ล่าสุด ตอนนี้ คนส่วนใหญ่คิดว่า ยังไง Fed ก็น่าจะขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้นะครับ ส่วนจะเป็นเดือน ก.ย. หรือ ประชุมครั้งสุดท้ายของปีที่เดือน ธ.ค. นั้น ยังคงต้องลุ้นกันไปทุกครั้งที่ FOMC มีการประชุม แต่ลุ้นไปเรื่อยๆโดยไม่วางแผนรับมือ มันก็ดูกระไรอยู่ ดังนั้น ผมจึงขออนุญาตรวบรวม 6 คำถามที่ผมได้รับเข้ามาทั้งทาง Line และ Message ของแฟนเพจ Sinthorn ซึ่งคิดว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่ลงทุน ไม่ว่าจะอยู่ในไทยหรือในต่างประเทศ ไม่ว่าจะหุ้น หรือจะตราสารหนี้กันนะครับ ถ้าชอบ ก็แค่ขอบคุณในใจ แค่นั้นพอครับ ไม่ขออะไรมากมาย

Q1 : สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนหรือไม่?

A : ปั่นป่วน ตั้งแต่ตลาดคาดการณ์ว่าจะยกเลิก QE แล้วครับ และยังคงปั่นป่วน ตอนที่ตลาดรู้แน่ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่รู้ว่าจะขึ้นเมื่อไหร่ และปั่นป่วนต่อไป เพราะไม่รู้ว่า ขึ้นแล้วจะขึ้นได้เยอะไหม เร็วแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ ประธานเฟดเปิดกว้างมาตลอด ให้ตลาดเดากันไปเองหมด ดูแบบนี้ เสี่ยงใช่มั้ย? แต่เจเนต เยลเลน ส่งสัญญาณไว้อย่างหนึ่งครับ เขาบอกว่า จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเด็ดขาด หากไม่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นจริงๆ ซึ่งมันก็เหมือนสัญญากับนักลงทุนว่า จะดูแลตลาดหุ้นเป็นอย่างดีนั้นละ ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยคงทำให้ตลาดหุ้นผันผวนเป็นเรื่องปกติ แต่ Key Message ของป้าเยลเลน จะแปลว่า ปรับฐานลงมา ก็ซื้อซะ เพราะเฟดจะช่วยดูแลตลาดหุ้นให้ท่านเอง 🙂

เอางี้ ไปดูการคาดการณ์ดัชนี S&P500 และ EPS ตลาด รวมทั้ง ตัว US Treasury Yield ของสหรัฐฯ ที่ทำโดย Goldman Sachs ออกเมื่อต้นสัปดาห์นะครับ จะเห็นว่า เค้าก็ยังมองว่า ตลาดหุ้นอเมริกายังมี Upside ในระยะยาว แต่สังเกตเห็นไหมครับ เป้า S&P500 ปี 2015 ให้ไว้ที่ 2100 จุด ขณะนี้ที่ผมเขียนบทความอยู่ (เที่ยงคืนครึ่ง – -“) S&P 500 เทรดเกินเป้าที่ GS มองไว้เรียบร้อย แปลว่า เค้าคิดเหมือนผม หรือผมคิดเหมือนเค้าก็ไม่รู้ ว่า ตลาดครึ่งปีหลังก่อนขึ้นดอกเบี้ย น่าจะยังผันผวนอยู่ แต่ระยะยาว ไปต่อได้นะ เชื่อเถอะ!!

Market Trend

 

Q2 : ในอดีตที่ผ่านมา พอสหรัฐฯเข้าสู่วัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ย สถิติย้อนหลัง บอกอะไรเราบ้าง?

A : กว่าที่ผมจะไปหาคำตอบนี้เจอ รู้ไหมว่ามันยากแค่ไหน!! แต่เพราะตัวเองอยากรู้ด้วย ก็เลยค้นพบคำตอบ และอยากชี้ทางสว่างให้คนอื่นด้วย ดูกราฟนี้ครับ ผมเอามาจาก LPL Research ซึ่งเป็นโบรกเกอร์อยู่ใน Boston

