Vat-delay_Artboard-76

นาย ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพิ่งแถลงในการประชุมพรรค LDP ว่า เขาจะพิจารณาเลื่อนขึ้นภาษี VAT ที่จากเดิมจะขึ้นสิ้นเดือน เม.ย. ปีหน้า จาก 8% เป็น 10% ให้ชะลอออกไปก่อน

แล้วจริงๆ ควรเลื่อนการขึ้นภาษี VAT ออกไปไหม?

เหตุผลที่พูดกันเรื่องนี้เยอะ เพราะ ภาคการบริโภคในญี่ปุ่นซบเซามาตลอด และเศรษฐกิจในประเทศเองก็เปราะบางเหลือเกิน จนต้นปี BoJ ต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบเลยทีเดียว แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น ดังนั้น ชะลอออกไปก่อน ให้เศรษฐกิจดีขึ้นดีกว่า จะได้ไม่ซ้ำเติมสิ่งที่เป็นอยู่อย่างตอนนี้

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของโลกอย่าง Joseph Stiglitz และ Paul Krugman ก็ได้แสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนให้เลื่อนออกไปก่อน เช่นเดียวกัน โดยให้ความเห็นว่า ถ้าขึ้นภาษีในช่วงนี้ ความเสี่ยงที่จะเกิดเงินฝืดในญี่ปุ่น (Deflation) จะยิ่งสูงขึ้น จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวในระยะยาวของเศรษฐกิจ
Japan Retail Sale

รูปที่ 1 : ยอดค้าปลีกในญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2558 – เม.ย. 2559
แหล่งที่มา : สำนักข่าว Bloomberg

ฝั่งที่ไม่เห็นด้วย?

ฝั่งที่ไม่เห็นด้วย ก็คือ ชินโซ อาเบะ คนนี้ละครับที่ก่อนหน้านี้ ก็ปฏิเสธมาตลอด รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ภายในญี่ปุ่นเองก็อยากให้ขึ้นภาษี VAT นี่ซะที อย่าไปเลื่อนเลย สาเหตุเป็นเพราะ รายได้ของรัฐบาลนั้นน้อยเหลือเกิน อัตราหนี้ของจีดีพีที่สูงมากๆ หากไม่เร่งหารายได้ให้ทันจำนวนหนี้ที่ก่อมากขึ้น นานไป มันก็จะกลายเป็นภาระของประชาชนรุ่นหลัง ที่ต้องมาแบกใช้หนี้ก้อนนี้กันต่อ

japan-government-debt-to-gdp

รูปที่ 2 : อัตราส่วน หนี้สิน ต่อ จีดีพี ของญี่ปุ่น ข้อมูลตั้งแต่ 2006 -2015
แหล่งที่มา : http://www.tradingeconomics.com

แต่ถ้าเลื่อนการขึ้น VAT ไปแล้ว เหตุการณ์จะเป็นยังไงต่อ?

ในฟากของการเมืองในประเทศ ญี่ปุ่นจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงในวันที่ 10 ก.ค. ที่จะถึงนี้ การเลื่อนขึ้น VAT น่าจะทำให้ฐานเสียงของพรรค LDP เพิ่มขึ้น และทำให้มีโอกาสที่พรรคจะได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างความแข็งแกร่งในฐานะพรรครัฐบาล

แต่อีกด้าน ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ออกมาแสดงความกังวลว่า ขนาดพรรคที่มีฐานเสียงและคะแนนนิยมมากที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ยังไม่กล้าที่จะขึ้นภาษี VAT แบบนี้ หลังจากนี้ไป ไม่ต้องห่วงเลย คงจะขึ้นได้ยากแน่ๆ

ส่วนในแง่ของเศรษฐกิจ ก็คงต้องกลับมาจับตาว่า ตัวเลขยอดค้าปลีกในประเทศจะกระเตื้องขึ้นจริงอย่างที่รัฐบาลหวังหรือเปล่า ซึ่งถ้ายังไม่ขยับขึ้นมาอีก แน่นอนว่า จะเป็นงานหนักสำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวแน่นอนนะครับ

