dw-หุ้นแม่-cashbalance

หลายๆ ครั้งหุ้นที่เรากำลังเทรดอยู่นั้น Volume กลับหายวูบเพราะหุ้นติดเกณฑ์ Cash Balance นักลงทุนบางคนที่เทรด DW มีความกังวลว่า หากหุ้นแม่ต้องติดเกณฑ์ Cash Balance แล้วจึงรีบขาย DW ทิ้งเพราะกลัวว่า Volume จะบางแล้วไม่สามารถขาย DW ได้ในราคาที่ต้องการ หรือนำ DW ตัวนั้นออกจาก Watch list เพียงเพราะคิดว่าต้องใช้เงินเต็มจำนวนเท่านั้นถึงจะสามารถซื้อ DW ในหุ้นอ้างอิงที่ติด Cash ได้ (คิดว่าหุ้นแม่ติด DW ต้องติดด้วย)

ปรากฎว่า DW ไม่ติดเกณฑ์ Cash Balance ครับ !
เลยเป็นที่มาของคำถามว่า อ้าวเฮ้ย !!!

ทำไม DW ไม่ติดเกณฑ์ Cash Balance ตามหุ้นแม่ด้วยล่ะ ?

ทีนี้เรามาทำความเข้าใจก่อนว่าหุ้นที่ติดเกณฑ์ Cash Balance นั้นมีที่มาจากสองกรณีด้วยกัน
กรณีแรกคือ กรณีหลักทรัพย์มีสภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปมากจากช่วงก่อนหน้า (Trading alert list)
กรณีที่สองคือ กรณีหลักทรัพย์มีสภาพการซื้อขายผิดปกติเข้าข่ายเกณฑ์ Turnover list ของ กลต. และของตลาดหลักทรัพย์

ทั้งสองกรณีสรุปง่ายๆ ก็คือ หุ้นนั้นมีการซื้อขายที่ “สูงมากขึ้น” จากช่วงเวลาก่อนหน้าอย่าง “ผิดปกติ” จึงจะติดเกณฑ์ Cash Balance เพื่อลดความร้อนแรงในการซื้อขายหุ้น

ตลาดหลักทรัพย์เองก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกณฑ์ Trading alert list เนื่องจากในอดีตตลาดหลักทรัพย์ใช้หุ้นที่ติดเกณฑ์ Turnover list ที่ กลต. ประกาศทุกเย็นวันศุกร์มาเป็นเกณฑ์ Cash Balance แต่ก็มีเจ้ามือหัวใส คำนวณไว้แล้วล่วงหน้าแล้วทำราคาให้หุ้นนั้นไม่ติดเกณฑ์ จึงกลายเป็นที่มาของการไม่เปิดเผยสูตรคำนวณในปัจจุบันนั่นเอง แต่เราก็ยังคงสามารถใช้สูตร Turnover list ที่ กลต. เปิดเผยมาคำนวณหาหุ้นที่เข้าข่ายน่าจะติดเกณฑ์ Turnover list ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาติดเกณฑ์ Cash Balance โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สำหรับหุ้นแม่ กลต. จะกำหนดว่าจะคัดเลือกหุ้นเฉพาะที่มีมูลค่าซื้อเฉลี่ยต่อวันในรอบสัปดาห์ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป (MAI กำหนด 20 ล้านบาท) และมี %1W-Turnover ตั้งแต่ 30% ขึ้นไป โดยมีวิธีการคำนวณดังนี้

%1W-Turnover = [(มูลค่าซื้อหุ้นเฉลี่ยต่อวันในรอบสัปดาห์ x 5) / (%Free Float x Market Capitalization ของหุ้นเฉลี่ยต่อวันในรอบสัปดาห์)] x 100

สำหรับ Warant จะกำหนดว่าจะคัดเลือกเฉพาะ Warrant วิเคราะห์เฉพาะหลักทรัพย์ที่มี 1W-Turnover ตั้งแต่ 100% ขึ้นไป และ %Premium ตั้งแต่ 20% ขึ้นไป

%1W-Turnover = [มูลค่าซื้อ warrant เฉลี่ยต่อวันในรอบสัปดาห์ x 5 / Market Capitalization ของหุ้นเฉลี่ยต่อวันในรอบสัปดาห์] x 100

โดยหุ้นที่ติดเกณฑ์ Cash Balance แต่ละครั้ง ตลาดฯ จะมีระยะเวลาในการขังหุ้นตัวนั้นแตกต่างกันไป ว่าง่ายๆ จะให้ติด Cash Balance จนกว่าจะเลิกปั่นหุ้นกันไปข้างนั่นเอง ซึ่งมีระดับในการเพิ่มมาตรการสกัดหุ้นดังนี้

