เอ่ยถึงชื่อ Larry Hite เชื่อว่าเทรดเดอร์หลายคนคงจะรู้จัก ชายคนนี้ซึ่งเป็น systematic trader ระดับตำนาน รุ่นบุกเบิกของการเทรดกลยุทธ์สาย trend following เจ้าของฉายา fathers of system trading

ด้านประวัติเส้นทางสายอาชีพก็ไม่ธรรมดา คุณ Hite เกิดครอบครัวชั้นกลาง คุณพ่อทำธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้เขามีความชอบสนใจในการทำธุรกิจ ทะเยอทะยานต้องการสร้างฐานะให้ดีขึ้นมาตั้งแต่เด็ก จนเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัยเขาได้รู้จักกับการเทรดเก็งกำไรสินค้า commodity จากหนังสือ และเมื่อเรียนจบหลังจากทำงานด้านดนตรีสักระยะจนถึงจุดอิ่มตัว ในช่วงปี 1968 เขาก็ได้เริ่มเข้าสู่ตลาดหุ้นด้วยการเข้าทำงานเป็นตัวแทนซื้อขายหุ้น (stock broker) ให้กับบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง แล้วได้เริ่มเรียนรู้เรื่องการเทรดอย่างจริงจัง ทั้งจากการสนทนากับเทรดเดอร์อาชีพและจากการอ่านหนังสือ จนพัฒนากลายเป็นเทรดเดอร์อาชีพอย่างเต็มตัว

ปี 1981 เขาได้ก่อตั้งบริษัทบริหารเงิน Mint Investments ของตัวเอง โดยทำหน้าที่บริหารและดูแลการเทรดของทีมงานเองทั้งหมด จนปี 1990 บริษัทมี AUM ขยายใหญ่และถูกจัดเป็นกองทุนสาย Commodity trading advisor ที่ใหญ่อันดับต้นแห่งหนึ่งในตลาด (ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก AUM ของบริษัทระดับ $1 billion) ซึ่งสามารถทำผลงานได้ดีต่อเนื่องหลายปี (CAGR ที่ระดับ 30%) แล้วมาโด่งดังเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อเรื่องราวของเขาถูกเผยแพร่ผ่านหนังสือ Market Wizards ของคุณ Jack Schwager

Larry Hite เป็นเทรดเดอร์ที่สนใจการพัฒนาระบบเทรดอย่างมาก ถึงยุค 1986 เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาถึง เขาเองได้ศึกษาและพัฒนา Trading Model เพื่อใช้สำหรับการเทรดในตลาดหุ้นและตลาดฟิวเจอร์ โดยเขาเชื่อว่าการใช้ computer trading บนระบบเทรดที่พัฒนาขึ้นมาอย่างดีจะทำให้เกิดความได้เปรียบแก้ข้อจำกัดทางอารมณ์ของคนที่เกิดเป็นอคติในการตัดสินใจเทรด

ถึงปี 2000 เขาได้วางมือจากการเป็นผู้บริหารกองทุนของ Mint แล้วออกมาบริหารบริษัทใหม่ชื่อ Hite Capital Management เป็นบริษัทลงทุนแบบ family office ซึ่ง เน้นไปที่ proprietary trading และการวิจัยพัฒนาระบบเทรด

ผมมีโอกาสได้ฟังคลิปและอ่านบทความของคุณ Larry Hite หลายชิ้นจากอินเตอร์เน็ตมีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่องที่คุณ Hite ถ่ายทอดจากประสบการณ์หลายทศวรรษในตลาดเก็งกำไรโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับกลยุทธ์การเทรด และแนวคิดในการพัฒนาระบบหลายเรื่อง

ผมย่อยสรุปประเด็นหลักมาให้พวกเราได้ลองอ่าน 5 ข้อหลักดังนี้

1. แต้มต่อนั้นสำคัญ

Larry Hite แนะนำว่าการเทรดนั้นคือการตัดสินใจ ผลลัพธ์มันอาจจะไม่สามารถควบคุมให้ถูกต้องหรือชนะได้ทุกครั้ง สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ ต้องเลือกการตัดสินใจเดิมพันบนความเสี่ยงที่เหมาะสม และเป็นการเดิมพันที่ แต้มต่อ (Odd) เข้าทางเรา หมายความว่าเมื่อชนะเราได้ผลตอบแทนที่มากกว่าผลการขาดทุนเมื่อเราแพ้นั้นเอง เช่นเดียวกันถ้าการตัดสินใจเดิมพันหรือการเทรดครั้งใดๆ ที่แต้มต่อมันแย่ ผลตอบแทนจากการชนะไม่คุ้มค่ากับผลการขาดทุน เราก็ไม่ควรที่เข้าไปเสี่ยง

