สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าสร้างความหวาดกลัวให้นักลงทุนทั้งโลกได้พอสมควรทีเดียว

S&P500 -6%
STOXX -6%
A Share -12%
H Share -7%
Nikkei225 -5.3%

เฉพาะวันศุกร์เนี่ย ก็หนักเลยครับ

DJIA

เรื่องแย่ๆที่กระหน่ำตลาดสัปดาห์ที่แล้วมีดังนี้ครับ
1. นายกกรีซประกาศลาออก แสดงให้เห็นปมขัดแย่งในพรรคด้วยกันเอง
2. ความตึงเครียดที่ชายแดนเกาหลีใต้ VS เกาหลีเหนือ จะลุกลามมากขึ้นไหม
3. Flash PMI ของจีน ประกาศออกมาแย่สุดนับตั้งแต่วิกฤต Subprime
4. ราคาน้ำมันจ่อต่ำกว่า $40 กดดัน Energy & Commodity Sector

ทั้งหมดนี้ โลกจะเข้าสู่วิกฤตหนักกว่านี้ไหม?
บทความนี้จะพยายามพาคุณไปเรียบรู้ด้วยเหตุและผลเพื่อหาคำตอบกัน โดยหวังว่า มันจะเป็นจิ๊กซอว์ส่วนหนึ่งที่ต่อภาพกลยุทธ์การลงทุนของทุกท่านได้ดีขึ้น ส่วนจะเชื่ออย่างไร เทรดอย่างไรต่อ รบกวนใช้วิจารณญาณของตัวท่านเองนะครับ ผมการันตีได้แค่ความถูกต้องของข้อมูล แต่ไม่การันตีทิศทางของตลาดหุ้นว่ามันจะไปในทางเดียวกันกับที่ผมวิเคราะห์คือเปล่านะ หุหุ

Q : ตลาดปรับฐานครั้งนี้ จุดเริ่มต้นคืออะไร?

A : เริ่มจากจุดที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย นั้นก็คือ เศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มชะลอตัวต่ำกว่าเป้า 7% ต่อปี นั้นเองครับ

ผมเล่าแบบนี้ก็แล้วกันนะ จีนจะมีการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ๆเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในหลายๆเรื่องรวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ โดยมีการตั้งเป้าหมายระยะยาวด้านเศรษฐกิจว่า ต้องการจะขึ้นมาเป็นผู้นำของโลก ซึ่งจริงๆไม่ต้องรีบมากก็ได้ครับ เพราะอัตราการเติบโตของ GDP ในระดับปัจจุบัน มันก็เพียงพอต่อการแซงหน้าสหรัฐฯในอีก 20 ปีข้างหน้าแน่นอน โดยยุทธศาสตร์นั้นจะกลับมามุ่งเน้นการเติบโตจากภายในประเทศเป็นหลัก

1439431082924_eChina-c1_452927แต่ปัญหาคือ รัฐบาลกลับต้องเก็บกวาดบ้านในหลายประเด็น ทั้งเรื่อง Shadow Banking และ การปราบปรามการทุจริตของช้าราชการ  ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าออกไปด้วย ดังนั้นเศรษฐกิจในประเทศของจีนเอง แสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่า ชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จนทำให้รัฐบาลเล็งเห็นแล้วว่า มีความเสี่ยงเหลือเกินที่ GDP Growth จะต่ำกว่า 7% ตามที่กำหนดกันไว้ (จริงก็ไม่เห็นเป็นไรนะผมว่า) จีนจึงพยายามมีมาตรการกระตุ้นระยะสั้น ทั้งการปรับลด RRR ปรับลดดอกเบี้ย เปิดเทรดระหว่างสองตลาด A/H Share อนุญาตให้กองทุนขนาดเอาเงินออกมาลงทุนเพิ่มขึ้น  ฯลฯ

Q : แล้วฟองสบู่ตลาดหุ้นจีนก็แตกใน A-Share?