ในฝั่งของการลงทุนในตลาดหุ้น คงต้องดูหลายเหตุผล และหลายปัจจัยอื่นๆประกอบนะครับ แต่ถ้าใช้ข้อมูลในอดีตมาดูละก็ น่าจะมีลุ้นให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นบวกได้อย่างน้อยๆก็ในระยะสั้นๆ เพราะ การเลื่อนปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ ถ้าเสนอผ่านจริง (ซึ่งน่าจะผ่านละ) จะเป็นการตัดสินใจเลื่อนการขึ้น VAT เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลวางแผนจะปรับขึ้น VAT เป็น 10% ในเดือนต.ค. 2558 ปีที่แล้ว แต่ก็เพราะนายกฯ อาเบะ นี่ละครับ ที่ประกาศเลื่อนออกไปในช่วงเดือน พ.ย. 2557 ตอนนั้น ดัชนี Nikkei 225 เทรดอยู่แถวๆ 15,000 จุด หลังจากข่าวนั้น บวกกับการกระตุ้นมาตรการหลายๆอย่าง จาก Abenomics และทิศทางตลาดโลกที่เอื้ออำนวย ก็ทำให้ Nikkei 225 ขึ้นไปทำจุดสูงสุดของรอบได้ที่ 21,000 จุดกลางเดือน มิ.ย. 2558

Japan Sale Tax

รูปที่ 3 : ดัชนี Nikkei 225 ย้อนหลัง 2 ปี
แหล่งที่มา : http://www.stockcharts.com

มุมมองส่วนตัว

ผมมองว่า ความมีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงินของญี่ปุ่นนั้นลดลง และคนเริ่มไม่เชื่อว่า QQE ที่ออกมานั้นมันจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้จริงหรือ? ดังนั้น การลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ด้วยความคาดหวังจากมาตรการกระตุ้นเพียงอย่างเดียว มันไม่เพียงพอในการพิจารณาเข้าซื้อ/ขาย นะครับ สุดท้าย นักลงทุนจะกลับมาดูว่า ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่เราไปลงทุนมันดีขึ้นจริงไหม? สิ่งนี้ต่างหากที่จะสร้างกำไรในการลงทุนระยะยาวให้เราได้

งบไตรมาสล่าสุดออกมา (งบปีของญี่ปุ่น ปิดที่ไตรมาสนี้) ปรากฏว่า Net Profit ลดลง -2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นี่เป็นการปรับลดครั้งแรกนับตั้งแต่มี Abenomics มาเลยก็ว่าได้นะครับ ดังนั้น คงต้องมาดูกันว่า เริ่มปีบัญชีใหม่ เหตุการณ์ใหม่ อนาคตของตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร

ไปหาข้อมูลกันต่อครับว่า ทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะปัจจัยใดๆ บ้างก็แล้วแต่ มันส่งผลให้บริษัทในญี่ปุ่นกำไรโตขึ้นได้จริงไหม นี่คือหัวใจของการลงทุนครับ

แหล่งที่มาข้อมูล :-
http://www.japantimes.co.jp/news/2016/05/30/business/economy-business/japans-retail-sales-stall-abe-mulls-delay-tax-hike/#.V06aKvl95pg
http://www.tradingeconomics.com/japan/government-debt-to-gdp
http://www.wsj.com/articles/japans-abe-tells-ldp-he-will-delay-sales-tax-increase-1464757224

คำเตือน
• การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
• ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันผลการดำเนินในอนาคต
• การนำเสนอข้อมูลข้างต้น มิใช่การให้คำแนะนำการลงทุน
• การลงทุนใดๆ ต้องเกิดจากการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจลงทุน บนความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุนเอง
• ทางผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิ์ ไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียในทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ข้อมูลข้างต้น