สงครามการค้ารอบสอง โอกาสเกิดมากแค่ไหน?

สัปดาห์ที่แล้ว ปธน.ทรัมป์ เป็นคนประกาศออกมาเองว่า จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ เพื่อตอบโต้จีนที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19

ตลาดหุ้น จากที่บรรยากาศพุ่งเป้าไปที่การทยอยประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และการเปิดเมือง ก็มีอันต้องถูกขายออกมา กลายเป็นความเสี่ยงรอเราอยู่ตรงหน้าอีกครั้ง

บทความนี้จะพาไปดูกัน ทำไมปธน.ทรัมป์ต้องขู่แบบนี้ และมีโอกาสทำตามคำขู่มากน้อยแค่ไหน

1. ก่อนอื่น เรื่องจริงที่ต้องยอมรับก่อนเลยก็คือ นับตั้งแต่จีนเข้าร่วม World Trade Organization (WTO) ในปี 2001 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนก็โตระเบิดเถิดเทิงจากการรวบ Supply Chain ของโลกมาไว้ที่ตัวเอง จากจุดแข็งคือ ค่าแรงที่ถูกกว่า จนค่อย ๆ แย่งชิงความเป็นเบอร์ 1 แทนที่สหรัฐฯ ในฐานะผู้จัดหาสินค้า ไปยังยุโรป เอเชีย แอฟริกาและอเมริกาใต้

2. อย่างไรก็ตามในช่วงกลางปี ​​2010 จีนได้มีการขยายกำลังทหารของจีนไปยังทะเลจีนใต้ รวมถึงโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน รวมไปถึงแผนการกินรวบ Supply Chain ของโลก และสร้างนวัตกรรมจากเทคโลโยี เพื่อผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ก็เริ่มทำให้ความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น เพราะ สหรัฐฯ เสียดุลกาค้าให้กับจีนอย่างหนักมาตลอด

3. ด้วยนโยบาย “America First” จาก ปธน.ทรัมป์ ที่หาเสียงไว้ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในปี 2016 ก็ทำให้สหรัฐฯ ตัดสินใจทำสงครามการค้าครั้งแรก ขึ้นภาษีนำเข้า 2 รอบกับจีน ในวงเงินสินค้าสูงถึง $400 Billion บรรยากาศการลงทุนในปี 2018 ก็มีเรื่องนี้ปกคลุมจนตลาดหุ้นทั่วโลกซึมทั้งปี 2018

4. แน่นอนว่า จีนก็มีการตอบโต้กลับสหรัฐฯ แสดงทีท่าไม่อ่อนข้อ และสหรัฐฯ ก็ไม่ได้พุ่งเป้าไปโจมตีเพียงแห่งเดียว มีการฉีกสัญญาณ NAFTA เพื่อเขียนใหม่ให้เป็นประโยชน์กับอเมริกามายิ่งขึ้น รวมถึงเก็บภาษีนำเข้าจากยุโรป และขู่ญี่ปุ่นอยู่เนือง ๆ แต่โลกก็รู้ว่า คู่ต่อสู้ที่อเมริกาเล็งเป้าโจมตี ก็คือ จีน อยู่ดี

5. พอทำ Trade War กันมาเป็นปี สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ประกอบการเริ่มเห็นความเสี่ยง ตอนแรกก็หยุดผลิต หลัง ๆ ก็ย้ายฐานการผลิตไปตามประโยชน์จากภาษีที่ปธน.ทรัมป์ประกาศ สิ่งนี้ มันทำให้เราเห็นว่าห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของโลกเกิดผลกระทบขึ้นแล้ว

6. และที่กระทบอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เพราะ Trade War มันได้เร่งแนวโน้มการเกิดของ Technology Disruption ที่กำลังดำเนินอยู่ ให้เร่งตัวขึ้นอีก ทำให้จีนมีแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อเป้าหมายคือ บรรลุการพึ่งพาตนเองในแง่ยุทธศาสตร์การเป็นผู้นำโลก และสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงแซงหน้าสหรัฐฯ

7. แม้ว่าการเกิดขึ้นของวิกฤต Covid-19 จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน แต่สิ่งที่เห็นก็คือ ความบาดหมางระหว่าง 2 มหาอำนาจดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น Supply Chain ของโลกดูจะยังมีปัญหาหนัก ถึงแม้จะเริ่มมีการย้ายค่ายจาก Trade War ในปี 2018 แต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก สายการบินระหว่างประเทศหลายแห่งได้ปิดเส้นทางการบินไปยังประเทศจีนในช่วงเดือนม.ค. – ก.พ. และตามมาด้วยปิดการเดินทางทางอากาศทั้งหมดในโลก หลัง WHO ประกาศ Pandemic ทุกคนก็เริ่มคิดละครับว่า หลังจากนี้ เราจะอยู่กันแบบเดิมจริง ๆ หรือ? แน่นอนว่า สหรัฐฯ ไม่คิดจะอยู่แบบเดิมที่เป็นมา

8. ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีรายงานว่าเป็นศูนย์กลางการระบาดของ Covid-19 ครั้งนี้ ก็เป็นศูนย์กลางของการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ดังนั้นผู้ผลิตรถยนต์จึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก Volkswagen ถึงขั้นยอมปิดโรงงานในประเทศจีน และไม่นานจากนั้นผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นทั่วโลกก็ออกมาเตือนว่าโรงงานที่อยู่ในยุโรปและสหรัฐฯ ต้องโดนด้วย ซึ่งก็โดนอย่างที่เราเห็น และต้องขอเงิน Bailout จากรัฐฯ เพื่อเสริมสภาพคล่องเลี่ยงการ Default กันถ้วนหน้า

9. เมื่อเหตุการณ์ วิกฤต Covid-19 ทำให้เห็นความเสี่ยงใหม่เช่นนี้ เหล่าบริษัทต่าง ๆ ก็ต้องพิจารณาหาแหล่งข้อมูลทางเลือกอื่นสำหรับโซ่การผลิต ซึ่งขั้นตอนในเบื้องต้น เชื่อว่า จะเป็นการย้ายคำสั่งซื้อสินค้าไปหาผู้ขายรายใหม่ ซึ่งอาจพบความเสี่ยงใหม่ก็คือ ต้นทุนไม่ได้ถูกเท่าที่จีนทำ แต่ก็ต้องย้ายไปก่อน ในระยะกลางถึงระยะยาว จึงน่าจะเกิด Supply Chain ย่อย ๆ และ Logistic ใหม่จะถูกสร้างขึ้นมา คำถามว่า มันจะเกิดที่ตรงไหนของโลกแทนจีน สิ่งนี้เอง ที่ปธน.ทรัมป์และทีมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อให้มั่นใจว่า สหรัฐฯ จะได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

10. เมื่อดูจากผลสำรวจของหอการค้าสหภาพยุโรปในประเทศจีน ที่สำรวจเมื่อเดือนก.ย. ปีที่แล้ว ก็พบตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีผู้ประกอบการเพียงแค่ 10% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลง Supplier จากจีนไปยังที่อื่น ขณะที่ผลสำรวจเดือน ม.ค. 2020 ตัวเลขขยับขึ้นมาเป็น 16% (โดยมี 4% ที่กระจายการสั่งซื้อสินค้าไปนอกประเทศจีนแล้ว) แต่ก็ยังถือว่าน้อยอยู่ดี

11. สาเหตุที่ย้ายกันได้ไม่มากก็เพราะ ต้นทุนค่าแรง อันนี้ที่เรารู้กัน แต่อีกอย่างก็คือ กำลังการผลิต (Capacity) ซึ่งจีนมีมากมายมหาศาล การจะย้ายออกทั้งหมดและหาผู้ผลิตที่มีศักยภาพอย่างจีนในที่อื่น ๆ ในเวลาอันสั้นนั้นเป็นไปได้ยาก

12. เราจึงเห็นสหรัฐฯ พุ่งเป้าโจมตีไปที่ผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยสหรัฐฯ และจีน มีการออกกม.ห้ามมิให้ใช้ผลิตภัณฑ์ของกันและกัน ด้วยเหตุผลคือความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้จีนวางแผนที่จะล้างเทคโนโลยีที่มาจากต่างประเทศออกจากสำนักงานของรัฐภายในปี 2023 ขณะที่สหรัฐอเมริกามีการห้ามหน่วยงานของรัฐจากการซื้ออุปกรณ์จากซัพพลายเออร์จีนบางรายรวมถึง Huawei และ Hikvision ซึ่งเราเห็นผลทางอ้อมเกิดขึ้นกับอังกฤษแล้ว หลังทำผิดข้อบังคับของสหรัฐฯ แล้วจากการให้ Huawei เข้ามามีบทบาทในการเปิดตัว 5G ของประเทศ

13. เล่ามาทั้งหมดจนถึงตอนนี้ น่าจะเห็นภาพว่า Trade War ที่ปธน.ทรัมป์เริ่มต้นในปี 2018 เหมือนจะเป็นยกแรกของมวยคู่นี้เท่านั้น หากปธน.ทรัมป์อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกสมัย หรือ โจ ไบแดน ตัวแทนจาก Democrat เห็นว่า ควรสานต่อเจตนารมณ์ และดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้าง Supply Chain ห่วงโซ่ใหม่ให้เกิดขึ้น เพื่อความแข็งแกร่งกว่าเดิมละก็ Trade War ยกสอง ยกสาม ยกสี่ ก็จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่เราไม่รู้ก็คือ มันจะมาเมื่อไหร่ และซ้ำเติมบรรกาศเศรษฐกิจที่สู้กับวิกฤต Covid-19 ตอนนี้อีกแค่ไหนกันนะครับ

ตั้งพอร์ตรับศึกใหญ่ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าให้ดี ๆ ถึงอยู่ในวิกฤต เราก็มีโอกาสรออยู่ครับ

Mr.Messenger รายงาน

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/MrMessengerDiary/photos/a.192953590925/10158072955180926/