แนวคิด 5 ข้อเกี่ยวกับผลตอบแทนและความเสี่ยง จากกูรูการเงินคุณ Barry Ritholtz

Masters in Business เป็นรายการ Podcast สุดโปรดของผมในขณะนี้ ชื่นชอบแบบที่เรียกว่าเมื่อมีเวลาว่างหรืออยู่ระหว่างเดินทาง ผมมักจะเปิดฟังประจำ โดยส่วนตัวติดอกติดใจทั้งเนื้อหาสาระและสไตล์การเล่าเรื่องของผู้ดำเนินรายการมาประสบการณ์อย่างคุณ Barry Ritholtz มากซึ่งคนไทยอาจจะไม่คุ้นชื่อของชายคนนี้เท่าไหร่

ผมมีโอกาสได้ติดตามคุณ Ritholtz มา 3 ปีแล้วในช่วงเริ่มต้นจะมาจากเว็บไซต์ส่วนตัวบล็อกที่ชื่อว่า The Big Picture ซึ่งเขาขยันเขียน ขยันจดประเด็นสำคัญจากการอ่านประจำวันของแก เรียกว่าเยอะมากทีเดียว คัดมามีแต่เด็ดๆ ทั้งนั้น ทั้งเรื่องความรู้ การเงิน ธุรกิจ และข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ เรียกว่าได้ประโยชน์ได้เปิดโลกไปในตัว

คุณ Barry Ritholtz เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของ Ritholtz Wealth Management (AUM $744 million) รวมถึงเขายังเป็น CEO ของ Fusion IQ บริษัท Fintech startup ด้านวิจัยพัฒนา Digital investing platforms และ quantitative research นอกจากนี้เขายังเป็นนักเขียนหนังสือขายดีอย่าง “Bailout Nation” และยังเป็นคอลัมนิสประจำเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุนในคอลัมน์ Bloomberg Opinion และหนังสือพิมพ์ The Washington Post

เขียนแนะนำมาถึงตรงนี้ผมอยากยกตัวอย่างความรู้ดีๆ จากบทความ The Markets Don’t Care About Your Wants or Needs งานเขียนของ คุณ Barry Ritholtz มาฝากกัน เพราะมันน่าจะเข้ากับภาวะตลาดหุ้นที่กำลังผันผวนของบ้านเราในขณะนี้ด้วย บทความนี้เริ่มจากการที่คุณ Ritholtz อ้างอิงถึงข่าวประเด็นคณะกรรมการรัฐ California บังคับให้ CalPERS Investment Committee คิดนอกกรอบหาทางเพิ่มผลตอบแทนในกองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐแคริฟอเนียให้ได้เกิน 7% พร้อมขู่ว่าจะไม่ลงทุนเพิ่ม ถ้าผลตอบแทนกองทุนต่ำกว่าเป้า

คุณ Ritholtz ให้ความเห็นว่าความคิดแบบนี้เกิดขึ้นมากในตลาดปัจจุบันและเป็นอันตรายจากความคาดหวังผลตอบแทนที่สูงเกินจริง เขาจึงเขียนบทความอธิบายเรื่องตลาด ความเสี่ยงและความคาดหวังผลตอบแทน ได้น่าสนใจมาก ผมสรุปประเด็นหลัก 5 ข้อมาให้ ศึกษาดังนี้

1. ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถการันตีอนาคต

ไม่มีใครจะการันตีว่าจะทำผลตอบแทนสูงตามเป้าที่คาดหวังได้เสมอไป แม้อดีตสองสามปีก่อนหน้าที่ผ่านมาจะมีผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม เนื่องจากราคาสินทรัพย์ไม่สามารถคาดเดาหรือไปทำนายทิศทางตลาดที่แน่นอนได้ 100%

แต่สิ่งที่ทำได้คือการควบคุมขนาดของความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งตรงนี้ผู้จัดการกองทุนสามารถกำหนดขนาดของเงินที่ใช้บนระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับภาวะตลาดได้ ผลงานที่เกิดจะขึ้นกับทักษะ ความสามารถและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล

2. เรื่องของความน่าจะเป็น

ผลตอบแทนที่เกิดในอนาคต ตั้งบนหลักความน่าจะเป็น (Probability) นั่นคือมีโอกาสเกิดหรือไม่เกิดขึ้นตามค่าประมาณหรือค่าผลตอบแทนที่คาดหวังไว้ก็ได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องเข้าใจเพื่อรักษาความคาดหวังในผลตอบแทนให้อยู่ในระดับปกติและเป็นไปตามจริง ตามสภาวะเศรษฐกิจและสภาพตลาดที่เกิด ไม่ควรโลภหรืออยากได้ผลตอบแทนที่สูงจากทำให้ประมาท ละเลยความเสี่ยง

