นักลงทุนหน้าใหม่ในตลาดมักสงสัยว่า ทุกๆวันนี้ ราคาหุ้นมันขึ้นลงตามปัจจัยอะไร แม้กระทั่งเรา ซึ่งลงทุนอยู่ในตลาดมาซักพัก เราก็อาจลืมหลักการ หรือจุดยืนที่ตัวเองเคยเชื่อ จนทำให้บางคน หลงทางไปในโลกแห่งการลงทุนใบนี้ สุดท้ายเราต้องการอะไรจากมัน สุดท้ายเราต้องทำอย่างไรถึงจะอยู่รอดไปถึงฝั่งฝัน วันนี้ผมจะพาทุกท่านย้อนกลับมาคิดกันให้ดีๆอีกครั้งนะครับ

ตามหลักสูตรที่เรียนกันมาเลย เรารู้กันมาตั้งแต่แรก (หวังว่าทุกๆคนรู้เหมือนผมนะ) ว่า ราคาหุ้น วิ่งตามปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ถ้าบริษัทมีแนวโน้มกำไรในอนาคตดี ราคาหุ้นก็จะวิ่งทางขึ้น ถ้ากลับกัน บริษัทวิ่งทางลง ราคาหุ้นก็มักจะลงตาม พอเราทราบอย่างนี้ เราก็รอให้งบของบริษัทออก หรือไม่ก็เก็งกันไปก่อนว่างบจะออกมายังไง แต่ผลจากการเก็งแบบนี้ สิ่งที่เราเจอก็คือ หลายครั้งเลย ที่พองบออกมาดี แต่หุ้นกลับลง (Sell On Fact) หรือบางครั้งงบออกมาแย่ บางทีหุ้นกลับยืนนิ่งเหมือนไม่รู้สึกอะไร

พอเจอเหตุการณ์อย่างนี้ เราก็สรุปในใจทันทีว่า สงสัย หุ้นไม่ได้วิ่งตามปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียวซะละมั้ง มันต้องมีปัจจัยอื่นด้วยเป็นแน่แท้

ว่าแล้ว เราก็สังเกตุเห็นว่า หลายครั้งที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้น หุ้นก็มักจะขึ้นตาม และเมื่อไหร่ที่ตลาดโดยเทขายด้วยนักลงทุนกลุ่มนี้ หุ้นก็มักจะลงตาม ซึ่งเมื่อดูจากสถิติในระยะยาว เราก็พบว่า มันเป็นอย่างที่เราคิดจริงๆด้วย ลองดูข้อมูลสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 43 จะเห็นว่า เมื่อไหร่ที่นักลงทุนต่างชาติซื้อ หุ้นก็วิ่งขึ้นจริงๆ และเมื่อเขาขาย หุ้นเราก็ดิ่งลงตามแรงโน้มถ่วง ดังนั้น เราจึงเห็นนักลงทุนหลายกลุ่ม ที่ให้ความสำคัญกับการซื้อ/ขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเป็นอันดับต้นๆ

แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ครับ ผมว่าทุกคนที่ดูยอดซื้อขายนักลงทุนต่างชาติเป็นเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจ น่าจะเคยเจอปัญหาเดียวกัน นั้นก็คือ หุ้นที่เราเลือกลงทุน มันไม่เห็นวิ่งทางเดียวกันกับการซื้อขายสุทธิของฝรั่งพวกนี้เลย แบบนี้ก็ดูไม่ได้แล้วสิ แล้วจะดูอะไรดีละทีนี้

นักลงทุนที่พยายามต่อสู้เพื่อเอาชนะตลาดในระยะสั้นก็เกิดขึ้น ในเมื่อดูปัจจัยพื้นฐาน มันก็บอกยากว่าหุ้นจะขึ้นหรือไม่ขึ้น แถมพอไปดูยอดซื้อขายสุทธิของฝรั่งก็ดันมีช่วงที่มันผันผวน และบางที หุ้นที่เราถือ มันก็ไม่ได้วิ่งตามฝรั่งซื้อขายด้วยสิ ถ้าอย่างนั้น เอากราฟมาพล็อต แล้วหาสัญญาณซื้อขาย ตัดปัจจัยภายนอกทิ้ง แล้วดูแต่ราคามันไปเลย ถึงตรงนี้ นักวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) ก็เกิดขึ้นแล้วครับ

