MacroView-shrewd-not-clever

ผมเคยสงสัยมานานแล้วว่า คนส่วนใหญ่ที่คาดการณ์เก่งๆ และใช้ผลลัพธ์ดังกล่าวในการลงทุนได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มมหาเศรษฐีหรือบรรดาผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ชั้นนำทั้งหลายนั้น มิได้มีโปรไฟล์ที่หรูเลิศ ต้องจบมหาวิทยาลัยท็อปๆ หรือทำงานกับบริษัทที่โดดเด่น แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเหล่านี้คือ ‘กึ๋น’ ต้องดีกว่าเพื่อน

ในปี 2015 หากไม่นับหนังสือที่ ดร. เบน เบอร์นันเก้ เขียนถ่ายทอดประสบการณ์ในชีวิตการทำงาน ‘The Courage to Act: A Memoir of a Crisis and Its Aftermath’ ผมชอบหนังสือแนววิเคราะห์ความแม่นของการคาดการณ์ ที่ชื่อ ‘Super Forecasting: The Art and Science of Prediction’ เขียนโดย ดร. ฟิลิป เทล็อค และแดน การ์ดเนอร์ โดยท่านแรกเป็นนักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม ที่ศึกษาความแม่นยำของการคาดการณ์มากกว่า 20 ปี

การศึกษาที่นำมาเป็นเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ มาจากโครงการ Good Judgment Project ที่ใช้ผู้ร่วมทดลอง 20,000 คน ทายเหตุการณ์กว่า 500 ครั้งใหญ่ๆ ตั้งแต่การประท้วงในรัสเซียจนถึงตลาดหุ้น Nikkei โดยเปรียบเทียบระหว่างคนทำงานทั่วไปที่มิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทว่าให้ข้อมูลในหัวข้อที่จะเป็นโจทย์ในการคาดการณ์ต่อกลุ่มคนทำงานทั่วไปอย่างเต็มที่ และให้เวลาในการวิเคราะห์แบบเหลือเฟือ โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญก็ได้รับสิ่งเหล่านี้เช่นกัน ผลปรากฏว่ากลุ่มคนทั่วไปประมาณร้อยละ 10 ของทั้งหมด คาดการณ์ได้ดีกว่าทุกคนรวมถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้วย นายเทล็อคเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “Super Forecasters”

จากการสัมภาษณ์คนเหล่านี้ จึงนำมาซึ่งข้อสรุป 6 ประการของการสร้างความสามารถในการคาดการณ์ มีดังนี้

1.) ให้ออมแรง

โดยใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการคาดการณ์กับคำถามและช่วงเวลาที่จะได้คำตอบ ซึ่งใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนตั้งคำถามว่า ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐอเมริกาในการเลือกตั้งปลายปีนี้ หากมีคนถามคำถามนี้เมื่อปีที่แล้ว ก็ไม่ต้องไปเสียเวลาวิเคราะห์ให้เหนื่อย อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า คำถามนี้ ก็จะถึงเวลาที่บรรดาเหล่า Super Forecastors เริ่มต้องออกแรงวิเคราะห์อย่างเต็มที่ จำไว้ว่า “เสียเวลากับการวิเคราะห์ทว่าคาดการณ์ผิดยังดีกว่าเสียเวลาวิเคราะห์ในสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้”

2.) แตกปัญหาให้ย่อยลง

เคล็ดลับของสไตล์การคาดการณ์แบบ Super Forecastors คือ หากไม่รู้ว่าสิ่งที่วิเคราะห์มีค่าเป็นเท่าไรแน่ ให้ทายหรือเดาให้ใกล้เคียงที่สุดเพราะจะดีกว่าที่จะหนีปัญหา สิ่งที่เป็นตัวช่วยของการเคล็ดลับข้อนี้คือ การแตกปัญหาให้ย่อยลงจนทำให้ความผิดพลาดจากการคาดเดาดังกล่าว มีผลกระทบน้อยสุด ตัวอย่างที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงคือ หนุ่มโสดนามว่า ปีเตอร์ ชาวลอนดอนที่มีประชากรประมาณ 6 ล้านคน โดยหากประเมินว่าลอนดอนมีพลเมืองชายและหญิงครึ่งๆ ในส่วนของคนโสดต่อคนมีครอบครัวรอยู่ครึ่งๆ มีคนในวัยที่ใกล้เคียงกับปีเตอร์ราวร้อยละ 20 มีคนจบมหาวิทยาลัยราวร้อยละ 26 ทั้งนี้ ผู้หญิงที่ปีเตอร์ดูแล้วปิ๊งเลยมีอยู่ร้อยละ 5 รวมถึงเธอก็ปิ๊งปีเตอร์ด้วยมีอยู่ร้อยละ 5 เช่นกัน และโอกาสที่ปีเตอร์จะสามารถเข้ากับเธอเหล่านั้นได้มีอยู่ร้อยละ 10 โดยหากพิจารณาจะพบว่าน่าจะมีผู้หญิงอยู่ประมาณ 26 คนทั่วลอนดอน ที่เป็นไปได้ซึ่งเข้าข่ายที่จะเป็นคู่ครองของปีเตอร์ในอนาคต