Rate Hike

แต่ละเส้นก็คือ การเคลื่อนไหวของดัชนี S&P500 โดยให้วันที่ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของแต่ละรอบเศรษฐกิจเป็นฐาน จะพบว่าสิ่งยืนยันที่ผมจินตนาการตอบคุณในข้อ 1 ว่า ก่อนขึ้นดอกเบี้ย ตลาดจะผันผวน จากกราฟก็ผันผวนมันทุกรอบจริงๆ

ในกราฟ ตัวเส้นค่าเฉลี่ยคือ การขึ้นดอกเบี้ย 9 ครั้ง นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นะครับ ที่น่าสนใจคือ 3 ครั้งหลังที่ขึ้นดอกเบี้ย ก็คือปี 1983, 1994 และปี 2004 จะพบว่า ผ่านไป 3-4 เดือนหลังจากขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก S&P500 ให้ผลตอบแทนเป็นบวก และถ้ายืดระยะเวลาออกไปเป็น 6 เดือนหลังจากขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก จะพบว่า 7 ใน 9 ครั้งที่ขึ้นดอกเบี้ย ให้ผลตอบแทนเป็นบวก โดยให้ผลตอบแทเฉลี่ยอยู่ที่ 4.2% ส่วนอีก 2 ครั้งที่ขาดทุน เพราะดอกเบี้ยขึ้นแรงและเร็วเกินไปครับ ตลาดปรับตัวไม่ทัน

ครั้งนี้ เชื่อว่า เฟดจะค่อยๆขึ้นอย่างระมัดระวัง ดังนั้น ความผันผวนรุนแรงไม่น่าจะเกิดขึ้น

Q3 : หุ้นไทยละคับเฮีย จะรอดไหม ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย?

A : ในมุมมองของผมนะ ประเทศไทย มีประเด็นอื่นให้กังวลว่าตลาดหุ้นจะขึ้นได้ยากอยู่หลายประเด็น ไม่ใช่แค่เรื่องเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยหรอก

เรื่องแรกก็คือ Growth Engine หรือ เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทบจะหยุดชะงักทุกตัว ส่งออกที่หวังว่าจะขี่ม้าขาวมาช่วย ต้นปีบอกน่าจะมี Growth อ่อนๆ มาวันนี้ แต่ไม่ติดลบ ก็ถือว่าเกินเป้าแล้ว

เรื่องที่สอง แต่ก็ยังดีที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจดีกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ดังนั้นสมาคมนักวิเคราะห์ก็ยังหวังว่าจะเห็น EPS Growth ในตลาดหุ้นไทยในระดับ 10% ขึ้นได้ แต่คำถามก็คือ มันพอไหม หรือมันมีความเสี่ยงจะโดนปรับลงมาอีก? แล้วตลาดหุ้นไทย ถือว่า Valuation เป็นยังไงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน งั้นดูตารางนี้GS

จาก Bloomberg Consensus ที่ Forward P/E 14x EPS Growth 13% และ Dividend Yield 3.4% ถือว่าเราแพงกว่าตลาดเล็กน้อย แต่ปันผลถือว่าแจ่มเลย การที่ Valuation อยู่ตรงกลางเมื่อเทียบกับตลาดอื่นแบบนี้ จะหวังให้เค้าทำ Rotation ขายตลาดอื่นมาใส่ในบ้านเราเยอะๆคงเป็นได้ยากหากไม่เห็นพัฒนาการในด้านการลงทุนและการเมืองที่ฝรั่งเค้าหวังนะครับ ดังนั้น ผมคิดว่า ขึ้นยาก แต่ลงก็ยาก เพราะหุ้นไทย หลายๆตัวยังปันผลหล่อกว่าตลาดหุ้นที่อื่น

เรื่องที่สาม ตอนปี 2004 ที่สหรัฐฯเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกหลังวิกฤต dotcom ปี 2000 นั้น ตลาดหุ้นไทยขึ้นได้ก็จริง แต่ผันผวนเสียเหลือเกิน ผมจะได้ว่าช่วงนั้น เหล่า daytrade ตายกันเป็นแถว โดนลากขึ้นลากลงสนุกมือ สาเหตุเป็นเพราะ ช่วงนั้นถึงเศรษฐกิจดี เงินไหลเข้าไทยเยอะ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจาก 45 บาท ในปี 2001 มา 37 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2005 แล้วก็ตามมาด้วยอุ๊ย 100 จุด ตามกราฟด้านล่างที่ท่านเห็น จาก 700 มา 600 จุด ภายในวันเดียว #หลอนมว๊ากกก

SET Rate Hike

Q4 : แล้วตลาดตราสารหนี้ละ จะพังไหม?

