เป็นธรรมดานะครับ เวลาเราเข้าร่วมงานสัมมนา กับทาง บลจ. ซัก บลจ. ที่กำลังจะออกกองทุน IPO ตัวใหม่มาซักกองนั้น ข้อมูลที่เราได้จากงานสัมมนา มันต้องเป็นข้อมูลด้านดีที่ดูเพรียบพร้อม และสวยหรู ดูแล้วน่าลงทุนเหลือเกิน แต่ก็เหมือนกับของทุกสิ่งบนโลกครับ มีด้านดี ก็ย่อมมีด้านเสีย ด้านที่คุณต้องพิจารณาให้ดี อย่าฟังข้อมูลแค่งานสัมมนาอย่างเดียว

เหตุผล ก็คือ กองทุน IPO ส่วนใหญ่ (ย้ำว่าส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทุกกอง) มักจะเลือกออกกองทุนในช่วงที่คาดว่าจะมีควาต้องการมาก เพื่อให้ขนาดกองทุนใหญ่พอที่จะจัดตั้งได้ และมีขนาด Economic of Scale ที่คุ้มค่ากับการจัดตั้ง ซึ่งเมื่อย้อนกลับมาที่ตลาดหุ้น คุณๆจะเห็นภาพว่า ตอนที่ปริมาณซื้อขายสูงๆ คนพูดถึงหุ้นนั้นกันเกลื่อนเมือง มันคือ ตอนที่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปแล้วระดับหนึ่ง ใช่ครับ!! ผมกำลังจะบอกว่า IPO Fund ส่วนใหญ่ จะออกในช่วงที่กองทุนมีผลประกอบการย้อนหลังดีมาแล้วระดับหนึ่ง เพื่อโชว์ว่า กองทุนผลงานดี อนาคตสดใส

บางคนอาจถามว่า แล้วทำไมไม่ออกตอนราคามันดิ่งๆ จะได้ของถูกลง … ก็ขอให้ย้อนมองสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดทำ ในช่วงขาลงของตลาดหุ้นนะครับ
1. เสพข่าวร้าย ณ ตอนนั้น
2. เกิดความกลัว ไม่แน่ใจว่าข่าวร้ายนั้นจะหมดเมื่อไหร่
3. ถึงไม่ลังเล ก็อยากได้ของถูก พยายามกะเก็งจังหวะซื้อในรอบสั้นๆ
4. ซึ่งการกะเก็งแบบนั้น น้อยคนจะได้ของถูกจริงๆ

ด้วยเหตุผลเช่นนี้ หากออกกอง IPO ในช่วงที่ตลาดไม่เป็นใจ Volume ที่ได้ ก็น้อยเกินไป ไม่ถึงเป้าคนขาย กองทุนก็ค่าใช้จ่ายอาจจะสูง ดังนั้น เลือกออกตอนผลการดำเนินงานดีๆไว้ก่อน โดยใช้มุมมองระยะยาวมาวิเคราะห์ในภาพใหญ่ว่า การลงทุนตามนโยบายนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวถึงแม้ตลาดจะมีการปรับฐาน ได้หรือไม่ … ถ้าได้ ตอนขายก็บอกไปเลยว่า ลงทุนยาวๆ 1-3 ปีขึ้นไป หรือ 3-5 ปีขึ้นไป (แต่ผมก็เข้าใจนะ เกิน 3 ปี นักลงทุนไม่มองหรอก อยากได้อะไรเร็วๆสั้นๆ มากกว่า)

นักลงทุนในกองทุนส่วนใหญ่ ที่ลงทุนในหุ้นรายตัว ควบคู่กันไป มักหลงกล นำผลตอบแทนระยะสั้นมาเทียบกัน ระหว่าง กองทุน และ หุ้นรายตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะ กองทุนนั้นได้มีการกระจายความเสี่ยงในหลักทรัพย์ไว้หลายตัวอยู่แล้ว โอกาสที่หุ้นทั้ง 30-40 ตัวในพอร์ต จะลากขึ้นรวดเดียวเหมือนหุ้นปั่น วันละ 10-20% มันเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ถ้าจะลงทุนในกองทุนรวม คุณต้องเปิดใจว่า เป็นการลงทุนระยะยาว และ เทียบกับหุ้นรายตัวไม่ได้เด็ดขาด

พอทำใจได้แล้ว รู้ข้อจำกัดของการออกกอง IPO แล้ว มาถึงคำถามสุดท้าย ที่คุณควรยกมือถามผู้จัดการกองทุน เพื่อให้แน่ใจว่าคุณตัดสินใจไม่ผิดก็คือ

“แล้วผู้จัดการกองทุน ลงทุนในกองทุนที่ตัวเองบริหารอยู่หรือไม่?”

จะเป็นนักขาย ต้องเชื่อให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ตัวเอง คนซื้อถึงจะเชื่อเรา
จะเป็นกองทุนที่ดี ผู้จัดการกองทุนต้องเชื่อในฝีมือตัวเอง นักลงทุนถึงจะกล้าไว้วางใจ

ลองคิดกลับกันสิครับ มันคงแปลกมากถ้า Sale ขายฮอนด้า ขับรถ Toyota มาทำงานทุกวัน
หรือ หนุ่มหน้ามน ชมผู้หญิงคนอื่นว่าสวย ทั้งๆที่มีแฟนน่ารักๆอยู่ข้างๆ (โยงมาเรื่องนี้ได้ไงฟร่ะ)

ที่อเมริกา ซึ่งนักลงทุนส่วนหใญ่ไม่ลงทุนในหุ้นรายตัว แต่ชอบที่จะลงทุนในกองทุนรวมแทนนั้น เขามีการทำวิจัย แล้วได้ผลที่น่าสนใจว่า กองทุนประเภท Active Management Portfolio ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ควรจะประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1) ค่าใช้จ่ายรวม (Total Expense) ถูกกว่ากองทุนอื่น 2) ผู้จัดการกองทุนเข้าลงทุนในกองทุนรวมนั้นในจำนวนเงินที่มากพอ

เรื่องค่าใช้จ่ายเนี่ย เปิด Fund Fact Sheet เทียบกับที่อื่นดู ก็จะพอรู้ครับ แต่เรื่องว่า ผู้จัดการกองทุนเขาถือกองที่เขาบริหารรึเปล่า อันนี้ต้องยกมือถามเอา

คราวนี้ก็รู้แล้วนะครับ ว่า ไปสัมมนากองทุนรวมครั้งต่อไป เราจะยกมือถามอะไรคนบนเวทีดี 🙂