T1 (Trading Alert 1) : ต้องซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้นเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ แต่ถ้าปริมาณการซื้อขายยังคงผิดปกติอยู่ก็ไป T2
T2 (Trading Alert 2) : คือ T1 บวกด้วย ห้ามนำหลักทรัพย์นั้นมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย ก็คือไม่ได้อำนาจซื้อจากหุ้นที่ติดเกณฑ์ แต่ถ้าปริมาณการซื้อขายยังคงผิดปกติอยู่ก็ไป T3
T3 (Trading Alert 3) : คือ T2 บวกด้วยห้าม Net Settlement โดยเงินจากที่ขายหุ้นตัวนั้นออกมาจะไม่ได้คืนเป็นวงเงินให้นำมาเทรดต่อเลยเต็มจำนวน

ทีนี้เราเข้าใจละ ว่าที่หุ้นติดเกณฑ์ Cash Balance มาจาก หุ้นตัวนั้นมีการซื้อขายที่สูงมากขึ้นจากช่วงเวลาก่อนหน้าอย่างผิดปกติ โดยปริมาณการซื้อขายหุ้นนั้นมีผลต่อราคาหุ้นโดยตรง ยิ่งคนอยากซื้อเยอะขึ้น ในราคาที่สูงขึ้นหรือ “ไล่ราคา” มากผิดปกติเมื่อเทียบกับ %Free Float และขนาดของ Market cap ก็จะทำให้มีโอกาสติด Cash Balance มากขึ้น

แต่สำหรับ DW ปริมาณการซื้อขายของ DW ไมได้มีผลต่อราคาของ DW เลย โดยราคาของ DW เป็นไปตามกลไกของ “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” ของผู้ออกแต่ละค่าย หรือเป็นไปตาม Price Map ตามที่แต่ละผู้ออก DW ได้บอกไว้ต่างหาก นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไม DW จึงไม่ติด Cash Balance ตามหุ้นแม่นั่นเอง

บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมเคยคิดจะซื้อ DW บางตัวโดยใช้บัญชี Cash , Margin แต่ทำไมไม่สามารถซื้อได้ ???

ต้องอธิบายเพิ่มเติมแบบนี้ครับว่า จริงๆแล้ว DW ก็สามารถที่จะติดเงื่อนไข “Cash Balance” ได้เหมือนกัน แต่จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2 ข้อดังนี้

  1. จำนวนหน่วยของหลักทรัพย์ DW ที่ซื้อขาย 5 วันทำการย้อนหลังสะสมรวมกันมากกว่า 200% ของจำนวนหน่วยของหลักทรัพย์ DW ที่อนุญาตให้ซื้อขาย และ DW ตัวนั้นอัตราความผันผวน (Implied Volatility) ของหลักทรัพย์ DW เฉลี่ยจากราคาปิด 5 วันทำการย้อนหลังมากกว่า 100% ติดต่อกัน โดยข้อมูล DW ที่ติด Cash จะแสดงอยู่ในเวปไซต์ www.asco.or.th
  2. เกณฑ์ที่ออกโดย บล.ที่นักลงทุนเปิดบัญชี (ไม่ใช่ บล ที่ออก DW นะครับ) ซึ่งจะมีข้อกำหนดแตกต่างกันออกไป บางที่มีข้อกำหนดเฉพาะใน DW บางประเภทเช่น DW ที่ “ใกล้หมดอายุ” (มีความเสี่ยงสูง) ถ้าจะให้ซื้อขายในบัญชี Cash Account แล้ว DW ที่หมดอายุจนมูลค่าเป็นศูนย์ แล้วนักลงทุนจะไม่ชำระค่าซื้อในวันที่ T+3 ทางบล. เองก็ไม่สามารถขายคืนได้ เนื่องจาก DW หมดอายุไปแล้ว ก็อาจออกมาตรการป้องกันความเสี่ยงให้ไปเทรด DW ที่ใกล้หมดอายุมากๆ ด้วย Cash Balance ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใดครับ ซึ่งข้อกำหนดในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับ บล แต่ล่ะที่ก็จะมีหลักเกณฑ์แตกต่างกันออกไปนั่นเอง

<< สรุปจบใน 5 บรรทัด >>

ถึงแม้ว่าหุ้นแม่จะติด Cash Balance ระดับใดก็ตาม แต่ว่า DW ในหุ้นแม่ตัวนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องติด Cash Balance ตามไปด้วย และยังสามารถเทรดได้ตามปกติทุกอย่างโดยไม่ต้องมีการวางเงินเต็มจำนวนแต่อย่างใด แต่เกณฑ์การติด Cash ของ DW จะมีหลักการแยกต่างหากจากของหุ้นแม่โดนสิ้นเชิง ครับผม