อิสรภาพทางการเงิน คือสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนโหยหา แต่นิยามแท้จริง และพัฒนาการที่จะไปถึงบันไดขั้นสูงสุดอันนี้ มีซักกี่คนที่เข้าใจ?

การมีเงินมาก ไม่ได้หมายถึงว่า คุณจะมีอิสระอย่างแท้จริง หากแต่เป็นการบริหารจัดการเงินแบบครบวงจรอย่างถูกวิธีต่างหาก ที่ทำให้ชีวิตของมนุษย์เงินเดือนธรรมดาคนหนึ่ง เปลี่ยนเป็นเศรษฐีอย่างที่ใจฝันนะครับ

เราก็เห็นมามากมายที่เศรษฐี หรือมหาเศรษฐีหลายคน ดูจะไม่มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่เท่าไหร่ เพราะสุดท้ายความสุขมันอยู่ที่ใจ กับคำว่า “พอ” ส่วนปริมาณเงินในกระเป๋านั้น มันเป็นแค่เครื่องการันตีความสบายทางวัตถุ ส่วนทางใจ คุณต้องสร้างกันเอง ในมุมมองของผม ผมจึงไม่แนะนำให้คุณตั้งความหวังของชีวิตทั้งหมดไว้ที่ตัวเงิน การแวะข้างทางชมดอกไม้ ถ่ายรูปเล่น แวะกินของอร่อยๆ และการได้อยู่กับคนที่เรารัก ก็เป็นความสุขที่เศรษฐีบางคนอาจไม่เคยสัมผัส (อย่าคิดแค่อิจฉาเศรษฐี เพราะเศรษฐีจำนวนมากก็อิจฉาชีวิตของเรา ^^)

แต่แน่นอนครับ การไม่มีเงิน มันไม่ทำให้เรามีความสุขได้เต็มที่ สาเหตุเกิดจากอะไร? ดูภาพแรก นี่คือ งบการเงินของคนจน

จะเห็นว่า คนจน ชนชั้นแรงงานนั้น รายได้หลัก มาจากค่าจ้างรายวัน ซึ่งเมื่อเจอรายจ่ายเข้าไป ก็ไม่พอ พอไม่พอ ก็ต้องไปกู้ ทั้งในระบบ และนอกระบบ เพิ่มภาระดอกเบี้ยอีกทาง ส่วนสินทรัพย์ที่เขาเหล่านั้นสะสม ก็เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งสิ้น เมื่อวงจรนี้ยังทำงานของมันไปเรื่อยๆ Wealth หรือความมั่งคั่ง ก็จะค่อยๆลงเรื่อยๆ

ภาพต่อไป เป็นงบการเงินของมนุษย์เงินเดือน หรือเจ้าของกิจการเล็กๆ

รายได้จากเงินเดือนมีมากกว่ารายจ่าย แต่ยังออมไว้ในรูปแบบเงินฝากซึ่งให้ผลตอบแทนน้อย เมื่อต้องการใช้เงินฉุกเฉิน หรือก้อนใหญ่ ก็ไปดึงจากเงินออมมาใช้ วิธีการเพิ่มรายได้จึงเป็นการทำงานให้หนัก เพื่อการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน ถามว่ามีอิสรภาพทางการเงินไหม บางคนก็รักในสิ่งที่ตัวเองทำงาน ก็คงไม่มีปัญหานะครับ แต่ผมเชื่อว่า มีอีกหลายคนที่ทำงานกินเงินเดือนอยู่ ณ ตอนนี้ ไม่ได้พอใจกับงานของตัวเอง แต่ทำงานเพราะต้องการเงินเดือน ซึ่งจากประสบการณ์ของคนใกล้ชิดหลายๆคน เกือบ 100% ที่ย้ายงาน ก็มีเหตุผลเรื่อง ต้องการเงินเดือนที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยหนึ่งรวมอยู่ด้วย

ภาพสุดท้าย เป็นงบการเงินของคนที่เรียกว่า “มีอิสรภาพทางการเงิน” แล้วเรียบร้อย

ความแตกต่างนั้นชัดเจนครับ คนเหล่านี้ ไม่ต้องพึ่งพาเงินจากแรงงาน แต่ได้รายได้จากสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ซึ่งครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมด แถมเมื่อมีเงินเหลือ ก็นำมาลงทุนต่อ (Reinvest) เรื่อยๆ ไม่ต้องเป็นทุกข์กับนายจ้างที่ไม่ยุติธรรม ไม่ต้องนั่งทำงานที่ตัวเองไม่ได้รัก ไม่ต้องตื่นเช้าไปต่อสู้กับรถติดวันละ 2-3 ชม. … ดูมีความสุขและน่าอิจฉาใช่ไหมครับ?

จริงๆแล้ว ผมมองว่า อิสรภาพ นั้น มันเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง เมื่อคุณเป็นนักลงทุนเต็มตัว รายได้ของตัวเองไปผูกอยู่กับผลตอบแทนของหุ้น หรือตราสารหนี้ที่ถือ คุณก็มีหน้าที่ที่จะสอดส่องและตรวจสอบบริษัทที่เข้าไปลงทุนเรื่อยๆ ในเมื่อมันคือรายได้หลักของชีวิต คุณจะทิ้งมันไปโดยไม่ดูแลเชียวหรือ? ยกเว้นก็แต่ มีเงินเป็นหลักร้อยล้าน พันล้าน ใช้ชีวิตสมถะ แค่ใช้ดอกเบี้ยที่ฝากธนาคารก็กินไม่หมดแล้ว แบบนี้ก็ถึงเรียกว่า อิสระอย่างแท้จริง

ผมเสนอทางเลือกการบริหารเงินอีกทางแล้วกันครับ เป็นมนุษย์เงินเดือน หรือเจ้าของอิจการเล็กๆที่เราชอบ ที่เราภูมิใจ มีรายได้จากการทำงานตรงนี้ส่วนหนึ่ง เสร็จแล้ว พอได้มา รู้จักใช้ รู้จักออม แบ่งเงินไปลงทุน ได้รายได้จากการลงทุนอีกทาง รายได้ก็เพิ่มขึ้นจากเดิม คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น ดูแลคนข้างหลังได้มั่นใจขึ้น เป็นไงครับ ดูเข้าท่ารึเปล่า

อิสรภาพทางเงิน ในความหมายของผม ก็คือ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และสิ่งที่รักก็สร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวเราได้ด้วย … วันนี้คุณมีอิสรภาพหรือยัง? 🙂