A : จะเรียกว่าฟองสบู่หรือเปล่า ตรงนี้มุมมองของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังบอกว่า อาจเป็นแค่การพักฐาน (พักอะไรฟร่ะตั้ง -30% – -“) แต่ในทางเทคนิคนะครับ ตลาดหุ้นไหนในโลกที่ปรับฐานจากจุดสูงสุดมากกว่า -20% เมื่อไหร่ นักข่าว นักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ จะบอกว่า ตลาดหุ้นที่นั้นเข้าสู่ตลาดหมี หรือ Bear Market นั้นเอง

Q : เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว มันเกี่ยวกับโลกยังไง?

A : ชะลอเฉยๆ ก็กระทบกับโลกพอสมควรอยู่แล้วครับ เพราะอย่าลืมว่า ถึงตลาดหุ้นจีนจะไม่ผูกพันกับตลาดอื่น และไม่มีความเป็นเสรีมากมายอะไร ห้ามโน้นห้ามนี่เยอะแยะกว่าจะเอาเงินเข้าไปลงทุนได้ แต่เศรษฐกิจของจีนซึ่งปัจจุบัน GDP ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มันเกี่ยวเนื่องกับแทบทุกประเทศบนโลกไม่มากก็น้อยละ

จุดสำคัญที่เป็น Turning Point ครั้งนี้ก็คือ ตัวเลขส่งออกจีนหดตัว -8% ในเดือน ก.ค. นั้นมันทำให้คนกังวลว่ามันจะกระทบกับ Supply Chain ทั้งโลก หลังจากนั้น จีนก็ทำในสิ่งที่ไม่มีใครในโลกคิดว่าจะทำ คือการประกาศลดค่ากลางค่าเงินหยวน ทำให้ค่าเงินหยวน (RMB) อ่อนค่าใน 3 วันราวๆ 3% เมื่อเทียบกับสกุล USD

RMB

Q : หยวนอ่อน แล้วไง แค่ 3% เอง จะกระทบอะไรกับโลกมากมาย?

A : มันไม่ใช่เรื่องของการที่อ่อนค่าไปแล้วครับ มันเป็นเรื่องของมุมมองที่นักลงทุนรายใหญ่ๆของโลกมีต่อจีนเปลี่ยนไปมากกว่า โดยเขามองว่า PBOC ทำแบบนี้ เพราะโดนใบสั่งจากรัฐบาล และที่รัฐบาลสั่ง ก็เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจจีนมันเลวร้ายจริงๆ และเมื่อเลวร้ายจริงๆ แสดงว่าความต้องการใช้สินค้า และการลงทุนในจีน น่าจะชะลอตัวต่อเนื่องไปอีกแน่นอนเลย กลุ่ม Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีจีนเป็นตลาดหลัก ราคาจึงร่วงตอบรับข่าวทันที

ถึงตรงนี้ ทุกคนน่าจะเห็นภาพเหมือนผมนะครับว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ มันไม่ได้โดนกดดันจากมุมมองเศรษฐกิจจีนอย่างเดียว แต่ก่อนหน้านี้ ก็โดนกดดันจากการบริโภคที่ชะลอตัวทั้งโลก อีกทั้งราคาน้ำมันก็อยู่ในระดับต่ำ (เรื่องน้ำมัน เป็นอีกเรื่องนะครับ บทความนี้ขอไม่พูดถึง) ทำให้สินค้าเหล่านี้โดนปัจจัยลบ X2 ทันที กราฟด้านล่างคือดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ครับ ต่ำเตี้ยติดดินเลย

Commo

 

เมื่อกลุ่มอุตสาหกรรมสองกลุ่มหลักของโลกอย่าง Energy Sector ซึ่งโดนเทขายมาก่อนหน้านี้ และ Commodity Sector ก็โดนด้วยจากประเด็นเรื่องเศรษฐกิจจีน มันเลยทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องมีความเสี่ยงขึ้นมาทันที

Q : แต่ข่าวร้าย ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจจีนชะลอตัวนะ มีอีกเยอะเลย ไม่พูดถึงหน่อยหรอ?

A : ก็พี่ถามถึงจุดเริ่มต้นนิ!!

