ภาพตลาดหุ้นครึ่งหลังปี 2022 : Shape จะแบบไหน?

แล้วธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดก็ได้เฉลยคำตอบการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมิถุนายน ว่าออกมาร้อยละ 0.75 โดยที่เจย์ พาวเวล ประธานเฟดจะให้ความสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อเป็นอันดับหนึ่ง โดยจะยอมให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพื่อจะทำให้เงินเฟ้อลดลง

ทั้งนี้ พาวเวลได้ให้ความเห็นว่าเฟดน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 หรือ 0.75 ในเดือนหน้า โดยเฟดสาขานิวยอร์คได้คาดการณ์ผ่านแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสร้อยละ 80 ที่อัตราการเติบโตของจีดีพีจะติดลบมากกว่าร้อยละ 1 อย่างน้อย 1 ครั้งในอีก 10 ไตรมาสถัดไป หรือที่เรียกกันว่า Hard Landing

แน่นอนว่าประเด็นเงินเฟ้อยังเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งของโลก ตามมาด้วยประเด็นเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ดี ในความเห็นของผม สิ่งที่ดูแล้วอาจจะน่ากังวลมากที่สุดสำหรับสหรัฐ คือผลกระทบต่อการทำงานของตลาดพันธบัตรสหรัฐ จากการลดขนาดงบดุลของเฟด หรือที่เรียกกันว่า QT ซึ่งตอนนี้ ตลาดพันธบัตรของยุโรปในประเทศอิตาลีเริ่มที่จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศยุโรปอื่น ๆ มากเกินไป จนกระทั่งธนาคารกลางยุโรปต้องพยายามเร่งออกเครื่องมือในการจัดการปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมิถุนายน ร้อยละ 0.75 ตามกระแสของภายนอก อาจจะสร้าง Moral Hazard นั่นคือ ตลาดเหมือนยื่นโอกาสให้เฟด Hawkish หรือ สู้กับเงินเฟ้อ แบบที่ไม่กระทบตลาด ในครั้งที่ผ่านมา ทว่าข้อเสียของการตัดสินใจในครั้งนี้ของเฟด คือ สิ่งนี้อาจกลายเป็นมาตรฐานใหม่ให้ตลาดมามีผลต่อการตัดสินใจของเฟดในอนาคต

หันมาพิจารณาแบงก์ชาติบ้านเรากันบ้าง มาถึงตรงนี้ คงมองเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า การประชุม กนง. ในเดือนสิงหาคม น่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 โดยจากประสบการณ์ในอดีต บ้านเราหรือประเทศไม่ใหญ่มากน่าจะเหมาะสมมากกว่าที่จะไม่ดำเนินนโยบายที่แตกต่างจากเฟดมากเกินไป แม้ว่าหากพิจารณาในมิติของเศรษฐกิจเมื่อวิเคราะห์ในทางทฤษฎี อาจจะเป็นการดีที่จะรอให้ขนาดเศรษฐกิจโตให้มากกว่านี้ ก่อนที่จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม

หากพิจารณาในมุมของเศรษฐกิจและตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกจะดูแล้วมีตัวเลขเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ทว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีดูแล้วจะซบเซาลงต่อในภาพรวม ทั้งนี้ ตลาดยังน่าจะแกว่งแบบลง หรือ Volatile แต่ไม่น่าจะถึงกับ Crash ยกเว้นหากมีความผันผวนของตลาดพันธบัตรสหรัฐหรืออาจจะรวมถึงตลาดยุโรปแบบหนักหน่วงมาก ๆ

สำหรับตลาดในเดือนมิถุนายน เป็นตลาดที่ดูจะแกว่งแบบลงค่อนข้างมากกว่าคาด ส่วนหนึ่งมาจากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 แทนที่จะเป็นร้อยละ 0.5 ตามที่เกริ่นไว้ก่อนหน้า รวมถึงประเด็นเศรษฐกิจถดถอยที่ดูมีน้ำหนักมากขึ้นกว่าก่อนหน้า ที่สำคัญ ในภาพรวมแล้ว ระดับสภาพคล่องของตลาดได้หดหายไปบางส่วนจากการลดงขนาดงบดุลของเฟดหรือ QT ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ เสียงส่วนใหญ่ในตลาดมองไปที่ตลาดหุ้นจีน ว่าน่าจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยเป็นตัวป้องกันเงินเฟ้อสูง ในขณะที่ตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้วต่างก็เป็นช่วงขาลง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นอาเซียน ซึ่งถึงตรงนี้ ก็ถือเป็นตลาดที่ดูลดลงน้อยกว่าฝั่งตะวันตก หรืออาจกล่าวได้ว่า เราอยู่ในธีมการลงทุนแบบ “Go East” แต่ผมขอเติมคำว่า “with caveat” เข้าไปในตอนท้ายด้วย เพราะประเทศในฝั่งตะวันออกเอง ในช๊อตต่อไปก็ใช่ว่าจะปราศจากความเสี่ยงในการลงทุนสำหรับช่วงนี้แต่อย่างใด

ท้ายสุด สำหรับภาพตลาดหุ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2022 จะมีหน้าตาหรือ Shape เป็นแบบไหนนั้น ผมมองไว้ 4 รูปแบบ ได้แก่

1. แบบรูป L-shape: ตัวเลขเงินเฟ้อขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่ยอมไม่ลง โดยที่แม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปเท่าไร อัตราเงินเฟ้อก็จะยังคงขยับไปเรื่อย ๆ ทำให้เฟดต้องทำนโยบายการเงินเข้มขึ้นไปอีก จนตลาดเริ่มเชื่อว่าจะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบชนิดที่ว่าแน่นอนมาก หากเป็นเช่นนี้ ตลาดหุ้นจะลงแรงและคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน

2. แบบรูป W-shape: ตัวเลขเงินเฟ้อแกว่ง ๆ ไม่นิ่ง ในกรณีนี้ จะเป็นแบบที่ตัวเลขเงินเฟ้อ PCE และ CPI ขึ้น ๆ ลง ๆ ทว่าไม่มีทิศทางที่ชัดเจน จึงส่งผลให้ตลาดแกว่งขึ้น ๆ ลง ๆ เช่นกัน

3. แบบรูป V-shape: ตัวเลขเงินเฟ้อลงเร็วกว่าคาด ซึ่งเกิดขึ้นจากส่วนผสมระหว่างอุปทานโลกเริ่มที่จะตึงตัวน้อยลง รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มที่จะชะลอลง และ อานิสงก์จากที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเริ่มจะผลิดอกออกผลในรูปแบบของเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ตลาดเริ่มขึ้นแบบจริงจังหลังลงสู่จุดต่ำสุด

 

4. แบบรูป Swoosh-Shape (Nike Shape): ตัวเลขเงินเฟ้อขึ้นแล้วค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ นั่นคือตลาดจะมีการเคลื่อนไหวแบบ Nike Shape หรือลงแล้วค่อย ๆ ขึ้นอย่างค่อนข้างเร็วมากในช่วงต้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง จะเริ่มชะลอลงมา

โดยในความเห็นของผม ในช่วงนี้ถึงไตรมาส 3 ตลาดยังน่าจะออกมาเป็นแบบ W-shape จากนั้นจึงค่อย ๆ เข้าสู่แบบ Swoosh-Shape ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าครับ

MacroView