3.) ให้ความสำคัญระหว่างมุมมองภายในและภายนอกแบบสมดุล

ไม่มีเหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นแบบใหม่เอี่ยมบ่อยมากหนัก แม้แต่ช่วงที่เกิดวิกฤติกรีซ ว่าจะมีการยืดหนี้ออกไปหรือไม่เมื่อปีที่แล้ว ก็ยังมีตัวอย่างของวิกฤติกรีซเมื่อปี 2011 เป็นข้อมูลเทียบเคียง ตัวอย่างที่น่าสนใจมาจากนายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ ที่ทุกครั้งที่ถามลูกน้องว่า เมื่อไหร่งานจะเสร็จสักที หากลูกน้องตอบว่าอีก 2 วัน เขาจะใช้สูตรเปลี่ยนหน่วยวันให้เป็นสัปดาห์และคูณสองสำหรับตัวเลขที่ลูกน้องบอก นั่นคือเขาจะตีความว่ากว่าลูกน้องจะส่งงานมาเท่ากับ 4 สัปดาห์ จากนั้นเมื่อลูกน้องดังกล่าวมาส่งงานแบบเรียบร้อย โดยใช้เวลาเท่าไหร่ ค่อยปรับความคาดหวังอีกทีหนึ่ง เช่นเมื่อลูกน้องท่านดังกล่าวนำงานมาส่งในอีก 1 สัปดาห์ เขาจะปรับสูตรเป็นแค่เปลี่ยนหน่วยเวลาเพียงเท่านั้น ด้วยวิธีการผสมผสานระหว่างมุมมองภายในและภายนอกแบบสมดุล นายซัมเมอร์สจึงมักจะบริหารเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างดี

4.) ไม่เฉยเมยหรือตื่นตูมต่อหลักฐานใหม่ๆ จนเกินเหตุ

ผมคิดว่าจุดนี้น่าจะเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่ามีความยากในการหาจุดที่พอดีมากที่สุด ประสบการณ์เท่านั้นจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้การหาจุดดังกล่าว ทำได้ด้วยการมีความผิดพลาดที่น้อยลง ทว่าก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเช่นกันเนื่องจากโจทย์ข้อใหม่มักจะไม่เหมือนกับโจทย์ข้อเดิม บอกตามตรงว่าผมเอง มักจะมีปัญหานี้ในการทำนายการขยับตัวของผู้ออกนโยบายเศรษฐกิจในบางครั้ง เนื่องจากผมมักจะมีมุมมองว่าเขาเหล่านั้นน่าจะทำอย่างไรในการทำให้เศรษฐกิจไปได้ดี ทว่าในบางครั้งออปชั่นเหล่านั้นก็ไม่ถูกเลือกเนื่องจากความเชื่อส่วนตัวของผู้ออกนโยบายเศรษฐกิจแต่ละท่าน ซึ่งถือเป็นข้อมูลใหม่ให้ผมเรียนรู้ได้อยู่เรื่อยๆ

5.) การคาดการณ์โจทย์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ไม่เหมือนการทายผลฟุตบอล

ประธานาธิบดีสหรัฐบารัค โอบามา เป็นคนที่ชอบฟันธงผลฟุตบอลเป็นอย่างมาก และถือว่าเป็นเซียนทายผลฟุตบอลท่านหนึ่งเลยทีเดียว ทว่าเมื่อมาถึงวิกฤตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือ นายโอบามากลับไม่สามารถประเมินโอกาสแบบเป็นตัวเลขเป๊ะๆ เนื่องจากธรรมชาติของปัญหาดังกล่าวต่างจากการแข่งฟุตบอลแบบสุดโต่ง ดังนั้นในแง่ของการคาดการณ์โจทย์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ต้องอาศัยความอดทนในการติดตามและเรียนรู้จนมีความเชี่ยวชาญ

6.) ความผิดพลาดเป็นบทเรียน ทว่าอย่าอินจนเกินไป

แม้จะเป็นการดีที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด ทว่าอนาคตมักจะไม่เหมือนกับอดีต ดังนั้น การหาเหตุผลจากความผิดพลาดทำได้ แต่อย่าไปเชื่อว่าจะเป็นอย่างงั้นซ้ำอีก เพราะโอกาสมักจะมีไม่เกินครึ่งที่จะเกิดซ้ำอีกในอนาคตครับ

ที่มาบทความ : มุมคิดมหภาค

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/637478