แต่ใช่ว่า การวิเคราะห์ทางเทคนิค มันก็ถูกต้อง 100% ซะเมื่อไหร่ มันอยู่ที่ผู้ใช้ อยู่ที่จินตนาการ อยู่ที่เงื่อนเวลาของสภาวะตลาด และอีกหลายๆอย่างรวมกัน (ปวดหัวกว่าความเชื่อแรกๆที่เรารู้จักเสียอีก เหอๆ) ว่าแล้วเราก็เลยคิดว่า การลงทุน มันเป็นเรื่องของสไตล์ใครสไตล์มัน ทุกคนมีทางเดินเป็นของตัวเอง งั้นเราก็ใช้ทุกอย่างมันรวมกันนี้ล่ะ รู้อะไร ก็เอามาใช้ให้หมด … ทุกวันนี้ ก็เลยออกมา เป็นแนวทางการลงทุนที่ผมขอใช้ชื่อว่า “แมงเม่า” (ไม่ได้ว่าใครนะ ผมก็เป็น 555+)

จะเห็นว่าประสบการณ์การลงทุน การลองถูกลองผิดในตลาด มีโอกาสที่จะทำให้เราพลาด และหลงทางจากสิ่งที่เราเคยเรียนรู้มา

แล้วจริงๆ หุ้นเคลื่อนไหวด้วยอะไร?

คำตอบคือ เคลื่อนไหวด้วยกิเลสมนุษย์ครับ ความต้องการซื้อ ความต้องการขาย ความโลภ ความกลัว สิ่งเหล่านี้ ไม่มีเหตุผลอธิบายได้ 100% ที่เราโดนลากไปลากมา ขาดทุน ติดดอย ขายหมู อยู่เรื่อยๆ ก็เพราะเราอยู่ในกระแสแห่งความคาดหวังซึ่งมันประกอบไปด้วยกลุ่มคนมากหน้าหลายตา ไม่มีทางที่เราจะเดาล่วงหน้าได้ถูกเป๊ะๆว่าอนาคตอันใกล้จะเกิดอะไรกับหุ้นที่เราลงทุน

แต่อยากให้ดูกราฟนี้ครับ

เส้นสีเชียวคือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ส่วนเส้นสีน้ำเงินคือ กำไรของบริษัทจดเบียน เส้นสีแดงคืออัตราการเติบโตของ GDP ประเทศไทย

เจ้า GDP นี่ เอามาเป็นตัววัดดัชนีหุ้นอาจลำบากนิดหน่อย ไม่ตรง 100% สาเหตุเพราะตลาดหุ้นไทยมีขนาด Market Cap. คิดเป็นแค่ 79% ของ GDP ทั้งประเทศ ในขณะที่ตลาดหุ้นอื่นๆอย่าง ฮ่องกง สิงค์โปร์ ไต้หวัน มาเลฯ มี Market Cap. สัดส่วนสูงกว่า GDP ของประเทศ ดังนั้นตลาดหุ้นของประเทศเหล่านี้ก็จะมีแนวโน้มสะท้อนภาพของเศรษฐกิจของประเทศได้มากกว่าอยู่แล้ว

แต่สำหรับ Earnings หรือกำไรบริษัทจดทะเบียน ถ้าดูจากกราฟ จะเห็นว่าเป็นตัวชี้ตลาดหุ้นได้ดีมากๆในระยะยาว จากข้อมูลนี้ ทำให้เห็นว่า ระยะสั้น ให้หุ้นแกว่งด้วยปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าระยะยาวกำไรของตัวหุ้นยังออกมาดี ราคาของมันก็ต้องสะท้อนภาพนั้นออกมาไม่ช้าก็เร็ว

สุดท้าย นิทานเรื่องนี้ ก็พาเรากลับมาสู่จุดเริ่มต้นครับ เราไม่เชื่อปัจจัยพื้นฐานในตอนแรก ก็เพื่อที่จะรู้ว่า ไม่มีอะไรในโลกแห่งการลงทุนมันเชื่อถือได้มากเท่ากับปัจจัยพื้นฐาน สิ่งที่เราต้องทำหลังจากรู้แล้วก็คือ “อดทน” รอวันที่ราคาจะสะท้อนปัจจัยนั้น

สำหรับใครที่ไม่เชื่อในการลงทุนสไตล์นี้ ผมไม่ได้บอกว่า มันมีทางเดียวจะได้เงินจากตลาดหุ้นนะ เพียงแต่ ถ้าคุณมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ด้านไหนมากพอ หรือเกิดลังเลสงสัย ไม่แน่ใจกับกลยุทธ์ตัวเองขึ้น คุณลองมองย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นจะดีกว่าไหม?