ผมมองว่า ประเด็นอื่นๆ ทั้งเรื่องนายกฯกรีซลาออก หรือ ประเด็นจ่อทำสงครามของเกาหลีเหนือ/เกาหลีใต้ เป็นประเด็นรองครับ เดี๋ยวก็ตกลงกันได้ คอยดูก็แล้วกัน แต่ที่ตลาดยิ่งไม่ชอบใจ เพราะตัวเลข Flash Manufacturing PMI ของจีน ออกมาต่ำกว่าระดับวิกฤต Subprime เสียอีก มันแปลว่า เศรษฐกิจจีนยังมุ่งหน้าสู่แดนใต้อยู่นะ พอขายกลุ่ม Energy Sector และ Commodity Sector แล้วยังไม่สบายใจ นักลงทุนก็ไปขายลดพอร์ตความเสี่ยงลงทั้งหมดทันที เพราะเชื่อว่า พอจีนยิ่งแย่ เดี๋ยวต้องออกมาตรการอะไรออกมาอีก หรืออาจยอมกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการประกาศลดค่าเงินหยวนอีกหรือเปล่า ก็ไม่แน่แล้วสินะงานนี้ ยังไง IMF ก็เลื่อนพิจารณาเอาเงินหยวนเข้าตระกร้าเงินทุนสำรอง (SDR) เป็นปีหน้าแล้วด้วย พี่อาจจะทำอะไร Surprise ตลาดอีกก็ได้นะ

Q : แสดงว่า วันนี้ มันเป็นเรื่องจีน เรื่องเดียวเลย?

A : จุดเริ่มต้น มันเป็นเรื่องจีนครับ แต่ ตรงนี้สำคัญละ … เศรษฐกิจชะลอตัวที่จีน จะทำให้เราไปเจอประเทศอื่นๆ หรือที่ใดที่หนึ่งในโลกนี้ที่มีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอยู่ก่อนหน้านี้ โผล่มาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า? (เข้าสำนวน น้ำลด ตอผุด) ซึ่งเท่าที่คิดได้นะ และผมก็ Update ไว้ใน Weekly Market Wrap Up 2 ฉบับที่ผ่านมา ก็คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะส่งผลหนักต่อเศรษฐกิจ Emerging Markets โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียหนักกว่าภูมิภาคอื่นค่อนข้างชัดเจน ดังนั้น เราได้หนึ่งกลยุทธ์แล้วนะครับ หลีกเลี่ยงการลงทุนในเอเชียเสีย เพราะเสี่ยงโดนนักวิเคราะห์ปรับประมานการณ์ราคาหุ้นและดัชนีลงได้อีก หากข่าวร้ายยังทยอยออกมาอีก การปรับฐานก็น่าจะยังไม่จบ

Q : ใช้คำว่าปรับฐาน …? ตกลงแค่ปรับฐานหรอกหรอ? ไม่ใช่ เข้า Bear Market Cycle รึ?

A : จริงๆ ที่คุณเปิดเข้ามาอ่านบทความนี้ ก็อยากจะให้ผมฟันธงใช่มั้ยละ ว่าที่เราเจออยู่เนี่ย คือ ลงเพื่อวิ่ง หรือ ปาร์ตี้จบแล้ว …. ตอบตรงๆนะครับ ผมกลัวธงหัก 555+

วิกฤต มันจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเราอยู่ในวิกฤตนั้นไปแล้ว น้อยคนนักครับที่จะรู้ก่อน

ถ้าถอยออกมามองภาพกว้างๆ จะเห็นอยู่ 2-3 ประเด็น ที่ทำให้ผมคิดว่า นี่เป็นแค่การ “ปรับฐาน” ที่อาจทำร้ายจิตใจนักลงทุนมากกว่ารอบก่อนๆ แต่ไม่น่าจะใช่การสิ้นสุดของ Bull Market อย่างที่หลายคนกังวล