A : กลายเป็นเรื่องที่นักลงทุนเสี่ยงต่ำต้องหลอนกันแทน เพราะการที่ US Treasury ซึ่งถือว่าเป็น Risk Free Rate ของโลก ปรับตัวขึ้น จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ทั้งโลกปรับตัวขึ้นตามไปด้วยแน่นอน ตามทฤษฎีไม้กระดก ที่ว่า ราคาตราสารหนี้ แปรผกผันกับ อัตราผลตอบแทน ( ไปอ่านเรื่องนี้ได้ที่บทความเก่าของผม http://www.iammrmessenger.com/?p=1379 ) ดังนั้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น หลายๆคนเลยบอกว่า ควรหลีกเลี่ยงการถือตราสารหนี้ซะ ไม่งั้นจะขาดทุนจากการ Mark to Market

yield_v_price

แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งเดินไปธนาคารแห่ขายกองทุนตราสารหนี้ แล้วไปบอกผู้การสาขาว่า Mr.Messenger ให้ขายหนีนะครับ อ่านต่อก่อน

ตารางด้านล่าง Morgan Stanley เขาไปศึกษา ส่วนผมไปขโมยมา ฮ่าๆๆๆๆ

MS

ผลการศึกษาของ MS เขาสรุปว่า กรณีที่ Fed ไม่เป็นมิตรกับนักลงทุนในตราสารหนี้ รีบขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ จะทำให้กการลงทุนใน US Treasury และตราสารหนี้ที่ระดับ Investment Grade ขาดทุนเกือบหมด แต่เป็นขาดทุนไม่เยอะ เพราะเค้าเชื่อว่า Fed จะกล้าทำแบบนี้ ก็ต่อเมื่อ เศรษฐกิจมันดีจริงๆ ซึ่งถ้าเศรษฐกิจดีจริง Credit Rating ของประเทศ และฐานะการเงินบริษัทน่าจะดีขึ้น ได้ผลบวกพอหักล้างขาดทุนจากการ Mark to Market ได้บ้าง

เห็น Long-Duration High Yield และ Short-Duration High Yield ไหมครับ?

ไม่ว่าผลลัพทธ์ออกมาทางไหน MS บอกว่า ยังมี Upside ให้ลงทุน สาเหตุเป็นเพราะ Spread ของพวก High Yield Bond หรือ พวก Junk Bond พวกนี้ เทียบกับ US Treasury มันสูงไป การขึ้นดอกเบี้ยได้ จะทำให้การลงทุนใน High Yield ได้ผลบวกจาก Spread ที่แคบลง บวกกับ อัตราผลตอบแทนที่จ่ายอยู่สูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป ทำให้ใครที่ถือ Asset Class นี่ ยังสามารถถือลุ้นต่อไปได้ครับ

แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ยังแนะนำให้มีตราสารหนี้ภาครัฐในพอร์ต สำหรับนักลงทุนที่จัด Allocation อย่างเหมาะสมกับความเสี่ยงของตัวเองแล้วครับ ถ้าถามว่าทำไม ก็เพราะ ถึงแม้ Fed บอกจะดูแลอย่างดี ไม่ให้มีความผันผวนในตลาดหุ้นก็ตาม แต่ตลาดหุ้นมันไม่ได้วิ่งขึ้นลงแค่ลมปากประธานเฟดอย่างเดียวซะที่ไหน

ไหนจะความเสี่ยงการก่อสงคราม การรุกรานกันระหว่างประเทศ ไหนจะโรคระบาดอย่าง MERS ที่เพิ่งเจอ ไหนจะความผันผวนในตลาด Commodities รวมถึงการสู้กันของผู้ผลิตน้ำมัน รวมถึงความเสี่ยงที่เงินเฟ้อโลกอาจมาเร็วกว่าที่กำหนด

ความเสี่ยงเหล่านี้ การมีตราสารหนี้ในพอร์ต จะทำให้เราอยู่รอด ลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเต็มที่ ไม่ใช่กางพอร์ตมาที หน้าเครียดไป 3 วัน

จบข่าว Mr.Messenger รายงาน