2. “ผิด” ได้ไม่ใช่เรื่องแปลก

บ่อยครั้งที่เทรดเดอร์ มักตัดสินผลการเทรดจากตัวเลขกำไรและขาดทุน รวมถึงการประเมินผลการแพ้และชนะ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นมันจะทำให้เกิดเป็นปัญหาได้ เช่นทำให้ขาดความมั่นใจ ทำให้เครียด ทำให้ล้มเลิกที่จะเรียนรู้ ฝึกฝนหรือแม้เปลี่ยนวิธีการเทรดไปเรื่อยๆ

ประเด็นนี้คุณ Larry Hite แนะนำไว้ว่าการ “ผิด” การขาดทุนเป็นเรื่องปกติในตลาด เมื่อผลการเทรดมันออกมาตรงข้ามกับสิ่งที่เทรดเดอร์คิด ผิดทางขาดทุนก็ควบคุมความเสี่ยง จำกัดผลการขาดทุน แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกครั้งที่ผิดพลาดนั้น เราสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดได้ เพื่อสร้างประสบการณ์ใช้เป็นบทเรียนในอนาคต ดังนั้นอย่างกลัวที่จะผิดหรือกลัวจะขาดทุน

3. รักษาการเทรดที่ดี (good trade)

ปกติเทรดเดอร์ส่วนใหญ่จะสนใจแต่ผลการเทรดที่ได้กำไร (winning trade) และผลการเทรดที่ขาดทุน ( losing trade) ซึ่งมันมักจะทำให้เรามุ่งโฟกัสไปที่การทำเงินหรือการวัดผลกำไรระยะสั้น คุณ Larry Hite แนะนำเทรดเดอร์ไว้ว่า สิ่งสำคัญคือการมองที่ผลลัพธ์ระยะยาวไม่ใช่แค่ผลการเทรดระยะสั้น

การเทรดด้วยระบบเทรดแล้วรักษาการเทรดที่ดี (good trade) หรือการเทรดที่เหมาะสมบนแต้มต่อ เช่น risk reward ratio ที่ 1:2 แม้จะเกิดการขาดทุนผิดทาง (losing trade) ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายเพราะสุดท้าย ในระยะยาวถ้าวางแผนบริหารความเสี่ยงเหมาะสมด้วย good trade ที่มีแต้มต่อดีเมื่อจำนวนครั้งที่ได้กำไร (winning trade) เริ่มเพิ่มกลับมาได้ ผลลัพธ์สุดท้ายก็จะกลายเป็นบวกและสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่ดีเอง เช่นเดียวกันเทรดเดอร์ควรหลีกเลี่ยงการเทรดด้วยอารมณ์ ไร้ระบบหรือแผน การเทรดแบบ bad trade นั้นจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่ายและขาดทุนหนักจนทำให้เกิดความเสียหายต่อเงินทุน

4. ยึดมั่นในระบบเทรด

คุณ Larry Hite เล่าถึงตอนบริหารกองทุน Mint ที่เขาใช้การเทรดด้วยระบบเทรดแบบ trend following สิ่งสำคัญคือการยึดมั่นในระบบเทรด ทำตามแผนระบบเทรดซึ่งถูกออกแบบ พัฒนา ทดสอบ ล่วงหน้าเอาไว้อย่างดี ตรงนี้ทำให้ผลตอบแทนระยะยาวของกองทุนนั้นออกมาดีและเสถียร เขาแนะนำเทรดเดอร์ว่าควรจะต้องมีระบบเทรด (Trading System) แล้วปฏิบัติตามแผนในระบบเทรดอย่างเคร่งครัด ถึงจุดทำกำไรก็ต้องปิดสถานะ หรือแม้กรณีที่ผิดทาง ขาดทุนถึงจุดหยุดขาดทุน (Stoploss) ที่วางแผนไว้ก็ต้องดำเนินการตาม สำคัญสุดคือไม่ควรใช้อารมณ์ในการตัดสินใจเทรดเฉพาะหน้า เพราะสุดท้ายทำให้ไม่สามารถเอาชนะตลาดที่ผันผวน หรือเปลี่ยนแปลงได้

5. บริหารความเสี่ยง(Risk management) คือหัวใจสำคัญ

คุณ Larry Hite พูดถึงกลยุทธ์การเทรดแบบ trend following ที่เข้าใช้บอกว่ามันไม่สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ใช่ระบบแม่นยำ 100% แน่นอนว่าเขาก็ไม่เชื่อในการปรับแต่งระบบเทรดให้สมบูรณ์แบบสุดๆ อีกด้วย แต่สิ่งที่เขาพยายามจะทำคือพัฒนาระบบเทรดให้แข็งแกร่ง ทนทานและอยู่รอดในตลาดระยะยาว โดยเขาพิถีพิถันในกระบวนการพัฒนาระบบเทรด ทดสอบจนรู้ว่าระบบเทรดมีโอกาสผิดมากที่สุดเท่าไหร่ ตรงนั้นคือข้อมูลที่ใช้ทำ base line ในการวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงต่อไป เพราะเราจะรู้ว่าทุกครั้งที่เทรดโอกาสจะขาดทุนเป็นเท่าไหร่ (%loss) และคำนวณหาขนาดการขาดทุนสูงสุดได้