1. Alternative of Cash ยังมีอีกเยอะ ณ ตอนนี้ – ยกตัวอย่างเช่น ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา Active Fund Managers ทั่วโลกพร้อมใจกันเพิ่มการถือครองเงินสดมากสุดนับตั้งแต่วิกฤต Subprime เช่นเดียวกันกับ HNWIs หรือกลุ่มคนรวยผู้มีความมั่งคั่งของโลก ก็ถือเงินสดในจำนวนเยอะที่สุดในรอบ 3 ปีเช่นกัน สิ่งนี้บอกอะไร? สินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างพวกเงินสดนั้น ไม่ได้ให้ Yield อะไร ดังนั้นการปรับฐานที่เกิดขึ้น จะทำให้ผู้จัดการกองทุน นักลงทุน Value Investors ต่างๆ จะเข้ามาพยายามหา Yield ที่ตนพอใจแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว จะเกิดวิกฤต เงินสดในโลกไม่ควรเยอะขนาดนี้ครับ ในวิกฤต เงินส่วนใหญ่จะอยู่ในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งวันนี้ ไม่ใช่!!

2. โลกยังมี QE และ สหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยอะไร – นอกจากสภาพคล่องจากผู้จัดการและเหล่าคนรวยของโลกแล้ว สภาพคล่องจาก QE ก็ยังเติมเข้ามาอีกเรื่อยๆ แต่อย่าลืมว่า ที่ตลาดหุ้นโลกวิ่งมาไกลก็เพราะ QE ที่เติมมาเรื่อยๆนะครับ มันเลยทำให้ Valuation ของหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดเทรดกันที่ระดับราคาแพงกว่าความเป็นจริงมานาน ดังนั้น การปรับฐาน มันก็อาจจะลึก และใช้เวลาเช่นกัน

3. สินทรัพย์ที่เป็นฟองสบู่หนักกว่าตลาดหุ้นคือ “ตราสารหนี้” แต่วันนี้ ทุกคนวิ่งไปหามัน (ตราสารหนี้) อีกรอบ – มันชัดมากนะครับว่า เงิน QE ไปอยู่ในตราสารหนี้เยอะมาก แล้วค่อยกระเด็นมาตลาดหุ้นบางส่วน มุมมองของผม ถ้าฟองสบู่โลกจะแตก มันควรเกิดจากการ Sell Off ในตราสารหนี้ แล้วเกิด Panic ในตลาดหุ้นตามมา … ซึ่ง Trigger ที่จะเกิดแรงเทขายได้ ผมมองว่า มันคือ อัตราเร่งในการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ครับ

แต่เหตุการณ์วันนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ต่ำเตี้ยแบบนี้ เศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอตัวมากขึ้นแบบนี้ ถ้าผมเป็นเฟด ผมก็คิดว่า ยังไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่จะขึ้นดอกเบี้ย และถึงจะขึ้นดอกเบี้ยจริงๆปลายปีนี้ ก็น่าจะขึ้นในเชิงสัญลักษณ์ มากกว่าที่จะที่จะรีบขึ้นอย่างรวดเร็วครับ ดังนั้น ความเสี่ยงหลักของโลก ที่ตราสารหนี้จะถูกเทขายรุนแรง ผมมองว่ายังไม่เกิดครับ

Q : ปรับฐานจบรึยังเนี่ย?

A : นี่ละ ที่ผมไม่รู้ และก็พยายามหาคำตอบเหมือนๆกับคุณ

มุมมองแรก ผมอยากให้มองที่ Volatility Index (VIX) หรือที่เเราเรียกว่า Fear Index เมื่อคืนนี้ VIX วิ่งขึ้นมาเกิน 20 จุดอีกรอบ ซึ่งระดับนี้ เขาบอกว่า ตลาดกำลังถูกความกลัวครอบงำ รอบที่ VIX พุ่งไปสูงมากๆตอนเดือน ต.ค. 2014 ตอนนั้นทำให้ S&P500 ปรับฐานจากจุดสูงสุดของรอบ ราวๆ -10% ก็อาจใช้ข้อมูลอดีตตรงนี้ เป็นเกณฑ์ไว้ไปคิดกันต่อนะครับ

