัจจุบัน

บทต่อไปหลังโดรนถล่ม..แหล่งน้ำมันหลักของซาอุฯ

คำถามที่สอง คือ น้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียที่หายไปจากตลาด จะสามารถถูกแทนด้วยน้ำมันดิบของประเทศอื่นทั้งในและนอกโอเปคในเร็ววัน ได้หรือไม่?

คำตอบ คือ น่าจะไม่ หากพิจารณารูปที่ 1 จะพบว่าเมื่อพิจารณาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบีย เทียบกับประเทศผลิตน้ำมันอื่นๆ จะเห็นได้ว่าสูงกว่ากันอยู่หลายเท่า นอกจากนี้ หากพิจารณา Spare Capacity ของโอเปค ไม่รวมของซาอุดิอาระเบีย จากข้อมูลของ Bloomberg จะพบว่าเหลือเพียงไม่ถึง 1 ล้านบาร์เรลแล้ว ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ แม้ว่าซาอุดิอาระเบียจะมีปริมาณในสต็อคเป็นสำรองราว 187.9 ล้านบาร์เรล หรือ 26.8 วันหากไม่มีการผลิตน้ำมันดิบเลย ตามการคาดการณ์ของ Joint Organizations Data Initiative ก็ตามที

นอกจากนี้ น้ำมันดิบก็ไม่ได้เป็นสินค้าที่ทดแทนระหว่างประเทศผลิตน้ำมันต่างๆ แบบสมบูรณ์ โดยคุณสมบัติของน้ำมันดิบของประเทศอื่น อาทิ คูเวตหรืออิรัก จะมีความหนักและมีกำมะถันมากกว่าของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งตรงนี้ โรงกลั่นทั่วไปที่นำน้ำมันดิบแหล่งอื่นไปเป็นวัตถุดิบ โดยในช่วงต้นๆ จะมีต้นทุนการปรับไลน์การผลิต รวมถึงการปรับเปลี่ยน Yield Rate ของน้ำมันสำเร็จรูปใหม่ จากคุณลักษณะของน้ำมันดิบใหม่ที่เปลี่ยนไป ซึ่งต่อจากนั้น ก็จะส่งผลต่อการที่ต้องมีต้นทุน Maintenance ในช่วงหลังจากที่จะกลับไปใช้น้ำมันดิบซาอุดิอาระเบียหลังเหตุการณ์ดังกล่าวกลับสู่ภาะปกติ

จุดสำคัญในตอนนี้ คือ ระยะเวลาเร็วหรือช้าแค่ไหนที่โรงแยกใหญ่ที่อับคิก จะถูกซ่อมแซมให้กลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับเดิมมากกว่าที่กำลังอยู่ในความสนใจของหลายฝ่าย

คำถามต่อไป ราคาน้ำมันดิบจะขึ้นมากน้อยแค่ไหน นับจากนี้ และจะกินเวลาอีกยาวนานไหม?

คำตอบ คือ ขึ้นอยู่กับว่าโรงแยกใหญ่ที่อับคิก จะถูกซ่อมแซมให้กลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับเดิมเร็วแค่ไหน จากงานศึกษาโดยใช้ข้อมูลของโอเปค 10 ประเทศ รวมถึงอิหร่าน ด้วยข้อมูลรายไตรมาส ระหว่างปี 1995 – 2007 โดยใช้แหล่งข้อมูลด้านราคาน้ำมันดิบ จาก OPEC Statistics Review ข้อมูลการผลิตน้ำมันดิบและกำลังการผลิต จาก EIA และ ข้อมูลสำรองน้ำมันดิบจาก BP Statistics Review of World Energy website  จะพบว่าหากการฟื้นกลับมาได้ในสัดส่วนร้อยละ 50 ถึง 90 นั่นคือ หรือเมื่อซาอุดิอาระเบียลดกำลังการผลิต 2.8 ถึง 0.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 6-28 ของกำลังการผลิตซาอุดิอาระเบีย หรือประมาณร้อยละ 0.6-3 ของกำลังการผลิตทั้งหมดของโลก จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้นร้อยละ 9-20 จากราคาปิดเมื่อวันศุกร์ สำหรับเวลาที่จะใช้เพื่อให้กลับมาสู่ภาวะปกติ โดยประมาณการที่เชื่อกันว่าเป็นไปได้ ซึ่งแม้ยังมีความเห็นไม่ตรงกันนัก ทว่าในภาพรวม มองกันว่าน่าจะใช้เวลาระหว่าง 4-36 สัปดาห์นับจากนี้

บทต่อไปหลังโดรนถล่ม..แหล่งน้ำมันหลักของซาอุฯ

คำถามสุดท้าย หากราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปจนถึงไตรมาสสี่ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อ?

คำตอบหนึ่งคือจะเกิดการชะลอตัว หรืออาจถึงขั้นถดถอยของเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาน้ำมันดิบจากการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ตุรกี และอาจจะรวมถึงสหรัฐที่แม้จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก ทว่าก็ยังนำเข้าน้ำมันดิบจากโอเปคอยู่ ด้วยเหตุผลที่สหรัฐถือเป็นมหาอำนาจทางการทหาร น้ำมันดิบจึงถือเป็นสินค้าทางยุทธศาสตร์ที่ต้องมีไว้เผื่อในยามจำเป็น โดยจากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐในอดีต 6 ครั้ง ล้วนแล้วแต่เป็นช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันดิบเกิดการขยับขึ้นแบบกระชากแรงๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติของอิหร่านในปี 1984 หรือเหตุการณ์อิรักบุกคูเวตในปี 1990

ทั้งนี้ การกระชากขึ้นของราคาน้ำมันดิบในครั้งนี้ ถือว่ามีขนาดร้อยละการขึ้นที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐจะมีโอกาสที่สูงขึ้น หลังจากที่ปรากฏการณ์เส้นโค้งหัวกลับ (Inverted Yield Curve) ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีความแม่นยำมาก ได้เกิดขึ้นติดต่อเป็นระยะกว่า 40 วันในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

คำถามในวันนี้ จึงกลับมาที่การประชุมเฟดในคืนนี้ว่า เจย์ พาวเวล ที่คืนนี้น่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 นั้นจะถือโอกาสใช้วิกฤตน้ำมันนี้ เป็นโอกาสในการโน้มน้าวสมาชิกเฟดให้เห็นพ้องในการลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 หรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง เราคงได้เห็นตลาดหุ้นทั้งสหรัฐและบ้านเราได้เฮกันทั่วหน้า รวมถึงโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้ทวีตชมพาวเวลเป็นครั้งแรกด้วยครับ

MacroView