วิกฤตเงินเฟ้อสหรัฐปี 2022 จะแรงและนานแค่ไหน?

ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดกำลังจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกหลังวิกฤตโควิดเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ล่าสุดขึ้นมาถึงเกือบ 8% ในคืนนี้ บทความนี้ จะขอประเมินว่าในรอบนี้ วิกฤตเงินเฟ้อสหรัฐปี 2022 จะขึ้นมาแรงและยาวนานแค่ไหน รวมถึงน่าจะแก้ไขด้วยแนวทางใด?

ผมมองว่าวิธีที่น่าจะดีที่สุดในการวิเคราะห์วิกฤตเงินเฟ้อสหรัฐปี 2022 ว่าจะแรงและนานแค่ไหนนั้น คือการกลับมาพิจารณาวิกฤตเงินเฟ้อครั้งสำคัญ ๆ ในอดีตของโลก ซึ่งปรากฏว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ครั้งได้แก่ 1. วิกฤต Hyperinflation เยอรมันในทศวรรษ 1920 ช่วงระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีวิกฤตโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สเปนอยู่ในช่วงเวลานี้ โดยถือว่าบรรยากาศคล้ายกับช่วงเวลานี้มาก 2. วิกฤตเงินเฟ้อสหรัฐช่วงระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษ 1940 และ 3. วิกฤต Great Inflation ของสหรัฐ ในทศวรรษ 1970 ต่อ 80

โดยบทความนี้ จะพูดถึงสาเหตุ ขนาดและความยาวนานของปัญหา และทางแก้จากวิกฤต

เริ่มจากสาเหตุของวิกฤตเงินเฟ้อในเยอรมัน ได้มีความเห็นแบ่งเป็น 2 แนวคิด ได้แก่

  1. งบการคลังและการพิมพ์เงินที่ผ่อนคลายมากเกินไป เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อแบบ Hyperinflation ในเยอรมัน โดยมองว่าการปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเพียงปัจจัยรอง
  2. มาจากการชำระเงินตราระหว่างประเทศผ่านการขาดดุลการค้า โดยมองว่าการขาดดุล

การชำระเงินส่งผลให้ค่าเงินสกุลมาร์กของเยอรมันอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้ออย่างหนักหน่วง

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสาเหตุทั้งคู่ จะพบว่าไม่ได้มีส่วนคล้ายคลึงกับวิกฤตเงินเฟ้อในรอบนี้แต่อย่างใด

หันมาพิจารณาสาเหตุของวิกฤตเงินเฟ้อสหรัฐในทศวรรษ 1940 ซึ่งเกิดวิกฤตเงินเฟ้อสูงสุดที่ร้อยละ 20 โดยมีระยะเวลาของวิกฤตอยู่ราว 2 ปี จะพบว่ามีสาเหตุ 3 ประการ ได้แก่

  • การขจัดนโยบายการควบคุมราคาสินค้าหลักของรัฐบาลได้ถูกยกเลิกไป
  • การเกิดอุปทานติดขัด
  • การที่อุปสงค์พุ่งพรวดขึ้นมาเนื่องจากการยุติของสงคราม จึงมีผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยอย่างมากมาย

หากพิจารณาสาเหตุทั้งหมด จะพบว่ามีส่วนคล้ายคลึงกับวิกฤตเงินเฟ้อในรอบนี้ถึงสองในสามข้อ

ท้ายสุด  หากพิจารณาสาเหตุของวิกฤต Great Inflation ของสหรัฐ ในทศวรรษ 1970 ต่อ 80 ซึ่งเกิดวิกฤตเงินเฟ้อสูงสุดที่ร้อยละ 15 โดยมีระยะเวลาของวิกฤตอยู่ราว 9 ปี จะพบว่ามีอยู่ 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง ความผิดพลาดในแง่การใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ โดยการแก้วิกฤตยึดติดกับการชดเชยระหว่างกันของอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานหรือเส้นโค้งฟิลลิปส์มากจนเกินไป

สอง ความผิดพลาดจากการวัดตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์ในช่วงเวลานั้น อาทิ อัตราการว่างงานต่ำสุดที่ไม่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ หรือ NAIRU

สาม อัตราการเติบโตของปริมาณเงินที่ปล่อยให้ขึ้นมากเกินไป ซึ่งจำเป็นต้องมีความระมัดระวังในช่วงเกิดวิกฤตเงินเฟ้อรอบนี้

โดยวิกฤตในรอบนี้ มีความคล้ายคลึงกันสำหรับข้อ 3 ส่วนข้อหนึ่งค่อนข้างก้ำกึ่ง ในขณะที่ข้อ 2 ไม่ได้เกิดขึ้นในครั้งนี้

จึงทำให้ผมมองว่า วิกฤตในรอบนี้ น่าจะมีความคล้ายกับวิกฤตทศวรรษ 1940 ในสัดส่วนร้อยละ 80 และคล้ายกับวิกฤต Great Inflation ของสหรัฐ ในทศวรรษ 1970 ต่อ 80 อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 20

โดยคาดว่ารอบนี้ น่าจะเกิดระดับอัตราเงินเฟ้อสูงสุดที่ราวร้อยละ 11-14 ส่วนระยะเวลาทั้งสิ้นน่าจะประมาณ 2-3 ปี

สำหรับทางแก้วิกฤต Hyperinflation เยอรมันในทศวรรษ 1920 โดยในช่วงปี 1922-1924 รัฐบาลเยอรมันเพิ่มการจัดเก็บภาษี รวมถึงผ่านนโยบายการสร้างความเชื่อมั่น 5 ประการ ได้แก่

  1. เสถียรภาพนโยบายการเงิน ผ่านการจำกัดการออกพันธบัตรจากธนาคารกลาง
  2. การมีวินัยของนโยบายการคลัง
  3. นโยบายเพื่อให้ค่าเงินเยอรมันมีเสถียรภาพ
  4. การยุติการต่อต้านการจ่ายหนี้สงคราม ด้วยการตั้งคณะกรรมการที่เจรจาค่าปรับหนี้สงครามแบบเป็นระบบ
  5. การลดมูลค่าเงินที่แท้จริงลง ด้วยการเปลี่ยนเงินสกุลเยอรมันใหม่แทนเงินสกุลเดิม

สำหรับการแก้วิกฤตเงินเฟ้อสหรัฐในทศวรรษ 1940 นั้น กระทำผ่านการทำให้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเชื่อมั่นต่อชาวอเมริกันว่าระดับราคาสินค้าและบริการจะลดลงในอนาคต ผ่านการจัดตั้งหน่วยงานประกันสังและการคุ้มครองการว่างงานของอดีตประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน

ด้านทางแก้ของวิกฤต Great Inflation ของสหรัฐ ในทศวรรษ 1970 ต่อ 80 อาศัยความศรัทธาต่อความจริงจังในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยนโยบายการเงินแบบตึงตัวของพอล โวลก์เกอร์ อดีตประธานเฟด ดังนี้

  • ได้รับความไว้วางใจจากผู้นำสหรัฐ ที่จะดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวแบบต่อเนื่อง
  • กลยุทธ์นโยบายการเงินต้องมีความน่าเชื่อถือ
  • เริ่มต้นด้วยการขึ้นดอกเบี้ยด้วยขนาดที่น่าเชื่อถือ
  • ทำให้อัตราการเติบโตของปริมาณเงินเป็นไปอย่างช้า ๆ
  • อดทนกับการประท้วงจากกลุ่มคนที่เสียประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับการแก้ปัญหาในครั้งนี้จำเป็นต้องใช้ทางแก้เคล้ายกับที่พอล โวลเกอร์ใช้ รวมถึงในบางส่วนของแฮร์รี ทรูแมน และที่สำคัญที่สุด จำเป็นต้องไม่ยอมอ่อนข้อกับฝั่งการเมืองในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงใกล้เลือกตั้งกลางเทอมของสภาคองเกรสในช่วงปลายปีนี้

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/columnist/994253