VIX

ที่ผมกังวลก็คือ ดัชนีสำคัญๆของโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาดิ่งลงมาหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน กันเยอะเลย ทั้ง Dow Jones , S&P500, DAX, CAC40, FTSE ภาพมันเลยดูแล้ว สร้างความกังวลไม่น้อยทีเดียวว่า การปรับฐานอาจจะยังไม่จบในระยะเวลาอันสั้นนะครับ

World

บอกตรงๆครับ สองจิตสองใจว่าจะลงได้อีกลึกแค่ไหน แต่เชื่อว่าสัปดาห์หน้ายังลงอยู่ ดังนั้น สำหรับตัวผมแล้ว ขอค่อยๆดู และจับตาอย่างใกล้ชิดเป็นวันๆไปก่อนดีกว่า ต้องขอโทษด้วยที่ไม่มีคำตอบสุดท้ายให้นะ

Q : แล้วแบบนี้ นักลงทุนต้องทำยังไงดี?

A : กางพอร์ตตัวเองออกมาดูเลยครับ ได้เวลาทบทวนพอร์ต Re-balance Portfolio อย่างจริงจังอีกรอบ ใครไม่เคยจัด Asset Allocation มาก่อน ครั้งนี้ คุณน่าจะเห็นความสำคัญของมันแล้วนะครับ ถ้าคิดเองแล้วไม่มั่นใจ ก็ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้เขาช่วยแนะนำ ที่ปรึกษาที่ดี คือ คนที่อธิบายท่านแล้วท่านเข้าใจ และเขาเข้าใจถึงความเสี่ยงที่ท่านรับได้ พร้อมกับกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมให้กับเรา

แต่ถ้าถามผมว่า ผมจะปรับพอร์ตอย่างไร ผมขอแนะนำสินทรัพย์ที่คิดว่าควรลดพอร์ตตามนี้ครับ

1. ราคาน้ำมัน และ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ – อาจจะเจอจุดต่ำสุด หรือไม่เจอ ผมไม่รู้ครับ รู้แต่ว่า ขึ้นยากแล้วแน่นอน ดังนั้น ใครที่พอร์ตหนักในหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องนี้ ต้องเผื่อใจเลย จุดที่ราคาควรเด้ง แล้วมันไม่เด้ง มันก็แปลว่ามันจะลงต่อครับ … แล้วค่อยไปพิจารณาซื้อกลับ หากมีสัญญาณกลับตัว ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

2. ตราสารหนี้ประเภท High Yield (HY) – ที่ผมเคยบอกว่าน่าสนใจผ่านสื่อหลายที่นั้น วันนี้ผมมองว่า Upside ของมัน จะลดลงมานะครับ ถึงแม้ว่า Spread ของ HY และ Gov. Bond จะกว้างขึ้น แต่ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของโลกนั้น จะทำให้ Spread ไม่วิ่งกลับลงมาจนแคบเหมือนเดิมได้เร็ว แต่ดูรูป HY Spread ประกอบนะครับ จะเห็นว่า ช่วงนี้ เป็นช่วงที่ Underperform มากสุดในรอบหลายสิบปีเลย ดังนั้น ใครยังไม่มีในพอร์ตและพอรับความเสี่ยงได้ การเพิ่ม HY Bond เป็น Tactical Allocation ก็อาจได้กำไรระยะสั้นเพลินๆ

HY

3. ตลาดหุ้น EM – จะโดนปรับลดประมานการณ์กำไรสุทธิ และอัตราการเติบโตลงอีก ค่าเงินก็จะอ่อนค่าลงไปอีก เพื่อหาจุดที่ทำให้ดุลการค้า และความสามารถในการแข่งขันกลับมา ดังนั้นจำเป็นต้องลดพอร์ตการลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ รวมถึงหุ้นไทยด้วยนะครับ

ส่วนสินทรัพย์อื่นๆ อย่างหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และ ทองคำ เอาไว้ค่อยๆทยอยเขียนเรื่อยๆดีกว่าครับ ผมว่า บทความนี้มันเริ่มยาวไปแล้ว เดี๋ยวจะล้าสายตา (ผมเป็นห่วงคุณจริงๆนะ)

โชคดีในการลงทุนครับ