การบริหารความเสี่ยงที่คุณ Larry Hite แนะนำและหยิบยกมาพูดถึงบ่อยๆ ได้แก่

กระจายความเสี่ยง (Diversification)

ในมุมของการทำระบบ คุณ Larry Hite อธิบายว่าเขาจะวางแผนกระจายความเสี่ยงใน 2 ระดับ ระดับบนคือการกระจายเงินเข้าเทรดในสินค้าที่แตกต่างกัน และระดับล่างคือการกระจาย ระบบ (Trading System) ที่ใช้กลยุทธ์ให้แตกต่างกัน หรือบน tactic ที่แตกต่างเช่นการเข้าออกทั้งแบบสั้น กลาง ยาว เพื่อทำให้ผลตอบแทนรวมออกมาดี ชดเชยข้อจำกัดของพฤติกรรมราคาที่อาจจะเกิดต่อระบบเทรด

จำกัดขนาดการขาดทุนล่วงหน้า

ทุกครั้งที่เทรดเขาจะวางขนาดของความเสี่ยงที่ 1% ของเงินในพอร์ตที่มี นั้นหมายความว่าจำกัดขนาดของ Risk ที่เกิดให้คงที่และน้อยไว้เสมอ เพื่อไม่ให้ผลการแพ้หรือการขาดทุนในการเทรด 1 ครั้งมามีผลกระทบต่อภาพรวมของพอร์ตได้ เช่นเดียวกันกรณีผิดทางขาดทุน ด้วยขนาดการขาดทุนที่จำกัด ทำให้มีเงินนำมาใช้เทรดครั้งต่อไปเพื่อชดเชยผลการขาดทุนก่อนหน้าได้

ใช้ Leverage อย่างเหมาะสม

คุณ Hite ไม่ต่อต้านการใช้ Leverage เช่นเดียวกันเขาแนะนำให้เทรดเดอร์ใช้อย่างเหมาะสม กรณีที่ทุกอย่างชัดเจน พฤติกรรมราคามีแนวโน้มคงตัว เขาเรียกว่าเกิด perfect knowledge

การใช้ leverage สามารถทำได้แต่ระดับการใช้งานไม่ควรมากเกิน 3:1 เขาอ้างอิงการทดสอบพบว่าเมื่อใช้ lerverage เกิน 3-5 เท่า กับการเทรดตามแนวโน้มบนระยะเวลาที่ยาว บวกกับโอกาสสถิติการชนะของระบบเทรดที่ไม่สูง ด้วยความผันผวนของราคาที่เกิดฉับพลันเข้ามาจะทำให้เกิดผลกระทบ ความเสี่ยงสูง แล้วส่งผลให้ขาดทุน หรืออาจจะขาดทุนกำไรจนไม่คุ้มค่าในการเทรด

ดังนั้นสำหรับเทรดเดอร์การเร่งกอบโกยกำไรด้วย Leverage ที่มากเกินไป จึงไม่ใช่หนทางที่ดีในการสร้างพอร์ตในยั่งยืนระยะยาว ควรใช้ให้เป็นในภาวะโอกาสที่แต้มต่อได้เปรียบ และใช้ในขนาดที่ไม่สูงเกินไป จนกลายเป็นการ Over trading และเมื่อใช้ Leverage ก็ควรจะวางแผนคำนวณเงินสดสำรองสำหรับรักษาสัญญาให้เหมาะสม (อาจจะมากกว่าระดับที่กำหนดปกติจากโบรกเกอร์) เพื่อป้องกันการโดนบังคับปิด จากกรณีการเกิดความผันผวนที่รุนแรงของราคาแบบไม่คาดคิดในอนาคต

หยุดรอให้เป็น

การเทรดของเขาเป็นการเทรดตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นในตลาด แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเวลาที่ตลาดจะอำนวยมีแนวโน้มราคาที่ชัดเจนและดีให้เทรด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องหยุดรอให้เป็น (ระบบของเขามีการสร้างตัวกรองให้สัญญาณสีเขียว เหลือง แดง บอกการเข้าออกและการหยุดรอ ของระบบเทรดในตลาดต่างๆ)

คุณ Hite แนะนำว่าการหยุดรอนั้นเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการควบคุมความเสี่ยง ทำให้ระบบไม่ต้องเข้าไปเทรดในภาวะหรือพฤติกรรมราคาไม่อำนวยต่อกลยุทธ์ที่ใช้ โดยเฉพาะเมื่อราคาสินค้าเกิดภาวะ High Volatility ทำให้การประเมิน RRR เกิดความผิดเพี้ยน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการขาดทุนได้

นี่คือ 5 ข้อคิดซึ่งผมว่าเป็นคำแนะนำที่ดีจาก systematic trader ผู้มีประสบการณ์ในตลาดสูง เชื่อว่าน่าจะช่วยทำให้ เทรดเดอร์มือใหม่ หรือเทรดเดอร์ที่ยังค้นหาแนวทางในการเทรด สามารถนำไปปรับใช้พัฒนาต่อไปได้ หวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านครับ

โดย Mr. Chaipat