theresa-may-Dr-boontham

เหมือนจะเป็นเพราะสวรรค์บันดาลจริงๆ ที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษจะกลายเป็นสุภาพสตรีวัย 59 ปี

ซึ่งมีรสนิยมในการแต่งตัวเป็นแบบเฉพาะตัว และได้รับการกล่าวขานกันในคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายเดวิด คาเมรอน ว่าเป็นเสมือนพี่เลี้ยงให้กับทั้ง นาย”คาเมรอน” และ นาย “จอร์จ ออสบอร์น” อดีตรัฐมนตรีคลัง

ในการจัดการเรื่องราวภายในพรรคอนุรักษ์นิยม นามว่า นาง “เทเรซา เมย์” ซึ่งจนถึงเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยดูแลปัญหาผู้อพยพและความสงบสุขภายในประเทศของอังกฤษ

ต่อจากนี้ไป หน้าที่ของนางเทเรซา เมย์ คือ การมอบหมายว่าใครจะทำหน้าที่ เจรจากระบวนการ Brexit ใครจะ ดูแลด้านเศรษฐกิจเพื่อให้อังกฤษหลุดพ้นจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย และที่สำคัญใครจะมาทำหน้าที่แทนเธอในตอนนี้ เพื่อดูแลปัญหาผู้อพยพและความปลอดภัยของประเทศอังกฤษ เพื่อให้เข้าใจในการตัดสินใจของเธอต่อไปในฐานะนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ จึงขอนำเกร็ดของนางเทเรซา เมย์ มาฝากให้ท่านผู้อ่าน ดังนี้

1.) แม้นางเมย์จะยืนยันว่าอังกฤษจะทำตามเสียงของประชามติในการออกจากอียู

ทว่าเธอได้ยืนยันว่าการประกาศใช้ Article 50 ของสนธิสัญญา ลิสบอน ซึ่งจะเป็นขั้นตอนกดปุ่มการ Brexit ในทางปฏิบัติแบบเป็นทางการจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเร็วที่สุดในปี 2017 โดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องของอียูว่าจะให้เริ่มโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้นางเทเรซา เมย์ ยังไม่ใช่ผู้ที่ชอบระบบทุนนิยมจ๋า หลายคนยังมองว่าการเจรจาระหว่างอังกฤษกับประเทศต่างๆ ในอียูจะดำเนินไปในลักษณะที่ช่วยเหลือชนชั้นกลางมากกว่าภาคธุรกิจ ซึ่งตรงนี้ หลายคนอดห่วงไม่ได้ว่า อาจจะทำให้อังกฤษไม่มีโครงการใหญ่ๆ เข้ามาลงทุนในระยะเวลา 1-2 ปีต่อจากนี้ นอกจากนี้ หลายคนยังห่วงว่านางเทเรซา เมย์ จะใช้อารมณ์ตัดสินใจในเรื่องสำคัญ เนื่องจากในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยมีหลายครั้งที่เธอใช้ระบบคุณธรรมมากกว่าหลักการและผลประโยชน์ในการตัดสินใจ

2.) นางเทเรซา เมย์ ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ที่ต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายแบบตัวยง”

โดยในปี 2013 เธอได้เนรเทศผู้ต้องสงสัยนักก่อการร้ายหัวรุนแรงนามว่า าบู คาทาดา” ไปยังจอร์แดนหลังจากอังกฤษได้ต่อสู้กับการก่อร้ายมาเป็นเวลาหลายสิบปี ในปีเดียวกัน เธอยังห้ามไม่ให้สองบล็อกเกอร์ชาวอเมริกันเข้าประเทศอังกฤษ เนื่องจากเขียนบทความให้เกิดการก่อความรุนแรงด้วยลัทธิการต่อต้านมุสลิม โดยมีส่วนทำให้อังกฤษรอดพ้นจากการก่อการร้ายในช่วงสองปีมานี้ ซึ่งปัญหาก่อการร้ายได้คุกคามยุโรปอย่างรุนแรงทั้งในปารีสและอิสตันบูล นอกจากนี้ผลงานชิ้นโบว์แดงคือการจับผู้สื่อช่าวจอมแสบ จากนิตยสาร The Sun ที่ชอบแอบดักฟังโทรศัพท์นักการเมืองและคณะรัฐมนตรี เข้าซังเต

ในงานการกำกับกรมตำรวจ เธอแนะนำให้ใช้วิธีละมุนละม่อมกับประชาชนชาวอังกฤษที่ทำการประท้วงแต่เด็ดขาดกับผู้ก่อการร้าย และยอมรับผู้อพยพที่มาจากความรุนแรงของสงคราม แต่ไม่ยอมรับผู้อพยพที่มีความเข้มแข็งในตัวเองอยู่แล้ว ถือว่านโยบายผู้อพยพค่อนข้างเข้มงวดกว่านาง “แองเกลา เมอร์เคิล” นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน ท้ายสุด ในมุมของการต่อสู้กับยาเสพติด นางเทเรซา เมย์ ได้ห้ามการใช้สารเสพติดที่มองว่าก้ำกึ่ง ว่าจะเป็นสิ่งเสพติดหรือไม่โดยเด็ดขาด

3.) ในมุมเบาๆ ของนางเทเรซา เมย์ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงให้กับคาเมรอนและถือว่ามีความอาวุโสที่สุดในคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว

งานอดิเรกของเธอคือการเข้าครัวทำอาหาร จนได้รับฉายาจากคนสนิทในพรรคว่า “ป้าเมย์” มีเกร็ดเล็กๆ ว่าเธอพบกับสามีด้วยการแนะนำของนางเบเนซี บุตโต อดีตผู้นำของปากีสถาน สมัยที่เรียนหนังสืออยู่ด้วยกันในฐานะนักกิจกรรมตัวยง เธอเริ่มต้นการทำงานที่ธนาคารกลางอังกฤษ ฝ่ายชำระเงินต่างประเทศ และต่อด้วยบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน อย่างไรก็ดี เธอเองไม่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเลยในชีวิตการทำงานทางการเมือง ในแง่ความคิดส่วนตัว แม้เธอดูจะเป็นคนหัวอนุรักษ์นิยม แต่ค่อนข้างหัวสมัยใหม่ที่สนับสนุนรักร่วมเพศแบบเปิดเผย

ท้ายสุด แม้นางเทเรซา เมย์ จะไม่สนับสนุนฝ่าย Remain แบบเต็มสูบตอนที่หาเสียงทำประชามติ Brexit เธอก็ยังถือเป็นฝ่าย Remain ที่ไปไหนไปกัน ว่ากันว่า ผู้ที่จะมารับไม้ต่อจากนางเทเรซา เมย์ สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปหลังเธอลงจากตำแหน่งน่าจะมีอยู่ 2 คน ได้แก่ นาย “ฟิลลิป แฮมมอนด์” และ นาย “จอร์จ ออสบอร์น” ซึ่งทั้งคู่มีความใกล้ชิดกับเธอเป็นอย่างมาก

เหล่านี้คือเกร็ดเล็กๆ สำหรับ “ป้าเมย์” ของพรรคอนุรักษ์นิยม นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

ที่มาบทความ : “มุมคิดมหภาค” http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638318