3. อันตรายจากความคาดหวังที่มากเกินจริง

ราคาสินทรัพย์มีความผันผวน ไม่แน่นอน ดังนั้นบางช่วงเวลาที่ตลาดดีผลตอบแทนระยะสั้นอาจจะดีมาก เช่นเดียวกันถ้าเกิดภาวะตลาดไม่ดี ผลตอบแทนอาจจะตกต่ำ ตามสถานการณ์ที่เกิดในช่วงเวลาต่างๆ ได้ ดังนั้นการคาดหวังผลตอบแทนระดับที่เหมาะสมตามจริง จะทำให้เรารู้จักบริหารความเสี่ยง และอยู่รอด เพราะถ้าอยากได้ผลตอบแทนมาก ก็ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนเพื่อโอกาสผลตอบแทนที่มากตาม ซึ่งหมายถึง นักลงทุนก็มีโอกาสเสี่ยงสูง อาจจะขาดทุนสูญเสียเงินมากตามด้วยเช่นกัน

4. ผลตอบแทนระยะยาวสำคัญกว่าผลตอบแทนระยะสั้น

คุณ Ritholtz แนะนำเรื่องของการวัดประสิทธิภาพผลตอบแทนของพอร์ตกองทุน ควรต้องดูระยะยาว ไม่ใช่ผลงานระยะสั้น การทำผลตอบแทนให้มากกว่าตลาด อาจจะเกิดขึ้นได้ระยะสั้นโดยเฉพาะช่วงตลาดดี ตลาดขาขึ้นไม่กี่ปี แต่ถ้าตลาดเกิดผันผวนหนักหรือเข้าช่วงถดถอย โอกาสได้ผลตอบแทนต่ำหรือขาดทุนสูญเสียเงินมากด้วยกลยุทธ์การลงทุนที่ไม่เหมาะสม บนระดับความเสี่ยงที่สูงไป ดังนั้นถ้าเลือกจะลงทุนในกองทุน ก็ควรพิจารณาผลตอบแทนระยะยาว เน้นการอยู่รอดในทุกภาวะตลาด บนความผันผวนของผลตอบแทนรวมของกองทุนที่ต่ำ

5. ระมัดคำโฆษณาชวนเชื่อ

ระบบการตลาด เกมส์จิตวิทยาชวนเชื่อ ชี้นำนั้นเกิดขึ้นตลอดในโลกการเงิน การลงทุน สิ่งที่ควรตระหนักคือ ผลตอบแทนที่เกิดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการหรือความอยากได้ของนักลงทุน แต่มันขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น สภาพเศรษฐกิจ, ผลประกอบการของธุรกิจ (กรณีของหุ้น), นโยบายการเงิน หรือสภาวะตลาด เป็นต้น ดังนั้นควรระวังอย่าหลงคำชวนเชื่อเพื่อให้เกิดการลงทุนด้วยความโลภเพื่อตอบสนองความต้องการความอยากได้ผลตอบแทน กำไรสูงๆ ควรใช้สติ ปัญญาในการพิจารณาให้รอบคอบ

สุดท้ายเขากล่าวว่า Mr. Market ถูกเสมอ และตลาดไม่ได้สนใจว่านักลงทุน หรือผู้จัดการกองทุน จะทำผลตอบแทนได้มากน้อยเพียงใด แต่นายตลาด (Mr. Market) จะคอยลงโทษคนที่โลภและไม่รู้จักควบคุมความเสี่ยงด้วยบทเรียนราคาแพงอันแสนเจ็บปวดเสมอ

หวังว่าจะเกิดประโยชน์และทำให้เห็นแนวคิดการสมดุลของ Risk และ Return มากขึ้น ลองเข้าไปอ่านบทความต้นฉบับได้ที่ Bloomberg หรือจะเข้าไปติดตามบทความจากเว็บ https://ritholtz.com/ ของคุณ Barry Ritholtz ได้เช่นกันครับ เชื่อว่าพวกเราจะได้แง่คิดและเรียนรู้อะไรดีๆอีกหลายอย่างจากกูรูคนนี้ครับ

Mr. Chaipat

iran-israel-war